รอยฟกช้ำ (Bruising/ Contusion)

รอยฟกช้ำ อาจเกิดจากโรคร้ายชนิดต่างๆ ได้ หากพบรอยช้ำบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ร่วมกับอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่เกิดขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 24 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รอยฟกช้ำ (Bruising/ Contusion)

รอยฟกช้ำสีดำหรือสีน้ำเงินจะปรากฏบนผิวหนังเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บ เช่น โดนมีดบาด หรือโดนทุบบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย ทำให้เส้นเลือดฝอยแตก เลือดจึงไหลมารวมอยู่ใต้ผิวหนังซึ่งจะทำให้เกิดรอยช้ำขึ้น

รอยฟกช้ำเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย และอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่ารอยฟกช้ำจะเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ค่อนข้างบ่อย แต่ถ้าหากมีอาการปวดอย่างรุนแรง และมีอาการอื่นร่วมอยู่ด้วย ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

รอยฟกซ้ำสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิด ได้แก่

  • รอยฟกช้ำใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Bruises) : เกิดขึ้นในชั้นไขมันและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
  • รอยฟกช้ำชั้นกล้ามเนื้อ (Intramuscular Bruises) : เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง
  • รอยฟกช้ำเยื่อหุ้มกระดูก (Periosteal Bruises) : เกิดขึ้นบนกระดูก

อาการของรอยฟกช้ำ

อาการของรอยฟกช้ำจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการฟกช้ำ เมื่อเกิดรอยฟกช้ำขึ้น ผิวหนังจะเปลี่ยนสีเป็นอาการแรก โดยปกติจะเกิดเป็นรอยดำหรือรอยช้ำสีน้ำเงิน เมื่อกดลงไปบนรอยช้ำจะรู้สึกเจ็บ แต่ในบางครั้งรอยช้ำก็อาจมีสีอื่น เช่น

  • สีแดง
  • สีเขียว
  • สีม่วง
  • สีน้ำตาล
  • สีเหลือง : มักจะเป็นสีที่ปรากฏขึ้นช่วงที่รอยฟกช้ำเริ่มหายเป็นปกติ

เมื่อรอยช้ำหายสนิท ผิวหนังจะเปลี่ยนสีกลับมาเป็นปกติ และอาการกดเจ็บจะหายไป แต่ถ้าหากพบรอยช้ำร่วมกับอาการเหล่านี้ ก็ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อรับประทานยาแอสไพริน หรือยาละลายลิ่มเลือด แล้วมีรอยช้ำเกิดมากขึ้น
  • มีอาการบวมและปวดในแผลฟกช้ำ
  • รอยช้ำที่เกิดจากการตกจากที่สูง หกล้ม หรือโดนกระแทกอย่างแรง
  • รอยช้ำที่คาดว่ามีกระดูกหักร่วมด้วย
  • รอยช้ำที่ไม่ทราบสาเหตุ และเกิดขึ้นตำแหน่งเดิมซ้ำๆ
  • รอยช้ำที่ไม่หายดีใน 4 สัปดาห์
  • รอยช้ำใต้เล็บและมีอาการเจ็บปวด
  • รอยช้ำร่วมกับเลือดไหลจากไรฟัน จมูก หรือปาก
  • รอยช้ำร่วมกับมีเลือดปนในปัสสาวะ อุจจาระ หรือเลือดออกตา
  • รอยฟกช้ำสีดำในบริเวณขาของคุณ : อาจเกิดจากโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึก (DVT) ซึ่งเป็นการก่อตัวของลิ่มเลือดที่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุของรอยฟกช้ำ

รอยฟกช้ำส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บของร่างกาย ซึ่งบางสาเหตุสามารถพบได้บ่อย ได้แก่

  • การบาดเจ็บจากกีฬา
  • สมองกระทบกระแทก (Concussion) : อาการบาดเจ็บของสมองชนิดไม่รุนแรงซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่ศีรษะคุณถูกกระแทกหรือภายหลังจากได้รับการบาดเจ็บแบบวิพแลช (Whiplash-Type Injury)
  • โรคเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) : ผู้ป่วยมีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ อาจพบรอยฟกช้ำร่วมกับอาการเลือดออกในที่ต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดปนในอุจจาระ เป็นต้น
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย (Leukemia) : เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเกิดการเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ อาจพบอาการปวดกระดูก กดเจ็บตามร่างกาย อ่อนเพลีบ น้ำหนักลดร่วมอยู่ด้วย
  • โรควอนวิลลิแบรนด์ (Von Willebrand Disease) : ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด โดยผู้ป่วยจะขาดสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดที่ชื่อว่า Von Willebrand factor (VWF)
  • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ : เช่น สมองกระทบกระแทก กระดูกกะโหลกศีรษะแตกร้าว และบาดแผลที่หนังศีรษะ กรณีนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
  • ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain) : อาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อแข็งหรือเอ็นที่ทำหน้าที่พยุงและเชื่อมกระดูกของขาเข้ากับเท้า จะพบรอยฟกช้ำที่ข้อเท้า ร่วมกับอาการบวมและขยับข้อเท้าไม่ได้
  • กล้ามเนื้อฉีกขาด (Muscle Strains) : กล้ามเนื้อถูกยืดหรือฉีกขาดจากการใช้งานเกินขอบเขต ใช้งานหนัก หรือได้รับบาดเจ็บ จะรู้สึกปวด บวม ขยับกล้ามเนื้อไม่สะดวกร่วมอยู่ด้วย
  • โรคฮีโมฟีเลยชนิดเอ (Hemophilia A) : ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้ผู้ป่วยมีระดับโปรตีนซึ่งเรียกว่าปัจจัยการแข็งตัวของเลือดอยู่ในระดับต่ำ หรือไม่มีเลย
  • โรคฮีโมฟีเลียชนิดบี (Hemophilia B) : ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก ทำให้ผู้ป่วยมีระดับปัจจัยการแข็งตัวของเลือดชนิด X อยู่ในระดับต่ำ หรือไม่มีเลย และทำให้เลือดไม่สามารถแข็งตัวได้ปกติเช่นกัน
  • โรคเลือดไหลไม่หยุดจากการขาดปัจจัย VII (Factor VII Deficiency) : ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตปัจจัยการแข็งตัวของเลือดชนิด VII ได้ หรือมีภาวะบางอย่างขัดขวางการผลิตปัจจัยดังกล่าว เช่น ความผิดปกติทางการแพทย์หรือการได้รับยาบางชนิด
  • โรคเลือดไหลไม่หยุดจากการขาดปัจจัย X (Factor X Deficiency) : การขาดปัจจัยแข็งตัวของเลือดชนิด X หรือ Stuart-Prower Factor เป็นภาวะที่ร่างกายไม่มีการผลิต หรือมีระดับของปัจจัยการแข็งตัวของเลือดดังกล่าวไม่เพียงพอ
  • โรคเลือดไหลไม่หยุดจากการขาดปัจจัย V (Factor V Deficiency) : เกิดจากการขาดปัจจัยแข็งตัวของเลือดชนิด V หรือ Proaccelerin ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกลไกการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ อาจเกิดจากการได้รับยาบางชนิด ภาวะความผิดปกติทางการแพทย์ หรือปฏิกิริยาแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Reaction)
  • โรคเลือดไหลไม่หยุดจากการขาดปัจจัย II (Factor II Deficiency) : สาเหตุเกิดจากการขาดปัจจัยแข็งตัวของเลือดชนิด II หรือชื่อว่า Prothrombin ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกลไกการแข็งตัวของเลือดเช่นกัน
  • เส้นเลือดขอด (Varicose Vein) : เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้อย่างถูกต้อง ทำให้หลอดเลือดขยายตัวใหญ่ขึ้น บวมพอง และเต็มล้นไปด้วยเลือดที่ค้างอยู่ มักเกิดขึ้นที่ขา
  • ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) : ถือเป็นภาวะร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากลิ่มเลือดเริ่มก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดดำส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในร่างกาย โรคนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน

หากคุณมีแผลฟกช้ำเกิดใหม่และมีหนองหรือของเหลวหรือเลือดไหลออกจากแผล อาจเป็นไปได้ว่าเกิดการติดเชื้อขึ้น

วิธีการรักษารอยฟกช้ำ

คุณสามารถรักษารอยฟกช้ำด้วยตนเองที่บ้าน ตามวิธีดังต่อไปนี้

  • ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม : นำน้ำแข็งห่อไว้ในผ้าและหลีกเลี่ยงการวางน้ำแข็งลงบนผิวหนังที่มีรอยช้ำโดยตรง ประคบเย็นบนรอยช้ำเป็นเวลา 15 นาที ทำซ้ำทุก ๆ ชั่วโมงตามต้องการ
  • ไม่ใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่มีรอยช้ำ
  • ยกบริเวณที่ช้ำขึ้นเหนือหัวใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไปกองที่เนื้อเยื่อนั้น
  • รับประทานยาแก้ปวด กรณีนี้ให้เลือกรับประทานพาราเซตามอล เพราะแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนอาจทำให้เลือดออกเพิ่มขึ้น
  • สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเพื่อปกป้องรอยฟกช้ำที่แขนและขาของคุณ

ที่มาของข้อมูล

April Kahn and Kristeen Cherney, What causes these black and blue marks? (https://www.healthline.com/health/bruise), July 24, 2017.


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bruises: Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment, Remedies, Prevention. WebMD. (https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/bruises-article)
What Is a Contusion? Bone Contusions, Muscle Contusions, and Causes. Healthline. (https://www.healthline.com/health/what-is-a-contusion)
What is a contusion (bruise)? Bones, muscles, and more. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324266)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)