กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

การได้ยิน

ทำความรู้จักกระบวนการได้ยิน ประกอบด้วยอวัยวะอะไรบ้าง และมีวิธีการดูแลอย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
การได้ยิน

หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้คนเราได้ยินเสียงต่างๆ และเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกายขณะร่างกายเคลื่อนไหวอีกด้วย

กระบวนการได้ยิน เริ่มจากคลื่นเสียงเดินทางผ่านอากาศเข้าสู่หูชั้นนอก ไปสู่หูชั้นกลาง ระหว่างนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นแรงสั่นสะเทือนโดยกระดูกหูที่เรียงตัวกันอยู่ หลังจากนั้นแรงสั่นสะเทือนก็จะผ่านของเหลวภายในหูชั้นใน แล้วถูกแปรเป็นสัญญาณประสาทไฟฟ้าส่งไปแปลความหมายโดยตรงที่สมอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ส่วนประกอบของหู

หูแต่ละข้างแบ่งออกเป็น 3 ชั้นคือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน

หูชั้นนอก

  • ใบหู เป็นกระดูกอ่อนที่หุ้มด้วยผิวหนังบางๆ ทำหน้าที่ดักและรับเสียงเข้าสู่รูหู
  • รูหู เป็นท่อคดเคี้ยวเล็กน้อย ลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผนังของรูหูบุด้วยเยื่อบาง ซึ่งภายใต้เยื่ออ่อนนี้จะมีต่อมน้ำมันจำนวนมาก ทำหน้าที่ขับไขมันเหนียวและเหลวมาหล่อเลี้ยงรูหู ไขมันเหล่านี้เมื่อรวมกับสิ่งสกปรกต่างๆ ก็จะกลายเป็นขี้หู ซึ่งจะช่วยป้องกันสิ่งแปลงปลอมที่เข้ามาทางรูหูไม่ให้เข้าถึงเยื่อแก้วหูได้ง่ายนั่นเอง
  • เยื่อแก้วหู เป็นเยื่อบางๆ อยู่ลึกเข้าไปในส่วนของรูหู กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงที่เดินทางเข้ามาทางรูหู

หูชั้นกลาง

  • หูชั้นกลางจะอยู่ถัดจากเยื่อแก้วหู มีลักษณะเป็นโพรงอากาศบรรจุกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้นติดต่อกัน คือ กระดูกค้อนอยู่ติดกับเยื่อแก้วหู กระดูกทั่งอยู่ตรงกลาง และกระดูกโกลนอยู่ติดกับหูชั้นใน
  • ส่วนล่างของโพรงอากาศตอนปลายของหูชั้นกลางจะมีท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องอากาศแคบๆ และยาวต่อไปถึงคอ ทำหน้าที่ปรับความกดอากาศข้างในและข้างนอกหูให้มีความสมดุลกัน ทำให้เราไม่ปวดหูเวลาอากาศเข้าไปกระทบแก้วหูขณะที่มีการหายใจ หรือขณะกลืนอาหาร

หูชั้นใน

  • หูชั้นในอยู่ถัดจากกระดูกโกลนเข้ามา ประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ 2 ส่วนคือ ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง และส่วนที่ควบคุมการทรงตัว
  • ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ที่ขดเป็นวงซ้อนกันอยู่หลายชั้นคล้ายหอยโข่ง ภายในมีท่อของเหลวบรรจุอยู่ ตามผนังด้านในของท่อมีอวัยวะรับเสียงอยู่ทั่วไป
  • ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว มีลักษณะเป็นรูปท่อโค้งครึ่งวงกลมเล็กๆ 3 วง เรียงติดต่อกันตั้งฉากกับผนังภายใน ปลายของครึ่งวงกลมทั้ง 3 นั้นอยู่ติดกัน ท่อครึ่งวงกลมทั้ง 3 จะบุด้วยเนื้อเยื่อบางๆ ที่มีประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวกระจายอยู่

กระบวนการได้ยินกับอวัยวะภายในหู

  • เสียงที่เกิดขึ้นทุกชนิดมีลักษณะเป็นคลื่นเสียง
  • ใบหูจะรับคลื่นเสียงเข้าสู่รูหูไปกระทบเยื่อแก้วหู (หูชั้นนอก)
  • เยื่อแก้วหูถ่ายทอดความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงไปยังกระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโคลน (หูชั้นกลาง)
  • หลังจากนั้นจะส่งคลื่นสั่นสะเทือนไปยังท่อรูปครึ่งวงกลม ต่อไปยังของเหลวในท่อรูปหอยโข่ง และประสาทรับเสียง (หูชั้นใน)
  • ประสาทรับเสียงจะถูกกระตุ้นแล้วส่งความรู้สึกไปสู่สมองเพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน

โรคและความผิดปกติของหู

หูเป็นอวัยวะที่บอบบางและมีลักษณะเป็นช่องเปิดจากภายนอกเข้าไปจึงอาจทำให้เป็นโรคหรือเกิดอาการผิดปกติขึ้นในส่วนต่างๆ ของหูได้ง่าย โรคของหูที่พบได้บ่อย คือ หูน้ำหนวก แก้วหูทะลุ และเชื้อราในช่องหู

การดูแลรักษาหู

หูเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้หูได้รับอันตรายจากเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งสกปรกต่างๆ ควรปฏิบัติดังนี้

  • ไม่ควรแคะขี้หูด้วยวัตถุแข็ง เช่น ไม้ โลหะ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อหูได้ ปกติแล้วขี้หูจะถูกดันออกมาเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องแคะ การเช็ดทำความสะอาดรอบนอกก็เพียงพอแล้ว
  • เวลาเป็นหวัดไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะจะทำให้เกิดแรงอัดดันเชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลางได้
  • หลีกเลี่ยงการฟังเสียงที่ดังเกินไป เช่น เสียงปืน เสียงพลุ หรือเสียงที่ดังตลอดเวลา เช่น เสียงเพลงจากหูฟัง เสียงเครื่องจักรทำงานในโรงงานต่างๆ เป็นต้น หากจำเป็นให้ใช้ที่อุดหูเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหูตึง
  • เมื่อมีแมลงเข้าหูให้ใช้น้ำมันพืชหยอดลงในรูหู แล้วทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้แมลงตาย หลังจากนั้นเอียงหูเพื่อให้น้ำมันไหลออกมาพร้อมกับแมลง และใช้สำลีเช็ดให้แห้ง
  • หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ไม่ควรเอาออกเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหูได้ ควรไปพบแพทย์
  • หากมีอาการผิดปกติของหู เช่น ปวดหู หูอื้อ ได้ยินไม่ชัดเจน ควรปรึกษาแพทย์ทันที

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Hearing loss - Treatment. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/hearing-loss/treatment/)
Hearing Aids. The National Institute on Deafness and Other Communication Disorders (NIDCD). (https://www.nidcd.nih.gov/health/hearing-aids)
Hearing Aids: The Different Types & How They Work. WebMD. (https://www.webmd.com/healthy-aging/hearing-aids#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)