ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HonestDocs
เขียนโดย
ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

โป๊ยกั๊ก (Chinese anise)

โป๊ยกั๊ก เครื่องเทศที่มีรูปทรงคล้ายดาวแปดแฉก และมีสรรพคุณทางยามากมาย
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โป๊ยกั๊ก (Chinese anise)

โป๊ยกั๊กเป็นพืชสมุนไพรจีนที่มีกลิ่นหอมและมีฤทธิ์ร้อนที่คนไทยรู้จักกันดี เนื่องจากโป๊ยกั๊กเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารหลายชนิด นิยมเรียกกันอีกชื่อว่าจันทน์แปดเหลี่ยม เนื่องจากมีรูปร่างลักษณะเป็นทรงแปดแฉกคล้ายรูปดาว นอกจากนิยมนำมาทำอาหารแล้ว โป๊ยกั๊กยังมีสรรพคุณทางยาด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์    Illicium verum Hook.f.

ชื่อวงศ์                  ILLICIACEAE

ชื่ออังกฤษ            Chinese anise, Chinese star anise, Star anise, Star anise tree

ชื่อท้องถิ่น            จันทร์แปดกลีบ จันทน์แปดกลีบ แปดแฉก

ถิ่นกำเนิด

โป๊ยกั๊ก มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม โดยจัดเป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียเขตร้อน และในปัจจุบันมีการเพาะปลูกโป๊ยกั๊กมากในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย เวียดนาม และประเทศญี่ปุ่น

หมายเหตุ โป๊ยกั๊กจีน เป็นพืชคนละชนิดกับโป๊ยกั๊กญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Illicium anisatum 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโป๊ยกั๊ก

โป๊ยกั๊กจัดเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดเล็ก มีใบเขียวตลอดปีและมีความสูงได้ถึง 18 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกมีสีขาวเทา ลักษณะหยาบเล็กน้อย ต้นแก่จะมีรอยแตกไม่เป็นระเบียบ ใบออกเป็นใบเดี่ยวโดยออกเป็นกลุ่ม 3-6 ใบ ยาว 5.5-10.5 เซนติเมตร กว้าง 1.6-4.5 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกลับถึงรูปรีแคบ โคนใบสอบ ปลายใบแคบเป็นแถบยาว ส่วนปลายสุดเว้าหรือแหลม หน้าใบสีเขียวเข้มผิวลื่นเป็นมันหลังใบสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มอยู่เบาบาง ดอกออกที่ง่ามใบ ก้านดอกยาว 1.5-4 เซนติเมตร มีกลีบหุ้มดอก 8-12 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2-3 วง ดอกเป็นดอกเดียว มีสีเหลือง บางครั้งอาจแต้มด้วยสีชมพูถึงสีแดง ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมแกมรูปถ้วย กลีบดอกมี 10 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ขอบกลีบมีขนและเป็นกระพุ้ง ผลมีลักษณะเป็นกลีบโดยรอบ มองเห็นได้เป็นรูปดาว มีประมาณ 5-13 กลีบ แต่ที่พบมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็น 8 กลีบ ผลดิบมีสีเขียว ผลแห้งมีกลีบหนาแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม ในกลีบแต่ละกลีบจะมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปไข่และแบน ผิวมีสีน้ำตาลเรียบและเป็นเงา ผลมีกลิ่นหอม

สรรพคุณของโป๊ยกั๊ก

ตามตำราแพทย์ต่างๆ มีการกล่าวถึงสรรพคุณของโป๊ยกั๊ก ดังนี้

  • ตามตำรายาไทย ผลใช้ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาหารไม่ย่อย แก้ปวดท้อง โดยนำโป๊ยกั๊กเข้าตำรับยาขับลมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น อบเชย ขิง เมล็ดผักชี รับประทานในรูปแบบยาต้มดื่มหรือปั้นเป็นยาลูกกลอนก็ได้ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณแก้ไอ วิธีทำคือนำโป๊ยกั๊กตำละเอียดเป็นผง แล้วเข้าตำรับยาขับเสมหะกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น น้ำผึ้ง ชะเอมไทย ชะเอมเทศ เป็นต้น นำมากวาดคอ จะทำให้ชุ่มคอและทำให้เสมหะลดลง
  • แพทย์พื้นบ้านนำโป๊ยกั๊กเข้าตำรับยาขับน้ำนม เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตของมารดา ทำให้น้ำนมออกมากขึ้น โดยนำโป๊ยกั๊กเข้าตำรับยาบำรุงน้ำนมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น น้ำนมราชสีห์ ระย่อมน้อย เป็นต้น
  • ปัจจุบัน มีการนำโป๊ยกั๊กมาประยุกต์ใช้ในการรักษาทางสุคนธบำบัด หรือการบำบัดรักษาด้วยกลิ่นหอม เนื่องจากโป๊ยกั๊กมีน้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยคลายเครียด คลายกังวลได้
  • ตามตำราแพทย์แผนจีน โป๊ยกั๊กช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคต่างๆ ให้แก่ร่างกาย ด้วยการใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำอุ่นสุกดื่ม ทั้งยังกล่าวว่าโป๊ยกั๊กมีคุณสมบัติเป็นหยาง ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายในช่วงอากาศเย็น มีรสร้อน แต่ไม่เผ็ดร้อนมากจนเกินไป นำมารับประทานโดยใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชาชงกับน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ ใช้ดื่มหลังอาหารในช่วงเช้าหรือเย็น หรือในช่วงที่มีอากาศเย็น จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และบรรเทาอาการจากไข้หวัดได้อีกด้วย นอกจากนี้ตำราแพทย์แผนจีนยังกล่าวว่าโป๊ยกั๊กสามารถช่วยระงับอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดเอวได้ โดยนำผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชานำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น

การนำโป๊ยกั๊กมาปรุงอาหาร 

ผลและเมล็ดโป๊ยกั๊กทั้งแบบแห้งและป่นใช้เป็นเครื่องเทศ นิยมใส่ในอาหารประเภทตุ๋นที่นิยมใส่เครื่องเทศยาจีนหลายชนิด โดยเมนูที่คนไทยคุ้นเคย ได้แก่ แกงพะโล้ ข้าวขาหมู เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้โป๊ยกั๊กในการแต่งกลิ่นของเครื่องดื่ม ลูกอม ขนมหวาน ขนมผิง ขนมเค้ก ได้อีกด้วย

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้โป๊ยกั๊ก

เพื่อการบริโภคโป๊ยกั๊กอย่างปลอดภัย ควรคำนึงถึงข้อห้ามและข้อควรระวังเหล่านี้

  • มีการศึกษาทางพิษวิทยาพบว่า การใช้โป๊ยกั๊กเป็นน้ำมันหอมระเหยนั้น ถ้าใช้ความเข้มข้นมากกว่า 4% อาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองที่ผิวหนังได้ และยังมีการศึกษาวิจัยระบุว่า สารอเนโทล (Anethole) และซาโฟรล (Safrole) ในน้ำมันหอมระเหยของโป๊ยกั๊กเป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นพิษต่อตับ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
  • โป๊ยกั๊กที่นำมาใช้ในการบริโภคหรือใช้เป็นยาสมุนไพร คือ โป๊ยกั๊กจีน ซึ่งเป็นคนละชนิดกันกับโป๊ยกั๊กญี่ปุ่นที่เป็นพืชมีพิษ หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากมีสารพิษที่มีฤทธิ์ในการทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรงและทำให้เกิดอาการอักเสบภายใน ดังนั้นจึงควรระมัดระวังและเลือกใช้โป๊ยกั๊กจีนเท่านั้น
  • สตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรระมัดระวังในการรับประทาน เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่า โป๊ยกั๊กปลอดภัยต่อสตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หากรับประทานโป๊ยกั๊กเข้าไป อาจส่งผลกระทบต่อบุตรได้

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. 2554
วุฒิ วุฒิธรรมเวช, สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย, 2540.
วุฒิ วุฒิธรรมเวช, เครื่องยาไทย 1, 2552.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)