พญ. ศศิวิมล จันทรศรี จักษุแพทย์
เขียนโดย
พญ. ศศิวิมล จันทรศรี จักษุแพทย์

ตาโปน สาเหตุ และการรักษา

ตาโปนเป็นภาวะที่ลูกตายื่นออกมาจากกระดูกเบ้าตามากกว่าปกติ ดูคล้ายคนตกใจหรือแปลกใจอยู่ตลอดเวลา
เผยแพร่ครั้งแรก 17 เม.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ตาโปน สาเหตุ และการรักษา

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • หากเปลือกตาบนเปิดสูงเกินขอบกระจกตาด้านบน จนมองเห็นตาขาวด้านบนตลอดเวลา หรือขอบตาด้านล่างเปิดกว้างจนเห็นตาขาวด้านล่างตลอดเวลา ถือว่ามีภาวะตาโปน
  • อาการตาโปนเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตาอักเสบหรือติดเชื้อ มะเร็ง เนื้อเยื่อในเบ้าตาผิดปกติ เนื้องอกของเส้นเลือด
  • ภาวะตาโปนที่พบบ่อยที่สุด มักเกี่ยวข้องกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นภาวะตาโปนข้างเดียวหรือตาโปนทั้งสองข้าง และยังมีอาการผิดปกติทางตาอย่างอื่นซึ่งเป็นอันตรายร่วมด้วย
  • อาการที่คุกคามและเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นมากที่สุดคือ ตามัวเนื่องจากเส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง หากให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบทำการผ่าตัดขยายกระดูกเบ้าตาภายใน 1-2 สัปดาห์ (ดูแพ็กเกจ ตรวจสุขตา ที่นี่)

ตาโปนเป็นภาวะที่ลูกตายื่นออกมาจากกระดูกเบ้าตามากกว่าปกติ เราจะสังเกตคนตาโปนได้ง่ายเพราะคนเหล่านี้จะมีเปลือกตายกสูง ทำให้เห็นลูกตาเบิกกว้างมองเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ดูคล้ายคนตกใจหรือแปลกใจอยู่ตลอดเวลา

บางคนที่มีภาวะตาโปนแต่เป็นปกติ เกิดจากลักษณะทางกรรมพันธุ์ในบางครอบครัว หรือผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ เช่น สายตาสั้นเป็น 1000 เพราะคนที่สายตาสั้นมากลูกตามักจะมีขนาดใหญ่ หากเบ้าตาเล็กตาจะโปนออกมาจนเห็นได้ชัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ลักษณะ ตาโปน ที่ผิดปกติ

จะดูว่าอาการตาโปนนั้นผิดปกติหรือไม่ มีข้อสังเกตดังนี้

1. สังเกตในท่ามองตรง

สังเกตตรงขอบเปลือกตา เปลือกตาบนจะตกลงมาปิดกระจกตาประมาณ 2 มิลลิเมตร แต่เปลือกตาล่างจะแตะอยู่ตรงขอบกระจกตาด้านล่างพอดี ดูง่ายๆ ว่าดวงตาปกติจะเห็นตาขาวแค่ 2 ด้านหรือด้านหัวตาและหางตาเท่านั้น

หากดวงตาของใคร เปลือกตาบนเปิดสูงเกินขอบกระจกตาด้านบน จนมองเห็นตาขาวด้านบนเหนือขอบตาดำ โดยเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา หรือขอบตาด้านล่างเปิดกว้างจนเห็นตาขาวด้านล่างร่วมด้วย ถือว่ามีภาวะตาโปน

แต่หากเห็นแต่ตาขาวด้านล่างอย่างเดียว อาจไม่ใช่ตาโปน แต่อาจเกิดจากเปลือกตาหย่อนมากก็ได้ กรณีนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ แนะนำให้ลองส่องกระจกดูดวงตาของคุณเองจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น

2. สังเกตจากด้านข้าง

จะเห็นดวงตายื่นโผล่ออกมาจากกระบอกตา และหากมีตาข้างหนึ่งยื่นออกมามากกว่าอีกข้างตั้งแต่ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นไป ถือว่ามีอาการตาโปนอย่างมีนัยสำคัญ

หากอาการตาโปนเป็นลักษณะปกติทางพันธุกรรมย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษา แต่คนไข้ควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุของตาโปนที่แน่ชัดเสียก่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการตาโปนที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันภายในเวลาไม่กี่วัน มักจะมีอาการปวดหรือตามัวจนน่าตกใจ คนไข้ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ในรายที่ตาโปนออกมาทีละทีละน้อยจะสังเกตได้ยาก อาจต้องนำรูปถ่ายของปีก่อนๆ มาเปรียบเทียบเพื่อสังเกตความแตกต่าง

ปัญหาตาโปนนอกจากมีผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนเรื่องความสวยงาม ยังทำให้เกิดภาวะตาแห้งเรื้อรัง ตามมาด้วย เช่น กระจกตาอักเสบเป็นแผล จนถึงติดเชื้อที่กระจกตาได้

สาเหตุของอาการตาโปน

ก่อนจะทราบถึงสาเหตุของอาการตาโปน ควรทำความเข้าใจเรื่องส่วนประกอบของดวงตาเสียก่อน

ดวงตาของคนเราอยู่ในเบ้าตา ซึ่งเป็นทรงกรวย ประกอบขึ้นจากกระดูกใบหน้า ทำหน้าที่ป้องกันดวงตาที่เป็นอวัยวะมิให้ถูกกระแทกจากด้านข้าง ภายในเบ้าตามิได้มีแค่เพียงดวงตาเท่านั้น แต่ยังมีไขมัน เส้นเลือด ท่อน้ำเหลือง เส้นประสาทตา กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ให้ดวงตากลอกไปมาและเยื่อบุตา บรรจุอยู่ด้วย

ส่วนด้านหน้ามีเปลือกตาหรือหนังตาทำหน้าที่ปกป้องดวงตา เปลือกตาจะไม่เปิดกว้างตลอดเวลา แต่จะมีการกะพริบตาเป็นระยะเพื่อเกลี่ยน้ำตาให้ไปเคลือบดวงตาให้ทั่ว เวลาเรานอนหลับเปลือกตาก็จะปิดสนิท เพื่อปกป้องดวงตาและป้องกันมิให้น้ำตาระเหยไป

อาการตาโปนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

1. เกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อ

สาเหตุพบบ่อยที่สุดได้แก่

  1. ไทรอยด์ขึ้นตา (Thyroid Orbitopathy) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการตาโปน เกิดขึ้นช้าๆ ในระยะเวลาเป็นเดือนๆ
  2. การอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุของเนื้อเยื่อภายในเบ้าตา (Idiopathic Orbital Inflammation: IOI) เป็นสาเหตุที่ตาโปน หนังตาตก และมีอาการปวดภายในเบ้าตาอย่างรุนแรงในเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ ส่วนใหญ่จะเป็นตาเดียว
  3. การติดเชื้อภายในเบ้าตา (Orbital Cellulitis) ส่วนใหญ่เชื้อจะกระจายมาจากการมีไซนัสอักเสบ อาการปวดตา ตาโปน มักเกิดอย่างรวดเร็วในเวลาเป็นวัน ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน

2. มะเร็ง

ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

3. เนื้อเยื่อภายในเบ้าตาผิดปกติ

เนื้อเยื่อภายในเบ้าตาที่ผิดปกติ ได้แก่ เนื้องอกชนิด Dermoid ถุงน้ำ Mucocele มักเป็นมานานหลายเดือนหรือเป็นปีจึงออกอาการตาโปน

4. เนื้องอกของเส้นเลือด

เช่น เนื้องอกของหลอดเลือดบริเวณดวงตา (Hemangioma), เนื้องอกของท่อน้ำเหลืองภายในเบ้าตา (Lymphangioma)

การวินิจฉัยสาเหตุของอาการตาโปน

การส่งตรวจที่สำคัญนอกเหนือจากการเจาะเลือดตรวจระดับไทรอยด์ ได้แก่ การส่ง CT Scan และฉีดสี หรือ MRI ของเบ้าตา และไซนัส

โรคทางตา อาการตาโปน อันเกิดจากต่อมไทรอยด์ (Thyroid eye disease)

ภาวะตาโปนที่พบบ่อยที่สุด มักเกี่ยวข้องกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นภาวะตาโปนข้างเดียวหรือตาโปนทั้งสองข้าง และยังมีอาการผิดปกติทางตาอย่างอื่นซึ่งเป็นอันตรายร่วมด้วย

ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากการผลิตฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ มีสาเหตุจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติไปจับต่อมไทรอยด์ และกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินความต้องการ

โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีถึงอายุประมาณ 50 ปี มีอาการน้ำหนักลดถึงแม้จะรับประทานอาหารมาก ถ่ายบ่อย เหงื่อออกมาก ทนความร้อนไม่ได้ กระวนกระวายใจสั่น อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย อาจจะมีภาวะคอพอกด้วยหรือไม่ก็ได้ ผลการเจาะเลือดฮอร์โมน TSH อาจจะต่ำหรือปกติก็ได้

การรักษาแพทย์จะเริ่มต้นด้วยการใช้ยา การใช้รังสีรักษาเพื่อการลดการทำงานของต่อมไทรอยด์หรือตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษเกิดความผิดปกติทางตาได้แก่ การสูบบุหรี่ ยิ่งสูบบุหรี่จำนวนมวนต่อวันมากความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติจะไปจับกับเนื้อเยื่อรอบดวงตาได้แก่ กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่กลอกตา เนื้อเยื่อรอบๆ ดวงตา เนื้อเยื่อไขมันที่อยู่ภายในเบ้าตา และต่อมน้ำตา

ทำให้เนื้อเยื่อเหล่านี้บวมโตขึ้นจนคับเบ้าตา ลูกตาซึ่งอยู่ในเบ้าตาถูกเนื้อเยื่อรอบๆ ที่บวมโตขึ้นดันจนปูดทำให้ตาโปนออกมาด้านหน้า

อาการทางตาอันเกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อรอบดวงตา

ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง เพราะเส้นเลือดขยายตัวมาก น้ำตาไหล มีอาการแพ้แสง เปลือกตาบวม และปวดในบริเวณเบ้าตา

2. เปลือกตาเปิดกว้าง (Lid retraction)

อาการนี้พบในคนไข้กว่า 50% ขอบเปลือกตาบนจะเปิดยกขึ้นสูงจนเห็นตาขาวด้านบน หากเพ่งตาหรือตั้งใจมอง เปลือกตาจะยิ่งเบิกกว้างค้างจนดูเหมือนถลึงตาเวลาโกรธ หรือดูคล้ายตกใจมากอยู่ตลอดเวลา

ในเวลาที่เหลือบมองลงล่าง เปลือกตาบนจะเปิดค้างอยู่อย่างนั้นไม่เคลื่อนลงมาตามดวงตา (Lid Lag)

3. ตาโปน (Exophthalmos)

อาจตาโปนออกมาตรงๆ หรือเฉไปข้างใดข้างหนึ่ง ส่งผลให้ตาแห้งเพราะเปลือกตาไม่สามารถคลุมดวงตาได้สนิท หากโปนมาก กระจกตาอาจเป็นแผลหรือติดเชื้อได้

4. กล้ามเนื้อตายึด (Eye muscles restriction)

ทำให้ไม่สามารถกลอกตาไปมองทิศทางต่างๆ ได้ตามต้องการ อาการนี้เกิดในคนไข้ 30% - 50%

ในช่วงแรกสาเหตุที่กล้ามเนื้อตายึดเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ในระยะยาวจะกลายเป็นพังผืดทำให้กลอกตาไม่ได้ ทำให้ตาเขหรือมองเห็นเป็นภาพซ้อน แม้อาการไทรอยด์เป็นพิษสงบแล้วก็อาจเป็นถาวร ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา

5. เส้นประสาทตาถูกเนื้อเยื่ออื่นในเบ้าตาบีบกด

อาการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่ในเบ้าตามีปริมาตรจำกัด ทำให้เนื้อเยื่อที่บวมขึ้นไปกดทับเส้นประสาทในเบ้าตา ส่งผลให้เส้นประสาทตาขาดเลือด ตามัวลง หากรักษาไม่ทันอาจสูญเสียการมองเห็น

ความรุนแรงของโรคทางตาที่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์

โรคทางตาที่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์แบ่งความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับดังนี้

ระดับความรุนแรงน้อย

อาการตาโปนเล็กน้อย ตาแห้ง ส่งผลกระทบไม่มากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ระดับปานกลางถึงเริ่มรุนแรง

เนื้อเยื่อรอบดวงตาบวมอักเสบมาก หรือเปลือกตาบนเปิดกว้างกว่าปกติเกิน 2-3 มิลลิเมตร ส่งผลให้เห็นภาพซ้อน

ระดับรุนแรงที่สุด

เส้นประสาทตาถูกกดทับ หรือกระจกตาเสียหาย เป็นระดับที่คุกคามต่อการมองเห็น

การรักษาอาการตาโปนอันเกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

จะใช้วิธีใดบ้างขึ้นกับระดับความรุนแรงและปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไข้แต่ละราย แพทย์จำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะ แม้จะคุมระดับไทรอยด์ได้ดี แต่อาการตาโปนและอาการทางตาอื่นๆ อาจรุนแรงขึ้นก็ได้

คำแนะนำสำหรับคนไข้ทุกราย

สำหรับผู้ที่มีอาการตาโปนระดับความรุนแรงน้อย ถึงปานกลางควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  1. งดสูบบุหรี่
  2. ใช้น้ำตาเทียม เพื่อให้สบายตาขึ้น ลดอาการตามัว อาการแสบตาเคืองตาเพราะตาแห้ง ในเวลานอนหลับตาปิดไม่สนิท ควรใช้น้ำตาเทียมชนิดเหนียวเป็นเจลหรือขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรืออาจใช้พลาสเตอร์ดึงหนังตาลงมาชนกัน ป้องกันมิให้น้ำตาระเหย
  3. ใช้ยาควบคุมระดับไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติ แล้วอาการตาโปนจะค่อยๆ ลดลง โดยใช้เวลาเป็นปี

ในรายที่อาการไม่รุนแรง หากรูปลักษณ์ของดวงตาไม่เป็นไปตามต้องการ มีปัญหาต่อการดำเนินชีวิต หรือขาดความมั่นใจจากการถูกทักบ่อยๆ จึงจะมาพิจารณาเรื่องการทำผ่าตัดเมื่อโรคสงบแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

การรักษาอาการตาโปนด้วยการผ่าตัด

สำหรับการรักษาอาการตาโปนด้วยการผ่านตัด แพทย์จะพิจารณาตามเหมาะสม

  1. การผ่าตัดขยายกระดูกเบ้าตา (Orbital decompression) เพื่อเพิ่มปริมาตรของเบ้าตาให้สามารถดันลูกตากลับไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้
  2. ผ่าตัดกล้ามเนื้อตาแก้ตาเข ลดอาการเห็นภาพซ้อนและเพื่อรูปลักษณ์ที่ดี
  3. ผ่าตัดหนังตาที่เปิดกว้างให้ลงมาอยู่ในระดับเหมาะสม

หากระหว่างการติดตามผลการรักษา โรคเริ่มมีความรุนแรงขึ้นมาเป็นระดับปานกลาง อาจจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์ทางเส้นเลือดหรือให้ยากินเป็นระยะเวลาหนึ่ง

ในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของการให้ยาประเภทสเตียรอยด์ ลดยาไม่ได้ หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังให้ยา แพทย์อาจพิจารณาใช้รังสีรักษาบริเวณเบ้าตา (Orbital radiology)

อาการที่คุกคามและเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นมากที่สุดคือ ตามัว เนื่องจากเส้นประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะถูกเนื้อเยื่อรอบๆ กดทับ ถือเป็นภาวะเร่งด่วนต้องรีบให้ยาประเภทสเตียรอยด์ทางเส้นเลือด แต่หากให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบทำการผ่าตัดขยายกระดูกเบ้าตาภายใน 1-2 สัปดาห์

ดูแพ็กเกจ ตรวจตา เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ขยายม่านตา ตรวจสุขภาพตาเพื่ออะไร? ตรวจอะไรบ้าง?, (https://hdmall.co.th/c/eye-screening-program).
Parson’s disease of eyes, 22nd edition, Reed Elsevier India Private Limited, 2015.
Kanski, Clinical Ophthalmology, 8th edition, Elsevier Limited, 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ขี้ตาเยอะ ในโรคภูมิแพ้
ขี้ตาเยอะ ในโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้มีขี้ตาเยอะ ขี้ตาของโรคในกลุ่มนี้ ลักษณะมักจะเป็นสีขาว ลักษณะยืดๆ เป็นเส้นหรือเป็นเมือก

อ่านเพิ่ม