​วิธีเลือกหน้ากาก N95

หน้ากาก n95 แต่ละแบบต่างกันยังไง รู้ก่อนเลือก เพื่อสุขภาพที่ดี
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 24 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
​วิธีเลือกหน้ากาก N95

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ในช่วงที่ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทุกคนจำเป็นต้องใส่หน้ากากเวลาอยู่ในที่แจ้ง เพื่อป้องกันการหายใจรับฝุ่นเข้าไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว โดยหน้ากากธรรมดาสามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้เพียง 60-70% ในขณะที่หน้ากาก N95 ป้องกันได้ถึง 95%
  • หน้ากาก N95 แบ่งเป็น 4 รูปแบบ มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น รุ่น Cup Shape แน่นกระชับกับใบหน้า แต่ไม่สามารถพับเก็บได้ ส่วนรุ่น V-Flex สวมใส่สบาย พับเก็บได้ แต่หากใส่ไม่ถูกวิธี หลวมเกินไป อาจทำให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามาได้
  • ควรเปลี่ยนหน้ากากทุกวัน หรืออย่างน้อย 2-3 วันครั้ง โดยสังเกตจากสีของหน้ากากอนามัย (สีขาวกลายเป็นสีเทา) เพื่อความสะอาด และควรซื้อหน้ากากจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ร้านขายยา หรือห้างสรรพสินค้า ป้องกันการใช้ของปลอม
  • หากไม่สามารถหาซื้อหน้ากาก N95 ได้ สามารถใช้หน้ากากธรรมดาซ้อนกัน 2 ชั้น หรือหน้ากากธรรมดารองด้วยกระดาษทิชชู่ 2-3 แผ่น ก็สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ถึง 90%
  • ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด การตรวจภูมิแพ้จะช่วยให้รู้ว่า ร่างกายไวต่อฝุ่นละออง PM 2.5 หรือไม่ เพื่อที่จะได้ป้องกันอย่างทันท่วงที (ดูแพ็กเกจตรวจโรคภูมิแพ้และภาวะแพ้ได้ที่นี่)

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ทำให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง มีทั้งสวมหน้ากากอนามัยธรรมดาสีเขียวที่คุ้นเคยกันดี และหน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่ได้รับการแนะนำว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ดีที่สุด 

แต่หน้ากาก N95 มีหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร ไปดูวิธีเลือกหน้ากาก N95 แต่ละรูปแบบกัน

หน้ากากธรรมดา VS หน้ากาก N95

หลายคนคงทราบแล้วว่า หน้ากากธรรมดา (Face mask) ที่เห็นได้ทั่วไปไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ได้ แต่บางคนอาจยังไม่ทราบว่า เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

สาเหตุที่หน้ากากธรรมดาไม่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ดีเท่ากับหน้ากาก N95 มี 2 สาเหตุ ดังนี้

1. แผ่นกรองของหน้ากากธรรมดามีความละเอียดไม่เพียงพอที่จะป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้

จากการทดสอบของหลายๆ แหล่งระบุว่า แผ่นกรองของหน้ากากธรรมดาสามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ประมาณ 60-70% เท่านั้น ขณะที่หน้ากาก N95 ผลิตจากเส้นใยพิเศษที่สามารถกรองฝุ่นละออง หรือเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ 

ทำให้หน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยป้องกันได้อย่างน้อย 95%

2. หน้ากากธรรมดาถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจาก “ตัวผู้ใส่” 

หน้ากากธรรมดาถูกออกแบบมาให้ผู้ป่วยใช้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านการไอ หรือจาม ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันการสูดหายใจเข้า จึงไม่ได้ปกคลุมใบหน้ามิดชิดขณะสวมใส่ 

สังเกตได้จากเวลาใส่หน้ากากจะยังรู้สึกว่า มีลมผ่านรอบๆ บริเวณหน้ากากอยู่

ขณะที่หน้ากาก N95 จะออกแบบให้ปกคลุมมิดชิดมากกว่า จึงสามารถป้องกันเชื้อโรค ฝุ่นละออง หรือสิ่งปนเปื้อนขนาดเล็กไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ 

ชนิดของหน้ากาก N95

หน้ากาก N95 มีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งเป็น 4 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

1. Cup Shape

หน้ากากรุ่นคลาสสิกที่มีคนใช้ค่อนข้างมาก หน้ากากรูปแบบนี้เป็นหน้ากากที่คงรูป ค่อนข้างแข็ง กระชับ แนบสนิทกับใบหน้า

  • ข้อดี คือ กระชับใบหน้ามาก สามารถป้องกันฝุ่นละลอง PM 2.5 ได้แน่นอน (หากใส่ถูกวิธี) เวลาหายใจหน้ากากจะไม่ยุบเข้าออก ไม่สัมผัสกับใบหน้าให้รู้สึกรำคาญ หรือระคายเคือง
  • ข้อเสีย คือ เก็บรักษาลำบาก เพราะไม่สามารถพับเก็บได้ หน้ากากกระชับมาก อาจทำให้อึดอัด ใส่ได้ไม่นาน ทำให้หายใจค่อนข้างลำบาก ควรใส่เฉพาะเวลาที่อยู่กลางแจ้งต้องเผชิญฝุ่นเยอะๆ เท่านั้น หากเข้ามาภายในอาคารแล้วควรถอดออก

2. 2-Panel Flat-fold

ลักษณะคล้ายกับ Cup Shape แต่จะเป็นแบบกึ่งคงรูป เนื้อสัมผัสจะเบากว่า

  • ข้อดี คือ เข้ากับรูปหน้าได้มากกว่า ยืดหยุ่น สวมใส่สบายกว่าแบบ Cup Shape และสามารถพับเก็บได้
  • ข้อเสีย คือ หากใส่ไม่ถูกวิธี หลวมเกินไป อาจมีช่องที่ทำให้ฝุ่นละอองเล็ดลอดเข้าไปได้ และเวลาหายใจเข้าออกอาจรู้สึกว่า หน้ากากสัมผัสกับใบหน้าเล็กน้อย ทำให้รู้สึกรำคาญ หรือระคายเคืองได้

3. V-Flex

เป็นหน้ากากที่ไม่ได้มีรูปร่างคงตัวสามารถโค้งรับไปกับใบหน้าได้ ปกปิดได้มิดชิด

  • ข้อดี คือ สวมใส่สบาย ไม่บีบรัดหน้า สามารถพับเก็บได้ พกพาสะดวก
  • ข้อเสีย คือ หากใส่ไม่ถูกวิธี หลวมเกินไป อาจมีช่องที่ทำให้ฝุ่นละอองเล็ดลอดเข้าไปได้ และเนื่องจากเป็นหน้ากากที่ไม่ได้มีรูปร่างคงตัว ทำให้เวลาหายใจเข้าออก หน้ากากจะสัมผัสกับใบหน้าค่อนข้างบ่อย

นอกจากนี้ยังมีหลายๆ รีวิวบอกว่า สาวๆ ที่แต่งหน้า จะประสบปัญหาเครื่องสำอางเปื้อนด้านในหน้ากากได้

3. 3-Panel Flat-fold

เป็นหน้ากาก N95 อีกหนึ่งรูปแบบที่เริ่มเห็นคนใช้เยอะขึ้น และค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยด้านบนเป็นวัสดุที่ทำจากผ้า โค้งรับกับรูปหน้า ตรงกลางจะแบน เป็นโครงแข็ง ด้านล่างทำจากผ้าคลุมไปถึงใต้คาง ช่วยปกปิดไม่ให้อากาศเข้า

  • ข้อดี คือ ปกปิดมิดชิด สวมใส่สบาย และเนื่องจากตรงกลางเป็นโครงแข็ง ทำให้เวลาหายใจเข้าออกจะไม่ยุบไปสัมผัสกับใบหน้า
  • ข้อเสีย คือ ส่วนใหญ่มักมีแต่แบบสายรัดด้านหลัง ทำให้สวมใส่ลำบาก และหากใส่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้ฝุ่นละอองเล็ดลอดเข้าไปได้

หน้ากาก N95 ทั้ง 4 รูปแบบที่กล่าวมานี้จะมีรูปแบบย่อยๆ อีก คือ เป็นแบบสายรัดด้านหลัง กับแบบคล้องหู

แน่นอนว่า แบบสายรัดด้านหลังจะทำให้หน้ากากแนบกระชับกับใบหน้า ป้องกันฝุ่นละอองได้ดีกว่าแบบคล้องหู แต่ข้อเสีย คือ สวมใส่และถอดลำบาก ทำให้รู้สึกอึดอัดมากกว่า

วาล์วระบายอากาศมีไว้ทำไม?

หน้ากาก N95 บางชนิดจะมีวาล์วระบายอากาศติดอยู่ด้านหน้า

วาล์วระบายอากาศนี้ ทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อนบริเวณใบหน้า ไม่ให้ใบหน้าอบ หรืออับชื้นจนเกินไป โดยวาล์วจะเปิดตอนที่หายใจออก และปิดตอนที่หายใจเข้า ทำให้มีประสิทธิภาพในการกรองอากาศเช่นเดิม แต่ระบายอากาศได้ดีกว่า

หน้ากาก N95 ที่มีวาล์วระบายอากาศจเหมาะกับสาวๆ ที่แต่งหน้า ทำให้ไม่ต้องกลัวร้อน หรือกังวลว่า เครื่องสำอางจะเปื้อน รวมถึงคนที่ใส่แว่น เวลาหายใจเข้าออกก็จะไม่ประสบปัญหาแว่นเป็นฝ้าอีกด้วย 

เวลาซื้อหน้ากากอนามัยต้องสังเกตอะไรบ้าง?

นอกจากรูปแบบของหน้ากากที่ต้องเลือกพิจารณาแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มองข้ามไม่ได้ด้วย จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกัน

1. ได้รับการรับรองมาตรฐาน

เคยสังเกตไหมว่า หน้ากากบางอันก็เขียนว่า N95 บางอันก็เขียนว่า FFP2 หรือ P2 รหัสเหล่านี้ จริงๆ แล้วก็คือ สัญลักษณ์การรับรองมาตรฐานของประเทศต่างๆ 

  • N95 เป็นการรับรองของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรับรองว่า หน้ากากนี้มีประสิทธิภาพในการกรอง 95% (หากเลขมากกว่านั้น เช่น N99 หมายถึง มีประสิทธิภาพในการกรอง 99%)
  • FFP2 เป็นการรับรองของฝั่งยุโรป โดยรับรองว่า หน้ากากนี้มีประสิทธิภาพในการกรอง 94% (หากเป็น FFP3 หมายถึง มีประสิทธิภาพในการกรอง 99%)
  • P2 เป็นการรับรองของประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยรับรองว่า หน้ากากนี้มีประสิทธิภาพในการกรอง 94% (หากเป็น P3 หมายถึง มีประสิทธิภาพในการกรอง 99%)

ฉะนั้น ถ้าเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ ก็สามารถซื้อมาใช้งานได้ เพราะมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน

2. มีอลูมิเนียมบริเวณดั้งจมูก และฟองน้ำรองด้านใน

หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่จะมีอลูมิเนียมเส้นเล็กๆ คาดอยู่บริเวณดั้งจมูก ซึ่งเวลาสวมใส่ต้องกดอลูมิเนียมให้แนบไปกับจมูกเพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บ เพราะส่วนใหญ่มักมีแผ่นฟองน้ำนุ่มๆ รองอยู่ด้านล่างเพื่อป้องกันการระคายเคือง

3. เช็กเพื่อความชัวร์ว่า หน้ากากได้มาตรฐานหรือไม่

ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสขายหน้ากากอนามัย N95 ของปลอม แต่ก็มีอีกกระแสที่บอกว่า หน้ากาก N95 ที่บอกว่า เป็นของปลอมนั้น อาจเป็นเพียงการผลิตจากโรงงานอื่น หรือเป็นโรงงานที่รับผลิตให้แบรนด์ต่างๆ นำสินค้าออกมาจำหน่ายโดยตรงเท่านั้น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละอองเท่ากัน

แต่สำหรับใครที่ยังไม่มั่นใจอยากเช็กเพื่อความชัวร์ก็ทำได้ง่ายๆ คือ

  1. ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านขายยา หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ
  2. หากหน้ากากที่ซื้อเป็นของ 3M จะสามารถเช็ค Secure Code ได้ โดยดูที่ใต้กล่อง หรือข้างกล่อง จะมี Secure Code กับ Lot Code ระบุอยู่ ให้กดเข้าไปที่  https://safeguard.3m.com/Guest#/Validation เลือกรุ่นที่ซื้อ และกรอกรหัส จากนั้นกด Validation จะรู้ทันทีว่า หน้ากากนั้นเป็นของ 3M จริงหรือเปล่า

เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัย?

จริงๆ แล้วข้อแนะนำที่ดีที่สุดคือ ควรเปลี่ยนหน้ากากทุกวัน เพราะประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นของหน้ากากจะลดลงตามอายุการใช้งาน รวมทั้งยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และแบคทีเรียอีกด้วย

แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงจะให้เปลี่ยนทุกวันก็อาจกระทบกับรายรับรายจ่ายในแต่ละวันได้ หากไม่สามารถเปลี่ยนหน้ากากทุกวันให้สังเกตจากสีของหน้ากากว่า เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน 

ถ้าหน้ากากสีขาวสะอาดเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทาก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนแล้ว (ไม่ควรใช้ซ้ำเกิน 3 วัน) 

หรืออีกข้อสังเกตคือ หากมีอาการไอ จามบ่อยๆ หรือต้องผ่านในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองมากๆ ก็ควรต้องเปลี่ยนหน้ากากบ่อยๆ เช่นกัน

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน ผู้ที่หายใจรับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปเป็นประจำจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคถุงลมปอดพอง และโรคมะเร็งปอดได้

นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังกระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังอย่างโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด หรือผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังอาการกำเริบได้

ดังนั้นการสวมใส่หน้ากากเวลาอยู่ในที่แจ้งช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

หากไม่มีหน้ากาก N95 ก็ควรใส่หน้ากากธรรมดา โดยใช้หน้ากากธรรมดาซ้อนกัน 2 ชั้น หรือหน้ากากธรรมดารองด้วยกระดาษทิชชู่ 2-3 แผ่น ก็สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ถึง 90%

ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Memorandum of Understanding Between the Food & Drug Administration/Center for Devices & Radiological Health and the Centers For Disease Control & Prevention/National Institute for Occupational Safety & Health/National Personal Protective Technology Laboratory (https://www.fda.gov/about-fda/domestic-mous/mou-225-18-006), 18 December 2017
Qian Y et al., Performance of N95 respirators: filtration efficiency for airborne microbial and inert particles (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9487666), February 1998

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป