พุทธรักษา (Cannas)

รวมสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อ ที่มีสรรพคุณมากมาย
เผยแพร่ครั้งแรก 10 มี.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
พุทธรักษา (Cannas)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ดอกพุทธรักษา (Cannas) เป็นสัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ เพราะมีสีเหลืองสดสวยงามและชื่อเป็นมงคล หมายถึงพระพุทธเจ้าปกป้องคุ้มครอง
  • ต้นพุทธรักษามีมากกว่า 20 สายพันธุ์ นิยมปลูกหลายประเทศ เนื่องจากเติบโตได้ง่ายในหลายสภาพอากาศ
  • ส่วนดอก ใบ และลำต้นเหง้าใต้ดิน สามารถใช้เป็นสมุนไพรแก้อาการไอ ไอเป็นเลือด บำรุงปอด แก้ท้องเสีย และปรับสมดุลประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • พุทธรักษาจากบางแหล่งอาจมีสารพิษยาฆ่าแมลงหลงเหลืออยู่ จึงควรระวังแหล่งที่มาหรือเลือกปลูกเพื่อความสวยงามเท่านั้น
  • หากคุณเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพ ควรตรวจสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญมากกว่าหาอะไรกินด้วยตัวเอง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

ดอกพุทธรักษา เป็นสัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติหลังจากมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เนื่องจากดอกพุทธรักษามีสีเหลืองสดและชื่อมีความหมายเป็นมงคล

เชื่อกันว่าหมายถึงพระพุทธเจ้าปกป้องรักษาให้ปลอดภัย นอกจากนี้พุทธรักษายังมีเรื่องน่ารู้อีกมากมายที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้

ทำความรู้จักพุทธรักษา

พุทธรักษา (Cannas) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Canna indica L. แต่ในประเทศไทยมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อนอกจากพุทธรักษา ดังนี้

  • พุทธสร
  • ปล้ะย่ะ
  • บัวละวง

นอกจากนี้บางประเทศยังเรียกพุทธรักษาว่า แคนนาลิลี (Canna lily) หรือ อินเดียนช็อต (Indian shot) อีกด้วย พุทธรักษาเป็นพืชในตระกูลเดียวกับ Cannaceae

ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของพุทธรักษายังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามาจากหมู่เกาะอินดีสตะวันตก (West indies) แถบอเมริกาใต้ เดิมทีพุทธรักษามีด้วยกันกว่า 20 ชนิด

ปัจจุบันมีการผสมข้ามสายพันธุ์ขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ทนต่อสภาพอากาศที่แตกต่างกัน จึงทำให้พุทธรักษาได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย

พุทธรักษามักขึ้นอยู่ตามบึงน้ำ ตามสวนป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง และพื้นที่ที่มีดินร่วนปนทรายจะยิ่งเติบโตได้เร็ว คนไทยนิยมนำมาปลูกในกระถางเพื่อความสวยงาม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พุทธรักษาเป็นพืชล้มลุก มีล้ำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเหง้า (Rhizome) อาจสูงประมาณ 1 เมตร ด้านในมีสีเหลืองอมขาว ด้านนอกอาจมีสีชมพู แต่เมื่อเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ลำต้นใต้ดินจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ส่วนใบอาจยาวได้ตั้งแต่ 10-30 เซนติเมตร รูปทรงรี แหลม เมื่อสัมผัสจะเป็นลายคลื่นน้อยๆ หยาบ แข็ง ขอบใบเรียบ และปลายแหลม สีของใบมีตั้งแต่สีเขียวเข้มไปจนถึงเขียวอ่อน และสีเหลือง

ดอกของพุทธรักษามีหลายสี ได้แก่ สีขาวล้วน สีโอลด์โรส สีแดงล้วน สีเหลืองล้วน แดงปนจุดเหลือง และเหลืองปนจุดแดง ดอกจะขึ้นเป็นช่อยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อละ 8-10 ดอก ในแต่ละดอกจะมีประมาณ 6-8 กลีบ

แบ่งเป็นกลีบก่อนกลีบเลี้ยง 1 กลีบ ยาว 1-2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงอีก 3 กลีบ สีเขียวอ่อนมีปลายสีแดงลักษณะเป็นแท่งยาวกลีบละ 1 เซนติเมตร

และกลีบดอกอีก 3-5 กลีบ ซึ่งเป็นเกสรตัวผู้แบบเป็นหมัน จึงเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นกลีบแทน กลีบเลี้ยงนี้เองที่เป็นกลีบสีสันฉูดฉาดอย่างที่เราเห็นกัน

เกสรตัวผู้ที่เป็นกลีบนี้ จะเชื่อมต่อกับเกสรปกติและเกสรตัวเมีย รังไข่มีทรงกลมอยู่บริเวณใต้กลีบเลี้ยงทั้ง 3 ใบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ผลของพุทธรักษาเป็นทรงกลมสีเขียวขนดก แต่เมื่อแก่จะค่อยๆ กลายเป็นสีน้ำตาล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร

พุทธรักษาชอบแดดปานกลางถึงแดดจัด ดินร่วนปนทราย และเติบโตได้ยากในดินเหนียวเนื่องจากไม่ทนต่อน้ำขัง แต่สามารถโตในพื้นที่ระบายน้ำได้ดีและมีน้ำชุ่ม

สรรพคุณของพุทธรักษา

พุทธรักษาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วนของต้น ดังนี้

1. ส่วนลำต้นของพุทธรักษา (เหง้า)

สามารถขุดขึ้นมาได้ตลอดทั้งปี ตัดใบและส่วนที่เป็นรากฝอยๆ ออก จากนั้นล้างให้สะอาด นำมาต้มน้ำดื่มเป็นสมุนไพร มีสรรพคุณดังนี้

  • ช่วยรักษาโรคตับอักเสบตัวเหลืองได้
  • ช่วยแก้โรคบิดเรื้อรัง
  • ช่วยปรับสมดุลสำหรับสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • แก้ไอและไอเป็นเลือด
  • แก้วัณโรค บำรุงปอด
  • สามารถนำมาประกอบอาหารได้ เนื่องจากเหง้าของพุทธรักษามีแป้งเป็นจำนวนมาก

2. ส่วนดอกและใบของพุทธรักษา

ดอกและใบของพุทธรักษามีสรรพคุณรวมถึงวิธีใช้ ดังนี้

  • นำดอกพุทธรักษามาตำสด ใช้พอกแผลห้ามเลือดได้
  • นำใบมาเป็นส่วนในการปรุงยาแก้ไอได้
  • นำใบไปใช้ห่อข้าวกิน แก้อาการจุกเสียด ท้องเสีย

3. เมล็ดของพุทธรักษา

เมล็ดของพุทธรักษาสามารถนำไปผลิตเป็นยาโดยชงด้วยน้ำร้อน เพื่อแก้อาการไอ เจ็บคอจากหวัด

ข้อควรระวังของพุทธรักษา

แม้พุทธรักษาจะมีสรรพคุณมากมาย แต่กระบวนการปลูกต้นพุทธรักษาจากบางแหล่งอาจมีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารพิษ ซึ่งสารบางชนิดไม่อาจล้างออกให้หมดได้

พุทธรักษาจึงเหมาะแก่การเป็นไม้ประดับบ้านเรือนเพื่อทัศนียภาพที่สวยงามมากกว่า

ดูแพ็กเกจ ตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, CANNACEAE Canna indica L., (http://www.medplant.mahidol.ac.th/pharm/botanic.asp?bc=0461&kw=%BE%D8%B7%B8%C3%D1%A1%C9%D2*).
สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย, พุทธรักษา (พุทธรักษาวันพ่อแห่งชาติ), (http://hsst.or.th/articles-flowering-and-ornamental-plants-th/canna-indica-l/).
ภก. ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ, พุทธรักษา, (https://www.doctor.or.th/article/detail/5479), 1 กุมภาพันธ์ 2523.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)