คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่หรือไม่?
คนในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 200,000 คนต่อปี ต้องนอนโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) โดยอัตราการนอนโรงพยาบาลสูงที่สุดในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 85 ปี แต่มีผู้ป่วยหลายกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
- ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
- คนท้อง
- ชาวอินเดียแดงพื้นเมืองอเมริกาและชาวพื้นเมืองอลาสกา
- ผู้ที่มีโรคปอดอยู่เดิม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือหอบหืด
ดังนั้นแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีในผู้ป่วยกลุ่มนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่
ภาวะแทรกซ้อนทั่วไป
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
- ภาวะขาดน้ำ
- หลอดลมอักเสบ
- หูติดเชื้อ (พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่)
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- กล้ามเนื้ออักเสบ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ปอดอักเสบจากไวรัส (เกิดจากตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เอง) หรือจากแบคทีเรีย
- ไซนัสอักเสบ (พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่)
- โรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมแย่ลง เช่น หอบหืด เบาหวาน หรือหัวใจล้มเหลว
ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
ปอดอักเสบติดเชื้อเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่เป็นหนึ่งในภาวะที่ทำให้เสียชีวิตได้ ตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เองทำให้เกิดปอดอักเสบโดยมีอาการหายใจไม่อิ่ม หนาวสั่น ไข้ เจ็บหน้าอก เหงื่อแตก ไอมีเสมหะเขียวหรือมีเลือดปน ชีพจรเร็ว ปากหรือเล็บคล้ำ
กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ได้แก่
- คนท้องที่อายุครรภ์ 6-9 เดือน
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในบ้านพักผู้ป่วย
- ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม เชื้อไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์จะมีอาการรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมากกว่า ในปี ค.ศ. 1918-1919 มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีวัยรุ่นเสียชีวิตจากปอดอักเสบหลายรายซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่
ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรียหลายชนิดทำให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ บางครั้งเกิดปอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียหลังจากอาการไข้หวัดใหญ่ดีขึ้นแล้ว โดยปอดอักเสบจากแบคทีเรียจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะเขียว หายใจไม่อิ่ม และเจ็บหน้าอกได้ ซึ่งหากมีอาการของปอดอักเสบเหล่านี้ควรไปพบแพทย์
กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เป็นภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่หรือจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรเป็นโรคปลายประสาทอักเสบแบบหนึ่ง เชื่อว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันต้านตนเอง โดยอาการเด่นของกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร คือ อาการอ่อนแรงซึ่งมักเริ่มจากขาทั้งสองข้างแล้วลามขึ้นมาที่ลำตัวและแขนสองข้างโดยอาการสามารถรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เส้นประสาทจะถูกทำลายและหยุดใน 8 สัปดาห์ โดยคนส่วนใหญ่จะดีขึ้นแต่บางคนจะมีอาการอ่อนแรงหลงเหลืออยู่
เรย์ซินโดรม
เรย์ซินโดรมเป็นภาวะที่พบได้น้อยโดยเกิดในเด็กหรือวัยรุ่นที่กินยาแอสไพรินขณะที่ป่วยจากเชื้อไวรัสเช่นไข้หวัดใหญ่ เรย์ซินโดรมทำให้สมองบวมและอักเสบและตับถูกทำลายโดยมีอาการ คือ อาเจียนรุนแรง ซึม หงุดหงิด หรือกระสับกระส่าย ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีอาการท้องเสียและหายใจเร็ว ซึ่งเป็นอาการแรกของเรย์ซินโดรม ความรุนแรงของเรย์ซินโดรมมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง แต่ทุกรายที่สงสัยเรย์ซินโดรมถือเป็นภาวะฉุกเฉิน
เมื่อไหร่ที่ต้องพบแพทย์
เว็บไซต์ของหน่วมงานด้านไข้หวัดใหญ่โดยกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ (Department of Health & Human Services) ของอเมริกา ระบุว่า เมื่อคุณหรือคนในบ้านมีอาการดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์ทันที
- หายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่ม
- ปากม่วงหรือคล้ำ
- ปวดหรือแน่นหน้าอกหรือท้อง
- ไข้สูง (สูงกว่า 102.2 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 39 องศาเซลเซียส)
- เวียนศีรษะฉับพลัน
- มึนงง
- อาเจียนรุนแรงหรืออาเจียนไม่หยุด
- ชัก
- อาการของไข้หวัดใหญ่ที่ดีขึ้นแล้วแต่กลับมาอีกด้วยไข้และไอมากขึ้น