กรดคาร์บอนิก สารน่าสนใจที่ใช้บำรุงสุขภาพ

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
กรดคาร์บอนิก สารน่าสนใจที่ใช้บำรุงสุขภาพ

กรดคาร์บอนิก เป็นสิ่งที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นสารที่ใช้ใส่ในน้ำอัดลมและโซดาเพื่อเพิ่มความซาบซ่า ในปัจจุบัน กรดคาร์บอนิกเริ่มเป็นที่สนใจในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมความงามมากขึ้น เพราะว่ากันว่าเป็นกรดที่มีสรรพคุณด้านสุขภาพมากมาย ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับกรดคาร์บอนิกกันดีกว่า

กรดคาร์บอนิกคืออะไร?

กรดคาร์บอนิก (Carbonic acid) เป็นกรดอ่อนชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายในน้ำ กรดคาร์บอนิกนั้นพบได้ในร่างกาย เนื่องจากมีความสำคัญมากในการปรับสมดุลกรด-ด่าง โดยทั่วไปกรดคาร์บอนิก และกรดในรูปเกลือที่ชื่อว่า คาร์บอเนต หรือ ไบคาร์บอเนต มักถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม โซดา และน้ำดื่มผสมคาร์บอเนต

ประโยชน์ของกรดคาร์บอนิกต่อสุขภาพ

นอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติซาบซ่าให้แก่เครื่องดื่มแล้ว กรดคาร์บอนิกยังมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายข้อ ยกตัวอย่างเช่น

  • ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต

เมื่อเข้าสู่ร่างกาย กรดคาร์บอนิกจะแตกตัวได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งช่วยกระตุ้นการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และยังช่วยให้เม็ดเลือดแดงปล่อยออกซิเจนไปสู่เซลล์ได้ดีขึ้นด้วย จึงช่วยลดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน ทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น

  • ช่วยให้ผิวพรรณสดใส

เนื่องจากกรดคาร์บอนิกช่วยให้การไหลเวียนเลือดและการส่งออกซิเจนสู่เซลล์ต่างๆ ดีขึ้น เซลล์ผิวหนังจึงสามารถสร้างพลังงานได้ดี เกิดการเผาผลาญในเซลล์ที่เสื่อมโทรม และช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ผิวจึงดูเปล่งปลั่ง นุ่มฟู และเรียบเนียนยิ่งขึ้น

  • ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ

กรดคาร์บอนิกช่วยให้หลอดเลือดหัวใจขยายตัวและยืดหยุ่น จึงช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดตีบและแข็งตัว อีกทั้งช่วยบรรเทาภาวะเส้นเลือดอุดตันซึ่งส่งผลให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติและหัวใจขาดเลือดด้วย

  • ช่วยกำจัดเชื้อโรคในคอ

มีการศึกษาที่พบว่ากรดคาร์บอนิกมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มผสมกรดคาร์บอนิก เช่น โซดา จะช่วยกำจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในปากและช่องคอ จึงเป็นการป้องกันโรคในทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัดและเจ็บคอได้

  • ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย

กรดคาร์บอนิกจะช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงช่วยให้อาหารย่อยได้ดี อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการขับถ่ายให้เป็นปกติและช่วยป้องกันท้องผูกด้วย

  • ช่วยในการไดเอท

เครื่องดื่มผสมกรดคาร์บอนิกที่ปราศจากน้ำตาล อย่างโซดาและน้ำคาร์บอเนต จัดเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ให้พลังงาน แต่ช่วยให้เรารู้สึกอิ่มท้อง เนื่องจากเป็นการเพิ่มก๊าซในกระเพาะ การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จะช่วยลดความหิว ป้องกันการทานอาหารมากเกินไป จึงเป็นผลดีต่อหนุ่มๆ สาวๆ ที่กำลังไดเอทนั่นเอง

โทษของกรดคาร์บอนิกต่อสุขภาพ

  • ทำให้ฟันผุ

กรดคาร์บอนิกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีฤทธิ์สามารถกัดกร่อนหินปูนและเคลือบฟันได้ ดังนั้นก็อาจทำให้ฟันของเราผุกร่อนได้เช่นกัน

  • ทำให้ไม่สบายท้อง

การทานกรดคาร์บอนิก เป็นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระเพาะ จึงทำให้บางครั้งเกิดอาการปวดแน่นท้อง มีลมในท้อง หรือท้องอืดได้

วิธีทานกรดคาร์บอนิก

เราสามารถทานกรดคาร์บอนิกได้ในรูปของเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม โซดา และน้ำดื่มผสมคาร์บอเนต แม้ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าเราควรทานกรดคาร์บอนิกมากแค่ไหนถึงจะไม่เป็นอันตราย แต่อย่างที่เรารู้ ว่ากรดคาร์บอนิกนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นจึงไม่ควรทานมากเกินไปอย่างการดื่มโซดาแทนน้ำ และถ้าจะให้ดี ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลมบ่อยๆ จะดีกว่า


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Are acidic foods harmful to health?. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/322557)
How Acidic Is Carbonic Acid?. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5747581/)
Carbonic acid | CH2O3. U.S. National Library of Medicine National Center for Biotechnology Information. (https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Carbonic-acid)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)