กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ไขข้อข้องใจน้ำคลอโรฟิลล์ ดีจริงหรือหลอกลวง

ไขทุกข้อข้องใจ "น้ำคลอโรฟิลล์" อย่างหมดเปลือก อ่านเลย
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 28 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ไขข้อข้องใจน้ำคลอโรฟิลล์ ดีจริงหรือหลอกลวง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • น้ำคลอโรฟิลล์ เป็นน้ำสกัดจากสารประกอบในพืช หรือสาหร่าย ทำให้มีสีเขียวจากสีของธรรมชาติ มักพบในรูปแบบชนิดละลายในไขมัน จึงไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ
  • การรับประทานคลอโรฟิลล์มากเกินไป มีส่วนทำให้ตับ และไตทำงานผิดปกติได้ เพราะเป็นการนำไขมันจากน้ำเข้าไปสะสมในอวัยวะดังกล่าว
  • น้ำคลอโรฟิลล์มีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานคล่องได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหากลิ่นตัวอีกด้วย
  • ผลข้างเคียงจากการบริโภคน้ำคลอโรฟิลล์คือ ปัสสาวะ และอุจจาระมีสีเขียว มีอาการท้องเสีย ผู้บริโภคจึงควรบริโภคแต่พอดี 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจวิตามิน

น้ำคลอโรฟิลล์ หรือเครื่องดื่มสีเขียว ที่หลายคนได้บอกต่อๆ กันว่า "ดี" มีสรรพคุณมากมาย ตั้งแต่ช่วยล้างสารพิษในร่างกายไปจนถึงเชื่อว่า หากดื่มเป็นประจำจะสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ 

แท้จริงแล้วน้ำคลอโรฟิลล์ดีจริงหรือไม่ และน้ำนี้เป็นคลอโรฟิลล์ที่เป็นสารสีเขียวจากพืชจริงหรือไม่ หรือเป็นสารให้สีจากอย่างอื่น มาหาคำตอบจากบทความนี้

ความหมายของคลอโรฟิลล์ 

คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) คือ สารประกอบอย่างหนึ่งที่พบมากในพืช หรือในสาหร่าย เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง สารนี้มีสีเขียวตามธรรมชาติ 

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 

  • ชนิดที่ละลายน้ำ
  • ชนิดที่ละลายในไขมัน 

คลอโรฟิลล์ตามธรรมชาติ มักพบในรูปแบบที่ละลายในไขมันและมีขนาดโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ จึงทำให้ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ หากนำมารับประทานจึงไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

น้ำคลอโรฟิลล์ในรูปแบบอาหารเสริม

คลอโรฟิลล์ที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า "โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟิลลิน (Sodium copper chlorophyllin)" 

โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟิลลินเป็นการดัดแปลงโครงสร้างตามธรรมชาติ ทำให้ได้สารที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่ยังมีความคงตัว และสามารถละลายน้ำได้ดี ทำให้นำมาผสมในอาหาร และเครื่องดื่มได้ 

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) รับรองความปลอดภัยคลอโรฟิลด์เฉพาะชนิดที่ละลายน้ำเท่านั้น 

เนื่องจากหากได้รับคลอโรฟิลล์ที่ละลายในน้ำมากเกินไปร่างกายยังสามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้ แต่หากรับชนิดที่ละลายในไขมันมากเกินไปจะทำให้เกิดการสะสม และส่งผลต่อตับ และไตได้

ไขข้อข้องใจน้ำคลอโรฟิลล์

1. การดื่มน้ำคลอโรฟิลล์สามารถนำมาทดแทนการรับประทานผักผลไม้สดได้ ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้หรือไม่

ตอบ ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์ในชั้นของใบพืชที่มีประโยชน์ในเรื่องของการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ แต่จะดีที่สุดเมื่ออยู่ในสภาพไม่ละลายในน้ำเท่านั้น ดังนั้นการนำคลอโรฟิลด์มาชงละลายน้ำดื่มจึงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าที่ควร 

การรับประทานผัก หรือผลไม้สด จะได้รับสารอาหารอื่นๆ รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายได้ดีกว่ามาก

2. คลอโรฟิลล์ช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกายได้หรือไม่?

ตอบ ความจริงคือ ระดับโมเลกุลของคลอโรฟิลล์และฮีมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกันมาก จนหลายคนเรียกคลอโรฟิลล์ว่าเป็น “เลือดของพืช” 

แต่ความเป็นจริงแล้วองค์ประกอบของทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องโครงสร้างและหน้าที่

คลอโรฟิลล์ไม่ใช่ฮีโมโกลบิน เนื่องจากคลอโรฟิลล์ช่วยให้พืชสังเคราะห์แสง แต่ฮีโมโกลบินช่วยลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย ดังนั้นจึงไม่สามารถรับประทานคลอโรฟิลล์เพื่อมาเป็นสารตั้งต้นของเม็ดเลือดแดงได้ และไม่ได้มีสรรพคุณเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกายแต่อย่างใด

3. คลอโรฟิลล์ช่วยลดกลิ่นปากได้หรือไม่?

ตอบ มีผู้ขายบางท่านบอกว่า คลอโรฟิลล์มีส่วนช่วยในการลดกลิ่นปาก และทำให้ลมหายใจหอมสดชื่นได้ 

แต่มีการศึกษาวิจัยในมนุษย์เมื่อเทียบกันระหว่างผู้ที่รับประทานยาเม็ดคลอโรฟิลล์กับยาหลอก พบว่า ผู้ที่รับคลอโรฟิลล์สามารถลดกลิ่นอุจจาระได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่มีรายงานการทดลองในการใช้ลดกลิ่นปาก 

ความเป็นจริงสินค้าประเภทอาหารเสริมที่วางขายอยู่โดยทั่วไปยังมีปริมาณความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ไม่มากพอที่จะช่วยดับกลิ่นได้ ทั้งนี้ผู้ผลิตหลายรายเลือกใช้วิธีการแต่งสีเพื่อเพิ่มความน่ารับประทานให้แก่สินค้าเท่านั้น แต่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่อย่างใด

4. คลอโรฟิลล์ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่?

ตอบ สำหรับประโยชน์ในเรื่องการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย คลอโรฟิลด์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อได้จริง แต่น้อยมากๆ หากเปรียบเทียบกับยาฆ่าเชื้อชนิดอื่นๆ นอกจากนี้แม้ว่าคลอโรฟิลล์จะสามารถยับยั้งเชื้อได้บางชนิดแต่ก็อาจทำให้เชื้อชนิดอื่นๆ เติบโตขึ้นมาแทนที่ได้ 

ดังนั้นหากต้องการดื่มน้ำคลอโรฟิลล์เพื่อหวังให้ไปออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อจึงไม่แนะนำเพราะอาจไม่เห็นผลมากนัก

5. คลอโรฟิลล์ช่วยขับสารพิษทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งได้หรือไม่?

ตอบ เนื่องจากคลอโรฟิลล์ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นใยตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณอุจจาระ และไม่ช่วยดูดซับเอาสารพิษออกจากร่างกายในรูปของของเสียได้ 

อีกทั้งในเรื่องของการทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งก็ยังไม่มีผลวิจัยใดชี้ว่า คลอโรฟิลล์จะช่วยล้างพิษในร่างกายและทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี การดื่มน้ำคลอโรฟิลล์อาจจะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกชื่นชอบกว่าน้ำเปล่า จึงทำให้ดื่มน้ำได้มากขึ้นกว่าเดิม ข้อนี้อาจช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น เมื่อระบบขับถ่ายดี มีสารพิษตกค้างน้อยก็อาจส่งผลให้ผิวพรรณสดใสขึ้นได้

มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า คลอโรฟิลล์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารนี้ มีฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอกที่เต้านม ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งตับ ช่วยเพิ่มจำนวน และประสิทธิภาพการทํางานของเม็ดเลือดขาว ช่วยลดกลิ่นตัว กลิ่นอุจจาระ และกลิ่นปัสสาวะ 

นอกจากนี้คลอโรฟิลด์ยังช่วยให้รอยแผลบริเวณผิวหนังที่เกิดจากการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งหายเร็วขึ้นและช่วยขับสารพิษ  แต่กลไกดังกล่าว ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเท่าที่ควร 

ข้อห้ามใช้คลอโรฟิลล์

ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มีคลอโรฟิลล์ และคลอโรฟิลลินเป็นส่วนประกอบ

ข้อควรระวังในการใช้คลอโรฟิลล์

หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานคลอโรฟีลล์ และคลอโรฟีลลินเสริม

ผลข้างเคียงจากการใช้คลอโรฟิลล์

การรับประทานคลอโรฟีลล์ และคลอโรฟีลลินเสริมอาจทำให้ปัสสาวะ และอุจจาระมีสีเขียว ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกือบดำ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย 

นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดอาการแพ้สารคลอโรฟีลลิน โดยอาจพบผื่นแพ้ขึ้นตามตัว มีอาการเวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก และความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็วได้

ขนาดที่ควรใช้ 

โดยทั่วไปขนาดที่นิยมใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือ 100 มิลลิกรัมต่อวัน ในสหรัฐอเมริกากำหนดความปลอดภัยของสารคลอโรฟิลลินในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือใช้เป็นสีผสมอาหารได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ 

ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถรับประทานได้ในขนาด 90 มิลลิกรัมต่อวัน

จากข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับคลอโรฟิลล์ และคลอโรฟิลลินจะเห็นได้ว่า คลอโรฟิลล์มีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ในการบริโภคนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความปลอดภัย ความจำเป็นที่ต้องใช้ คุณภาพ และราคา 

หากสามารถบริโภคผักใบเขียวได้คงไม่จำเป็นที่จะต้องบริโภคคลอโรฟิลล์ที่เป็นสารสังเคราะห์ แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม และสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสุขภาพของตัวท่านเอง

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจวิตามิน จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, คลอโรฟีลล์มีประโยชน์จริงหรือ?(https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0246.pdf)
พนิดา ใหญ่ธรรมสาร, จุลสารข้อมูลสมุนไพร, คลอโรฟีลล์มีประโยชน์จริงหรือ? (http://www.medplant.mahidol.ac.th/publish/newsletter/arc/242-02.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป