รวมทุกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจัดฟัน พร้อมวิธีรับมือ

"อาการ หรือภาวะต่างๆ ของสุขภาพในช่องปากที่อาจเกิดขึ้นได้จากการจัดฟัน พร้อมวิธีป้องกันและรักษา "
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รวมทุกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจัดฟัน พร้อมวิธีรับมือ

สุขภาพช่องปากที่ดีไม่ใช่แค่การมีฟันเรียงตัวที่สวยงาม แต่ยังต้องรวมถึงความสะอาด ไม่มีฟันผุ เหงือกอักเสบ หินปูน และกลิ่นปาก

ในผู้ที่จัดฟัน การทำความสะอาดฟันขณะที่มีเครื่องมือจัดฟันติดอยู่นั้นทำได้ยากกว่าปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
จัดฟันใสกับ Like Dental Clinic ตอนนี้ ราคาดีที่สุดในเว็บ!

ประเมินฟรี มีของแถม / หมอผ่านการจัดฟันมาแล้วกว่า 150 เคส / ผ่อนได้ 0%

นอกจากจะทำให้คนไข้รู้สึกปากไม่สะอาดและไม่สวยงามแล้ว หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

เช่น ทำให้ต้องจัดฟันนานกว่าปกติ หรือเป็นโรคเหงือก ซึ่งอาจทำให้ทันตแพทย์จัดฟันพิจารณาถอดเครื่องมือจัดฟันออกก่อนที่จะจัดเสร็จ ทั้งนี้เพื่อรักษาโรคเหงือกก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น

อาการหรือภาวะต่างๆ ของสุขภาพในช่องปากที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะจัดฟัน

เนื่องจากมีอุปกรณ์จัดฟันขัดขวางอยู่ ดังนั้นผู้จัดฟันจึงมักมีปัญหาเรื่องความสะอาด นำมาสู่อาการและภาวะต่างๆ ได้ แต่ทุกภาวะสามารถป้องกันและรักษา ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. การสูญเสียแร่ธาตุของผิวเคลือบฟัน (Demineralization)

เมื่อมีคราบอาหารหรือน้ำตาลติดค้างอยู่บนผิวฟัน แบคทีเรียก่อฟันผุจะย่อยน้ำตาล เกิดเป็นกรดกัดผิวเคลือบฟัน เกิดการสูญเสียแคลเซียมและฟอสเฟตออกจากผิวฟัน

ในระยะแรกของการสูญเสียแร่ธาตุ ผิวฟันจะเห็นเป็นสีขาวขุ่น เมื่อเป็นมากขึ้นจึงเกิดเป็นรู

นั่นคือกลไกการเกิดฟันผุนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
จัดฟันใสกับ Like Dental Clinic ตอนนี้ ราคาดีที่สุดในเว็บ!

ประเมินฟรี มีของแถม / หมอผ่านการจัดฟันมาแล้วกว่า 150 เคส / ผ่อนได้ 0%

รอยสีขาวขุ่นนี้มักเกิดรอบๆ แบรกเก็ตโลหะที่ยึดกับฟัน (Bracket) เนื่องจากเป็นส่วนที่เศษอาหารมักติดค้าง และคนไข้มักแปรงฟันทำความสะอาดส่วนนี้ไม่เพียงพอ

ดังนั้น คนไข้จัดฟันควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ ใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง และงดน้ำอัดลมซึ่งทำให้เกิดสภาวะกรดในช่องปาก

2. เหงือกอักเสบ (เหงือกบวม)

เหงือกอักเสบ คือ การที่ขอบเหงือกรอบๆ ฟันมีการอักเสบ บวม แดง กดเจ็บ และเลือดออกง่าย

เกิดจากการสะสมของคราบแบคทีเรียและหินปูน หรือคนไข้ทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ

เหงือกอักเสบนั้นเป็นโรคที่หายได้ แต่ไม่ควรละเลย เนื่องจากเหงือกอักเสบเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นโรคปริทันต์อักเสบในอนาคต

คนไข้ควรแปรงฟันให้สะอาด ไม่ให้มีคราบแบคทีเรียหรือขี้ฟันหลงเหลือ ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน และขูดหินปูนทุก 6 เดือน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
จัดฟันใสกับ Like Dental Clinic ตอนนี้ ราคาดีที่สุดในเว็บ!

ประเมินฟรี มีของแถม / หมอผ่านการจัดฟันมาแล้วกว่า 150 เคส / ผ่อนได้ 0%

3. ฟันโยก

ขณะจัดฟันอาจมีฟันโยกได้เล็กน้อยจากการเคลื่อนฟัน

อย่าลืมแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทุกครั้งเพื่อตรวจหาความผิดปกติ เพราะการโยกของฟันที่มากกว่าปกติอาจมีสาเหตุจากโรคเหงือกซึ่งมีการละลายของกระดูกรอบๆ ฟัน

4. เสียวฟัน

อาการเสียวฟันเกิดจากฟันสึกหรือเหงือกร่น ทำให้รากฟันบริเวณคอฟันสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น ความร้อน ความเย็น

คนไข้จัดฟันสามารถมีการเสียวฟันได้มากกว่าปกติ เนื่องจากการทำความสะอาดเป็นไปได้ยาก นำไปสู่เหงือกอักเสบและเหงือกร่นได้

อีกสาเหตุของการเสียวฟันคือ ฟันผุลึก

บางครั้งคนไข้อาจมองไม่เห็นรอยผุเนื่องจากอาจผุที่บริเวณซอกฟัน

ดังนั้น หากมีอาการเสียวฟัน ควรแจ้งให้ทันตแพทย์จัดฟันทราบเพื่อตรวจหาสาเหตุ หากมีฟันผุจะได้รักษาด้วยการอุดฟัน

ทั้งนี้ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ดีทุกวันเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้

5. คราบแบคทีเรีย

คราบแบคทีเรียคือ แผ่นคราบเหนียว สีขาว-เหลือง ที่เกาะอยู่บนผิวฟัน ประกอบด้วย คราบอาหาร แบคทีเรีย และกรดที่แบคทีเรียสร้างขึ้นจากการย่อยน้ำตาล

สามารถก่อให้เกิดปัญหาในช่องปาก ทั้งฟันผุ เหงือกอักเสบ หินปูน และ กลิ่นปาก โดยเฉพาะบริเวณขอบรอบๆ แบรกเก็ตหรือโลหะยึดฟัน

วิธีป้องกันคือต้องแปรงและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดให้ดี

6. หินปูน

หินปูน คือคราบแบคทีเรียที่เกาะติดฟันอยู่เป็นเวลานาน ไม่ได้รับการแปรงหรือใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาด

จนกระทั่งแข็งขึ้นกลายเป็นหินปูน และอาจมีการตกตะกอนของแร่ธาตุต่างๆ เข้าไป ทำให้มีสีเข้ม

เมื่อคราบแบคทีเรียแข็งจนกลายเป็นหินปูนแล้ว คนไข้จะไม่สามารถแปรงหรือกำจัดหินปูนออกเองได้

ผู้ที่จัดฟันต้องแปรงฟันและใช้ไหมจัดฟันให้ดีทุกวัน และควรให้ทันตแพทย์ขูดหินปูนให้อย่างสม่ำเสมอ ทุก 6 เดือน เป็นต้น

7. กลิ่นปาก

กลิ่นปากอาจเกิดได้จากสาเหตุ เช่น สุขภาพช่องปากที่ไม่สะอาด โรคประจำตัว สูบบุหรี่ หรือการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น หัวหอม กระเทียม

ปัญหากลิ่นปากของคนไข้จัดฟันมักเกิดจากสุขภาพช่องปากที่ไม่สะอาดเพียงพอ จนเกิดเศษอาหารและคราบแบคทีเรียที่สะสมในช่องปาก ทำให้เกิดกลิ่นในที่สุดนั่นเอง

เครื่องมือจัดฟันมีช่องและซอกหลืบมากมาย คนไข้จึงควรตระหนักในการทำความสะอาดให้ดียิ่งขึ้น เช่น ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ และใช้ไหมขัดฟันที่ออกแบบมาเพื่อคนไข้จัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

อย่าลืมแปรงลิ้นเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย อาจใช้น้ำยาบ้วนปากช่วยเสริมได้ แต่ไม่ควรละเลยการแปรงฟันและไหมขัดฟันโดยเด็ดขาด

จัดฟันแบบใส ดูแลง่ายกว่าจัดฟันแบบลวดใช่หรือไม่?

อุปกรณ์จัดฟันแบบใสทำความสะอาดง่ายกว่าการจัดฟันแบบติดเหล็กก็จริง แต่อย่างไรก็ต้องการการทำความสะอาดที่เพียงพอเช่นกัน

มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากต่างๆ ตามมาได้ในที่สุด

ปัญหาอื่นๆ ที่คนไข้มักพบในระหว่างจัดฟัน

นอกจากเรื่องอาการและภาวะ ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ผู้จัดฟันมักพบได้ ได้แก่

1. จัดฟันแล้วพูดไม่ชัด หรือน้ำลายหก

ในระยะแรกที่เริ่มติดเครื่องมือจัดฟันไป คนไข้ส่วนมากพบปัญหาการพูดไม่ชัด บางคนถึงขั้นน้ำลายหกโดยไม่รู้สึกตัว

เนื่องจากยังไม่ชินกับอุปกรณ์ที่ทันตแพทย์ติดที่ผิวฟัน รวมทั้งลวด อุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่มีผลทำให้ขัดขวางการออกเสียง หรือปิดปากได้ไม่สนิท

แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปหลังจากที่คนไข้เริ่มปรับตัวได้ ซึ่งระยะเวลาในการปรับตัวนั้นช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์

เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวล หลังจากติดเครื่องมือไปใหม่ๆ พยายามจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ ไม่ให้ปากแห้ง จะช่วยลดการเสียดสีของเครื่องมือกับริมฝีปากและกระพุ้งแก้มได้

ป้องกันการเป็นแผลในช่องปากและช่วยให้ปรับตัวกับเครื่องมือได้ง่ายขึ้น

2. เผลอกลืนอุปกรณ์จัดฟันลงคอ

ในบางครั้งผู้ที่จัดฟันอาจพบปัญหาอุปกรณ์จัดฟันหลุด เช่น แบรกเก็ต ยางจัดฟัน และคนไข้บางรายอาจเผลอกลืนลงไป

แต่ไม่ต้องกังวล เนื่องจากอุปกรณ์จัดฟันทำจากวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ร่างกายจะกำจัดออกมาทางการขับถ่ายตามปกติ

คำแนะนำคือ พยายามปฏิบัติตามที่ทันตแพทย์บอก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีลักษณะแข็ง เหนียว หรือชิ้นใหญ่จนเกินไป เพราะจะทำให้อุปกรณ์จัดฟันหลุดได้

นอกจากมีโอกาสกลืนลงคอได้ ยังทำให้การรักษาไม่คืบหน้า ส่งผลให้การรักษาใช้เวลาที่นานขึ้น

3. เหล็กจัดฟันชอบหลุด

หากเหล็กจัดฟันหลุด ในกรณีที่สามารถพบทันตแพทย์จัดฟันได้เร็วกว่ากำหนดนัด ก็แนะนำให้ไปพบได้ก่อนเพื่อให้คุณหมอตรวจและแก้ไขแต่เนิ่นๆ

เพราะการที่เหล็กจัดฟันหลุดบ่อยจะมีผลให้การรักษาไม่คืบหน้าและต่อเนื่อง

ส่วนการป้องกัน แนะนำให้หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็กพอคำก่อนรับประทาน แปรงฟันไม่แรงจนเกินไป ระวังปลายหัวแปรงกระแทกกับเหล็ก หรือการใช้ไม้จิ้มฟันไม่ระวัง

4. ลวดทิ่มแก้มหรือเหงือกจนเป็นแผล

หากปลายลวดยื่นออกมาไม่มากนัก แนะนำใช้ขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์จัดฟัน ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วแปะทับไปที่ลวดหรือเครื่องมือที่แหลมคม

แต่ถ้าปลายลวดยื่นออกมามาก หรือปลายลวดหลุดออกมาจากเหล็กจัดฟัน ทิ่มแก้มเป็นแผล ให้รีบไปพบแพทย์ที่เรารักษาอยู่ เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อ. ทพ. ดร. ณัฐพล ตั้งจิตร, ไขปัญหาระหว่างการจัดฟัน (https://dt.mahidol.ac.th/th/ไขปัญหาระหว่างการจัดฟัน/), 2560.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)