กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ความซุ่มซ่าม เงอะงะ (Clumsiness)

อาการซุ่มซ่าม เงอะงะ ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากโรคร้ายบางชนิดได้อีกด้วย ถ้าหากคุณมีอาการซุ่มซ่ามเงอะงะบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่ามีโรคอะไรซ่อนอยู่หรือไม่?
เผยแพร่ครั้งแรก 4 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ความซุ่มซ่าม เงอะงะ (Clumsiness)

อาการซุ่มซ่าม เงอะงะ หมายถึง การมีปัญหาในการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย มีปัญหาในการเคลื่อนไหว หรือมีปัญหาในการทำกิจกรรมใดๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่ร้ายแรงได้

ถ้าหากพบอาการซุ่มซ่าม เงอะงะ ที่เป็นอย่างเฉียบพลัน หรือเป็นนานเรื้อรัง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือสุขภาพร่างกาย ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการซุ่มซ่าม เงอะงะ ที่พบได้บ่อย

อาการซุ่มซ่าม เงอะงะ เป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศ และทุกวัย แต่มักจะพบได้มาก ในผู้ที่อยู่ในช่วงวัยต่อไปนี้

  • อาการซุ่มซ่าม เงอะงะในเด็ก : ปัญหาในการประสานสัมพันธ์ของร่างกายในเด็กถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยหัดยืนและหัดเดิน แต่ ในเด็กที่มีปัญหาเรื่องของสมาธิ อาจพบปัญหาด้านการประสานสัมพันธ์ของร่างกายมากกว่าปกติ เพราะเด็กเหล่านี้จะใส่ใจหรือระวังตัวต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง ถ้าคุณรู้สึกว่าบุตรหลานของคุณมีอาการซุ่มซ่าม เงอะงะ มากผิดปกติ ก็ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากปัญหาเหล่านี้
  • อาการซุ่มซ่าม เงอะงะ ในผู้สูงอายุ : ผู้สูงอายุจะเริ่มมีปัญหาในการประสานงานของมือ เนื่องจากผู้สูงอายุจะให้ความสนใจที่การทรงตัวเป็นหลัก ทำให้ความระมัดระวังต่อสิ่งกีดขวางรอบๆ ตัวลดน้อยลง แต่ถ้ารู้สึกว่าผู้สูงอายุมีอาการซุ่มซ่าม เงอะงะมากกว่าปกติ ให้พาไปพบแพทย์ เพราะอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคทางระบบประสาท (Neurological Disorder)
  • อาการซุ่มซ่าม เงอะงะ ระหว่างตั้งครรภ์ : ในขณะที่มีการตั้งครรภ์ดำเนินไป ร่างกายของคนท้องอาจมีการเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงและส่งผลกระทบต่อการทรงตัว ทำให้มีความเสี่ยงในการสะดุดหรือเดินชนสิ่งของต่างๆ มากขึ้น แนะนำให้เคลื่อนไหวช้าๆ และขอความช่วยเหลือหากทำอะไรหล่น เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บระหว่างตั้งครรภ์

สาเหตุของอาการซุ่มซ่าม เงอะงะ

อาการซุ่มซ่าม เงอะงะ จะเกิดขึ้นได้ถ้าคุณใจลอย วอกแวก หรือไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง แต่ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย อาจมีสาเหตุมาจากโรคดังต่อไปนี้

  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) : เกิดขึ้นเมื่อมีลิ่มเลือดอุดตันในสมองทำให้เลือดไหลเวียนลดลง ซึ่งทำให้สมองขาดออกซิเจนและทำให้เซลล์สมองเริ่มตาย ระหว่างการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการอัมพาตหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้มีปัญหาในการประสานสัมพันธ์ของร่างกายและทำให้เดินสะดุดได้ และมักจะมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่
    • พูดไม่ชัด
    • รู้สึกเหมือนถูกเข็มทิ่มที่แขนหรือขา
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีอาการชา
    • ปวดศีรษะ
    • เวียนศีรษะ
  • อาการชัก (Seizures) : บางครั้งอาการชักอาจแสดงอาการคล้ายกับอาการซุ่มซ่าม เงอะงะ เฉียบพลันได้ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอาการชักในประเภทดังต่อไปนี้
    • Complex Partial Seizures : ผู้ป่วยมักมีอาการเหมือนกำลังจ้องมองไปในความว่างเปล่าขณะกำลังทำกิจกรรมใดๆ จากนั้นจะเริ่มมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น
      • พูดอู้อี้
      • ดึงถอดเสื้อผ้า
      • หยิบจับสิ่งของ
    • Myoclonic Seizures
    • Atonic Seizures
  • วิตกกังวลและความเครียด (Anxiety and Stress) : ระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาจทำงานผิดปกติขณะที่มีความเครียดหรือวิตกกังวลเฉียบพลัน ซึ่งทำให้มีอาการมือสั่น มองเห็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ และการทำกิจกรรมต่างๆ ผิดปกติไป ส่งผลให้มีโอกาสเดินชนสิ่งของหรือเดินชนผู้อื่นง่ายขึ้น
  • เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) : ก้อนเนื้องอกชนิดไม่ใช่มะเร็ง หรือเนื้องอกชนิดมะเร็งที่เกิดขึ้นในสมองสามารถส่งผลต่อการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของร่างกายได้ ถ้าคุณเป็นเนื้องอกในสมอง อาจมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย
    • คลื่นไส้ อาเจียน อย่างไม่ทราบสาเหตุ
    • มีปัญหาในการมองเห็น
    • บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
    • มีปัญหาในการได้ยิน
    • มีอาการชัก
    • อ่อนแรง หรือชา
    • ปวดศีรษะ
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) : โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้ระบบควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติไป อาการในระยะเริ่มแรกจะไม่รุนแรง แต่อาจมีอาการมือสั่น และมีปัญหาในการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย โดยอาการและอาการแสดงอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
    • การรับกลิ่นรสไม่ดี
    • การนอนหลับผิดปกติ
    • ท้องผูก
    • พูดเสียงเบา ฟังไม่ชัด
    • ใบหน้าเฉยเมย ไม่มีอารมณ์ ไม่ยิ้ม เหมือนคนใส่หน้ากาก (Masked Face)
  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) : โรคที่มีความเสียหายและมีการตายของเซลล์สมองอย่างช้าๆ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มักมีปัญหาด้านความจำ มีปัญหาในการทำกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย
  • ดีย์สแพร็กเซีย (Dyspraxia) : โรคที่มีความบกพร่องในการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย (Developmental Coordination Disorder (DCD)) ทำให้เด็กมีการประสานสัมพันธ์ของร่างกายช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากความบกพร่องในการเรียนรู้หรือจากโรคทางระบบประสาท
  • ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : คุณอาจมีอาการซุ่มซ่าม เงอะงะ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความมึนเมาหรือพิษของสิ่งเสพติดเหล่านี้ ทำให้สมองทำงานได้แย่ลง
  • สาเหตุอื่นๆ : การเคลื่อนไหวที่ไม่ประสานสัมพันธ์กัน อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่อไปนี้
    • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
    • เป็นโรคข้ออักเสบ
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านวิตกกังวล ยาต้านเศร้า และยากันชัก

การรักษาอาการซุ่มซ่าม เงอะงะ

การวินิจฉัยหาสาเหตุของปัญหาในการประสานสัมพันธ์ของร่างกายนั้นทำได้ยาก เพราะอาการนี้เป็นอาการของโรคหลายชนิด ซึ่งแพทย์อาจจะทำการซักประวัติทางการแพทย์ รวมถึงอาการอื่นๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และอาจจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค เพื่อรักษาโรคที่กำลังเป็นอยู่ก่อน ซึ่งจะช่วยลดอาการซุมซ่ามเงอะงะลงอย่างได้ผลที่สุด

ที่มาของข้อมูล

Valencia Higuera, What Causes Clumsiness? (https://www.healthline.com/symptom/clumsiness), August 9, 2016.


15 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Clumsiness, dyspraxia and developmental co-ordination disorder: how do health and educational professionals in the UK define the terms?. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11531913)
Clumsiness: Causes, Treatment, and Takeaway. Healthline. (https://www.healthline.com/health/clumsiness)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป