กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

CVA: Cerebrovascular Disease (โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด หรือ สโตร์ค)

เผยแพร่ครั้งแรก 9 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

ความหมาย เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ได้แก่ หลอดเลือดสมองแตก (Cerebral hemorrhage) ตีบตันและมีลิ่มเลือดมาอุดหลอดเลือดสมอง (Cerebral ischemia หรือ Ischemic stroke) ทำให้ส่วนของสมองในบริเวณนั้นไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ หรือขาดเลือดไปเลี้ยงจนทำให้สมองเฉพาะที่หรือทั้งหมดทำหน้าที่บกพร่องอย่างชั่วคราวหรือถาวะ โดยอาการผิดปกติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคงที่เกิน 24 ชั่วโมง อาจนำไปสู่ความพิการ หรือการเสียชีวิตโดยไม่มีสาเหตุอื่น

สาเหตุ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดตีบแข็ง มีสิ่งอุดตันในหลอดเลือดสมอง และมีหลอดเลือดสมองแตก มักเกิดขึ้นในสมองซีกใดซีกหนึ่งแล้วทำให้แขนขาด้านตรงข้ามอ่อนแรง (Hemiplegia) ในทางคลินิกจึงนิยมใช้คำในภาษาอังกฤษว่า Cerebrovascular accident (CVA) แต่เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจสับสนว่าเป็นโรคเกี่ยวกับอุบัติเหตุ จึงเปลี่ยนมาใช้ Cerebrovascular disease แทน และมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสโตร์ค เช่น อายุที่มากขึ้น (คนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปมีอุบัติการณ์เป็นสโตร์คเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 10 ปีที่แก่ตัวลง) ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นพริ้ว (Atrial fibrillation) ผนังด้านในของหลอดเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมองฉีกขาด (Carotid artery dissection) โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ (มีความเสี่ยงต่อสโตร์คเพิ่มขึ้น 3 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่) ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย และความอ้วน (พบว่าคนที่เป็นสโตร์คมีน้ำหนักเกินปกติ) ระดับไขมันคอเลสเตอรอล ชนิดดี (HDL) ต่ำ ดื่มสุรามากเกินไป เสพยาเสพติด (โคเคน) มีประวัติคนในครอบครัวเป็นสโตร์ค

พยาธิสรีรภาพ เมื่อหลอดเลือดสมองมีการตีบหรืออุดตัน หากมีการตีบหรืออุดตันไม่มากร่างกายจะสามารถปรับชดเชยได้ จะมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันชั่วคราวและอาการหายกลับคืนปกติเองได้ หากมีการตีบหรืออุดตันอย่างรุนแรงจะทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างมากจนกระทั่งกลไกการปรับตัวดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้ ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ที่หลอดเลือดสมองแตก หากเกิดกับหลอดเลือดแดงขนาด

ใหญ่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแบบเฉียบพลัน สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองมีดังนี้

ภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง (Atherosclerosis) ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นทำให้เลือดไหลช้าลง เลือดมีความหนืดมากขึ้นจนเกิดเป็นลิ่มเลือดหรือทรอมบัสไปอุดตันหลอดเลือดสมอง และมีชั้นไขมันสะสมภายในหลอดเลือดทำให้ท่อหลอดเลือดแคบลงจนนำเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน (Cerebral thrombosis หรือ Cerebral embolism) อาจเป็นลิ่มเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดสมองหรือสิ่งอุดตันจากนอกสมองที่ไหลมาตามกระแสเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดสมอง การเกิดทรอมบัสมักเกิดกับหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น Internal carotid artery และมักเกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดตีบและแข็ง หลอดเลือดอักเสบ ผนังหลอดเลือดหนาตัว เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะช็อกหรือสมองขาดเลือด อาจเกิดภาวะเลือดหนืดจนก่อตัวเป็นทรอมบัสได้เช่นกัน

ภาวะหลอดเลือดสมองแตกทำให้เกิดเลือดออกในสมอง (Intracerebral hemorrhage) หรือมีเลือดออกในสมองชั้นต่างๆ เช่น เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นอะแร็ชนอยด์ (Subarachnoid hemorrhage) เป็นต้น มีหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm) หรือมีความผิดปกติของหลอดเลือด (Arteriovenous malformation) มักทำให้มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นอะแร็ชนอยด์ ส่วนการมีเลือดออกในเนื้อสมองชั้นลึกมักเกิดจากการแตกของหลอดเลือดฝอยซึ่งพบมากในผู้ที่มีภาวะความดันเลือดสูง หลอดเลือดสมองแตกพบบ่อยที่ Middle cerebral artery และ Internal carotid artery ที่ไปเลี้ยงสมองใหญ่ส่วนบนและส่วนหน้า การแตกของหลอดเลือดสมองมักสัมพันธ์กับการมีความดันเลือดสูงหรือการออกกำลังกาย เมื่อเกิดการแตกของหลอดเลือดเลือดที่ออกจะไปเพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะและกดเนื้อสมองบางส่วน ทำให้สมองส่วนนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงและเกิดภาวะสมองบวมตามมา บางรายก้อนเลือดอาจดันเนื้อสมองจนทำให้เนื้อสมองเคลื่อน

โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะมีผลทำให้สมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมองล้วนทำให้สมองถูกทำลาย เซลล์ที่ถูกทำลายจะกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและสารสื่อเคมีที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบส่งผลให้เกิดภาวะสมองบวม และความดันในสมองสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลไปกดหรือรบกวนการทำงานของสมองส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีพยาธิสภาพทำให้สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวภายใต้อำนาจจิตใจ สูญเสียความสามารถในการรับรู้ความรู้สึก สูญเสียความสามารถใน

การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ และทำให้การพูดจาบกพร่อง หากไม่กดก้านสมองจะส่งผลให้ไม่รู้สึกตัว หยุดหายใจ หรือเกิดภาวะสมองตายในที่สุด

อาการ หากเป็นสโตร์คแบบสมองขาดเลือด (หลอดเลือดสมองอุดตัน) มักมีอาการแบบเฉียบพลัน แต่ถ้าเป็นแบบมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดมักจะค่อยๆ ปรากฏอาการ อาการที่เกิดขึ้น เช่น ชาตามปลายมือปลายเท้า มีอาการชาซีกใดซีดหนึ่งหรือมีอาการอ่อนแรง มีอาการเวียนศีรษะหรือทรงตัวไม่ดี มีอาการชัก ตาพร่า เห็นภาพซ้อน อาจถึงกับตาบอด หูไม่ได้ยินข้างใดข้างหนึ่ง พูดตะกุกตะกัก พูดไม่ออกหรือพูดแล้วฟังเข้าใจลำบาก ก่อนจะมีอาการอัมพาตหรืออ่อนแรงของแขนขามักเกิดอาการในช่วงหลับหรือกำลังพักผ่อนเพราะในช่วงดังกล่าวจะมีความดันเลือดต่ำและเลือดมีความหนืดมากกว่าปกติ อาจมีอาการซึม รูม่านตาตอบสนองต่อแสงผิดปกติ หากแขนขาอ่อนแรงข้างขวา ผู้ป่วยอาจพูดไม่ได้เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับบริเวณโบรคา (Broca’s area) ซึ่งอยู่บริเวณสมองข้างซ้าย ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คล้ายไมเกรน คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง มีอาการชัก หมดสติ ในระยะแรกๆ มักมีภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันชั่วคราว เรียกว่า อัมพฤกษ์ หรือ Mini Stroke หรือ Translent ischemic attack (TIA) ซึ่งจะมีอาการเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง มองเห็นภาพซ้อน ตามัวลง มีอาการชาที่แขนขาหรือใบหน้า ปากบิดเบี้ยว กลืนลำบาก เวียนศีรษะ อาจเป็นลม ส่วนที่เป็นสโตร์คแบบหลอดเลือดเลี้ยงสมองแตกมักจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันแล้วอาการจะเลวลง เช่น สับสน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค จากประวัติเคยมีโรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคติดเชื้อ มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ เคยใช้ยาหรือสารเสพติด ตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์ น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เจาะเลือดอาจพบความดันในสมองสูง ทำ Brain scan อาจพบเนื้อสมองตาย มีเลือดออก มีความผิดปกติของหลอดเลือด ทำอัลตราซาวนด์บริเวณหลอดเลือดแดงที่คออาจพบว่ามีคราบไขมันพอกผนังด้านในของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง ตรวจดูหลอดเลือดสมอง (Angiography ที่สมอง) ตรวจพบหลอดเลือดในสมองตีบแคบและอุดตัน ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (Corrupted tomography scan: CT scan) อาจพบว่ามีเนื้อสมองตาย ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging: MRI) จะพบตำแหน่งที่มีเลือดออกในสมองได้ดีและเห็นขอบเขตของเซลล์สมองที่ขาดเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) อาจพบว่ามีโรคหัวใจร่วมด้วย ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG) อาจพบคลื่นไฟฟ้าช้าลง

การรักษา หากผู้ป่วยหมดสติและหายใจไม่ดีต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้ามีไข้สูง ให้รับประทานยาลดไข้ ส่งตรวจ CT scan ให้น้ำเกลือเพื่อให้สารอาหาร หากผล CT scan พบมีก้อนเลือดอุดตันหรือมีลิ่มเลือดหัวใจหรือมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในร่างกายจะให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ ยากลุ่มเฮปาริน (Heparin) เช่น Warfarin sodium (Coumadin) เป็นต้น ให้ยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งออกฤทธิ์ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (Platelet) เพื่อป้องกันการเกิดอาการกลับเป็นซ้ำ หรืออาจให้ Dipyridamole (Persantine) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด หรืออาจให้ยา Clopidogrel (Plavix), Ticlopidine (Ticlid) เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แต่ต้องระมัดระวังอาการข้างเคียงของยาที่ออกฤทธิ์กดไขกระดูก ให้ยาลดความดันเลือดในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงวิกฤตหรือโรคหลอดเลือดสมองแตก อาจให้ยากลุ่ม Calcium channel blockers, Opiate antagonists เพื่อช่วยยับยั้งการทำลายของเซลล์สมองเพิ่มขึ้น บางรายรักษาด้วยการผ่าตัดหลอดเลือดแดงคาโรติด และการใส่สายสวนขยายหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาใหม่ๆ เช่น การใช้โปรตีนพิเศษ คือ Plasma fibronectin ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยปกป้องเซลล์สมองไม่ให้เสียหายจากสโตร์คชนิดหลอดเลือดตีบตัน การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด การลดอุณหภูมิร่างกาย การใช้แสงเลเซอร์ผ่านสายสวนไปยังสมองเพื่อละลายลิ่มเลือดซึ่งจะใช้เวลาน้อยกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ให้ยาเพื่อช่วยลดอาการบวมทางสมอง ให้ยาลดไขมันคอเลสเตอรอล เป็นต้น

การพยาบาล ช่วยเหลือผู้ป่วยให้ปลอดภัยในภาวะวิกฤต โดยทำทางเดินหายใจให้โล่ง จัดให้ผู้ป่วยนอนท่าศีรษะสูงประมาณ 10 องศา บันทึกการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยแก่ผู้ป่วย หลักเลี่ยงกิจกรรมที่จะมีผลไปเพิ่มความดันในสมอง เช่น การไอ จาม การเบ่งถ่ายอุจจาระ เป็นต้น ดูแลให้ได้สารน้ำและสารอาหารเพียงพอ ตอบสนองความต้องการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล การกระตุ้นการรับรู้ของผู้ป่วย ดูแลแบบประคับประคองตามอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง สังเกตความผิดปกติของผิวหนัง บริหารกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ เป็นต้น ป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และเผชิญกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง
ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จำเป็นต้องตรวจไหม ใครควรตรวจ?


15 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
si.mahidol, รูŒจักโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) (https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/545_49_1.pdf)
medlineplus, Stroke (https://medlineplus.gov/stroke.html)
Seunggu Han, MD, Cerebrovascular Accident (https://www.healthline.com/health/cerebrovascular-accident), May 23, 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)