3 กลุ่มโรคผิวหนังที่พบบ่อย และวิธีดูแลเบื้องต้นเพื่อไม่ให้โรคลุกลาม

โรคผิวหนังที่พบบ่อยในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยมีหลายโรค เกิดได้ตั้งแต่ที่ใบหน้า ศีรษะ และตามอื่นๆ ของร่างกาย HD ขอพามารู้จักอาการสำคัญและวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
3 กลุ่มโรคผิวหนังที่พบบ่อย และวิธีดูแลเบื้องต้นเพื่อไม่ให้โรคลุกลาม

โรคผิวหนังในแต่ละทวีปทั่วโลกมีความแตกต่างกันไป ตามสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนในแถบนั้น

ในประเทศไทยของเราซึ่งเป็นประเทศเมืองร้อน ก็มีโรคผิวหนังที่พบบ่อยแตกต่างจากในต่างประเทศ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ดังนั้นเมื่อเป็นโรคผิวหนัง คุณควรเข้าตรวจรับการรักษาแนะนำจากแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

บทความนี้จะพามารู้จักโรคผิวหนังที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โรคผิวหนังกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กลุ่มโรคผิวหนังที่มาจากการติดเชื้อ กลุ่มโรคผิวหนังจากแสงแดด และกลุ่มโรคเกี่ยวกับผมและหนังศีรษะ

1. กลุ่มโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

โรคผิวหนังในกลุ่มนี้ ได้แก่

ผื่นผิวหนังอักเสบ

ผื่นผิวหนังอักเสบคือ การอักเสบแดงคันของผิวหนังที่เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมักมีอาการเป็นผื่นคัน ขุย แดง อักเสบ หรือมีน้ำเหลืองแฉะได้ ขึ้นกับระยะที่เป็น

ผื่นผิวหนังอักเสบมีสาเหตุคือการกระตุ้นจากปัจจัยภายในหรือภายนอกก็ได้

ตัวอย่างโรคผิวหนังในกลุ่มนี้ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • โรคผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) ซึ่งพบบ่อยในเด็ก
  • ผื่นแพ้จากต่อมไขมันหรือเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
  • ผื่นแพ้ส้มผัส (Contact dermatitis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการอักเสบของผิวหนังหลังสัมผัสกับสารบางอย่างหากได้รับการดูแลไม่เหมาะสมก็อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้

การรักษาโรคผิวหนังกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ แนวทางปฏิบัติตัวอย่างกว้างๆ ได้แก่ เลี่ยงการสัมผัสสารที่เป็นสาเหตุ การบำรุงผิว การทายาลดการอักเสบตามแพทย์สั่ง

ลมพิษ

ลมพิษมีลักษณะเป็นผื่นแดงคัน บวม หรือเป็นปื้น ขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย

ผื่นมักอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และหายไปแบบไม่ทิ้งร่องรอย นอกจากนี้บางรายยังอาจมีปากบวมตาบวมร่วมด้วยได้ (Angioedema)

ลมพิษอาจเป็นขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน หรือบางรายอาจเรื้อรัง (เป็นนานเกิน 6 สัปดาห์) ซึ่งสาเหตุจะแตกต่างกันไป แต่อาจเป็นโดยไม่ทราบสาเหตุได้บ่อย

นอกจากนี้ลมพิษอาจเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา แมลงสัตว์กัดต่อย เจ็บป่วยติดเชื้อบางอย่าง

ส่วนลมพิษเรื้อรังก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่อาจต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติมร่วมด้วยตามแต่แพทย์พิจารณา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากนี้ลมพิษยังอาจเกิดจากปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ เช่น การเสียดสี แรงกดทับ การออกกำลังกาย ความร้อน ความเย็น ซึ่งจะมีวิธีการทดสอบเพื่อพิสูจน์ที่แตกต่างกันไป

อาจต้องมีการตรวจทดสอบหาสาเหตุลมพิษโดยการสะกิดผิวหรือตรวจเลือดเพิ่มเติมได้

การรักษาโรคผิวหนังชนิดนี้เริ่มต้นจากใช้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานเป็นหลัก แต่ควรปรับโดยแพทย์ และหากมีอาการปากบวมตาบวมร่วมด้วยควรรีบไปรับการรักษา เพราะบางครั้งอาจมีอาการบวมบริเวณทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากและเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรักษาอย่างเร็วที่สุด

2. กลุ่มโรคผิวหนังที่มาจากการติดเชื้อ

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้อาจมีผลในเรื่องของความชุกในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อได้มากกว่าในต่างประเทศ รวมทั้งโรคติดเชื้อที่ผิวหนังด้วย เช่น

เริม

เริม เป็นโรคผิวหนังจากไวรัสที่สามารถเกิดได้ตามที่ใดๆ ในร่างกาย แต่ที่พบบ่อยคือที่บริเวณริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ

ลักษณะจะเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบนพื้นสีแดง อยู่เป็นกลุ่มๆ อาจมีอาการเจ็บแสบ

สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ และจะติดกันง่ายขึ้นหรือแสดงอาการได้บ่อยขึ้นหากมีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เครียด พักผ่อนน้อย หรือมีอาการเจ็บป่วยทางกายอื่นๆ

การรักษาโรคผิวหนัง เริ่ม จะใช้ยาชนิดรับประทานเป็นหลัก โดยขนาดและระยะเวลาอาจแตกต่างกันไป

งูสวัด

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอีสุกอีใส ซึ่งแฝงตัวในเส้นประสาท และอาจทำให้เกิดงูสวัดในเวลาต่อมาโดยเฉพาะเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง

สามารถติดต่อกันทางการสัมผัส หรือแม้แต่ทางลมหายใจ ผื่นงูสวัดมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบนพื้นสีแดง อยู่เป็นกลุ่มๆ มักอยู่ตามแนวเส้นประสาทของร่างกาย

ผู้เป็นโรคผิวหนัง งูสวัด จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน โดยอาการปวดนี้สามารถอยู่ได้นาน ในบางรายแม้ผื่นจะหายไปแล้วก็ยังคงปวดอยู่

การเกิดงูสวัดที่ใบหน้าหรือศีรษะในบางรายอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตาหรือหูได้

การรักษางูสวัดจะใช้ยาชนิดรับประทาน และการดูแลแผลที่ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคงูสวัดด้วย

หูด

เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นตุ่มหนาตัวขึ้น ไม่มีอาการ แต่ลามมากขึ้นได้

สามารถเกิดที่ผิวหนังบริเวณใดของร่างกายก็ได้ หรือที่ที่พบบ่อย เช่น บริเวณมือกับเท้า นอกจากนี้ยังเกิดที่บริเวณอวัยวะเพศได้ด้วย

จะติดได้ง่ายบนผิวหนังที่มีแผลหรือผิวที่บอบบาง โดยโอกาสในการติดเชื้อจะขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ควรรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หูดโตขึ้นหรือลามมากขึ้น ซึ่งการรักษามีหลากหลายวิธี ขึ้นกับลักษณะและบริเวณที่เป็น

ไม่ควรพยายามกำจัดหูดเอง เพราะบางครั้งอาจยิ่งทำให้ลามขึ้นได้ คนไข้ควรตัดเล็บให้สั้นและไม่แกะหูด เพราะอาจลามไปติดที่อื่น

กลาก

กลากเป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณต่างๆ ในร่างกาย เส้นผม หรือเล็บ การติดเชื้อกลากในแต่ละบริเวณของผิวหนังอาจมีชื่อเรียกภาษาไทยที่แตกต่างกันไป เช่น

  • การติดเชื้อกลากในร่มผ้ามัก เรียกว่า สังคัง
  • การติดเชื้อกลากที่ฝ่าเท้าหรือตามง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต
  • โรคกลากที่หนังสีรษะในเด็กที่มีอาการอักเสบรุนแรงหรือฝีหนอง มักเรียกว่า ชันนะตุ

ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง กลาก อาจติดเชื้อมาจากการคลุกคลีกับสัตว์หรือการย่ำดิน

อาการของกลากอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบริเวณ เช่น กลากที่ผิวหนังมักมีลักษณะแดงเป็นวงนูน ขอบเขตชัดเจน มีขุย หากเป็นกลากบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้ามักมีอาการเพียงขุยๆ หรือบางรายอาจมีตุ่มน้ำ

หากเป็นกลากที่เล็บ จะทำให้เล็บหนาหรือมีสีผิดปกติได้

การรักษาโรคผิวหนัง กลาก ควรขูดส่งตรวจเชื้อสาเหตุก่อนแล้วจึงเริ่มรักษา โดยแต่ละบริเวณใช้ยาฆ่าเชื้อราต่างชนิดกัน โดยแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย โดยทั่วไปการรักษาเชื้อราที่เล็บจะใช้เวลาค่อนข้างนาน

เกลื้อน

ความจริงแล้ว เชื้อเกลื้อนเป็นเชื้อที่มีอยู่บนผิวหนังตามปกติของคนเรา แต่จะก่อโรคเป็นเกลื้อนเมื่อมีสภาพแวดล้อมบางอย่าง เช่น ความมันและความอับชื้น จึงมักเกิดบริเวณผิวที่มีความมัน เช่น แผ่นหลัง อก คอ แขนท่อนบน

อาจมีผื่นเป็นวงๆ หรือรวมเป็นปื้น มีขุยเล็กๆ มีสีต่างๆ ได้หลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีน้ำตาล สีแดง

การดูแลตนเองเบื้องต้นคือการใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่อับชื้น

ก่อนเริ่มรักษามักต้องขูดตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนว่าพบเชื้อเกลื้อนจริง การรักษามักใช้ยาฆ่าเชื้อรา โดยมักเริ่มด้วยยาชนิดทาหรือฟอก

ยาบางตัวอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวได้หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง จึงควรพบแพทย์ก่อนรักษา

สิว

การเกิดสิวมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Cutibacterium acnes (ชื่อเดิม Propionibacterium acnes) แต่จริงๆ ยังมีอีก 3 ปัจจัยที่ทำให้เป็นสิวได้เช่นกัน ได้แก่

  1. ต่อมใต้ผิวหนังผลิตความมันมากเกินไป
  2. รูขุมขนมีการสร้างเคอราตินมาปกคลุมที่มากเกินไป
  3. ปฏิกิริยาการอักเสบ

สิว มีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่เป็นสิวอุดตันหัวปิดหรือหัวเปิด สิวอักเสบ สิวหัวช้าง

หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดรอยดำหรือหลุมสิว ซึ่งอาจรักษายาก ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาสิวตั้งแต่เนิ่นๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรซื้อยาใช้เอง เนื่องจากยารักษาสิวโดยส่วนใหญ่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือดื้อยาได้หากใช้ไม่ถูกวิธี และอาจต้องมีการติดตามการรักษากันระยะหนึ่ง

เบื้องต้นคนไข้ไม่ควรแกะสิวหรือบีบสิว รวมถึงไม่ควรล้างหน้าบ่อยๆ หรือขัดถูใบหน้า

3. กลุ่มโรคผิวหนังจากแสงแดด

เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนที่มีแสงแดดค่อนข้างมาก ปัญหาจุดด่างดำต่างๆ และปัญหาผิวที่เกิดจากแสงแดด ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มปัญหาที่พบบ่อย เช่น ฝ้า กระ และกระเนื้อ

การรักษาควรได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่มักมีหลายปัญหาร่วมกัน แล้วแพทย์จึงจะกำหนดแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นอาจทำให้บางปัญหายิ่งแย่ลงได้

การดูแลตนเองเบื้องต้นคือการหลีกเลี่ยงแสงแดด ใช้ครีมกันแดด SPF สูงอย่างถูกวิธี

โดยทั่วไปแนะนำให้ทาครีมกันแดดที่เป็นเนื้อครีมในปริมาณเท่ากับเหรียญสิบบาท 1 เหรียญต่อใบหน้า หรือหากเป็นเนื้อโลชันให้ทาปริมาณเท่ากับเหรียญสิบบาท 2 เหรียญต่อใบหน้า

และควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากออกแดดซ้ำ เพื่อป้องกันปัญหาผิวที่เกิดจากแสงแดด

3. กลุ่มโรคเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะ

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณเส้นผมและหนังศีรษะ เป็นส่วนหนึ่งของโรคผิวหนังเช่นกัน ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

รังแค

ปัญหารังแคนับรวมตั้งแต่มีผื่นผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ มีอาการหลุดลอกของหนังศีรษะเป็นขุย หรือรังแคอาจมีอาการคัน แดง

การดูแลเบื้องต้นคือการใช้แชมพูที่อ่อนโยน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ และอาจต้องใช้ยาทาลดการอักเสบตามแพทย์สั่งร่วมด้วย

ผมร่วง

เรื่องผมร่วงนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ

ที่พบบ่อยที่สุดมักมาจากกรรมพันธุ์ ร่วมกับอาจมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ (Androgenetic alopecia) ซึ่งควรรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ผมยิ่งบางลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

โดยทั่วไปมักเริ่มการรักษาด้วยยา โดยยาที่ใช้มีตั้งแต่ยาทาบางชนิด และยาชนิดรับประทานในคนไข้เพศชายเนื่องจากเป็นยาที่ลดฮอร์โมนเพศชายที่มีผลต่อโรคผมบาง ซึ่งการรักษาดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์

สำหรับการบำรุงผมโดยทั่วไปที่ไม่ใช่การรักษามาตรฐาน มักไม่สามารถทำให้ผมกลับมาหนาดังเดิมได้ และอาจทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าและผมยิ่งบางลง จึงแนะนำปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ตัวอย่างโรคผิวหนังในกลุ่มต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว แพทย์ผิวหนังเฉพาะทางยังทำการดูแลรักษาผื่นผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศชาย และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในผู้ชายอีกด้วย

ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อย เช่น ซิฟิลิส เริม หนองใน เชื้อรา ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณนี้ซึ่งเป็นบริเวณที่ผิวหนังบอบบาง แต่คนไข้มักไม่กล้ามารักษา

แนะนำว่าควรรีบรักษาและติดตามกับแพทย์เพื่อลดโอกาสภาวะแทรกซ้อนและอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sewon Kang, Masayuki Amagai, Anna L. Bruckner, Alexander H. Enk, David J. Margolis, Amy J. McMichael, Jeffrey S. Orringer, Fitzpatrick's Dermatology, 9th edition, McGraw-Hill Education, 2019.
Stephanie S. Gardner, MD Hives and Your Skin in (https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/hives-urticaria-angioedema#3), 12 October 2017.
Mayo Clinic Staff, Mayo Clinic, Hair loss in (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hair-loss/symptoms-causes/syc-20372926), 12 February 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)