กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

สมองและระบบประสาท (Brain and Nervous system)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 เม.ย. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • สมอง (brain) และไขสันหลัง (spinal cord) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมระบบประสาท ประสานงานการรับและส่งข้อมูล หรือกระแสประสาทจากทุกส่วนของร่างกาย โดยสมองและไขสันหลังจะทำงานร่วมกันผ่านเซลล์ประสาท
  • ระบบประสาทในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ประสาทชื่อ "นิวโรน (neurone)" เซลล์ประสาทนี้มีลักษณะเป็นแขนงยื่นยาวออกจากตัวเซลล์ แขนงเหล่านี้แบ่งออกเป็นเดนไดรต์ (dendrite) และแอกซอน (axon) ทำหน้าที่รับและส่งคำสั่ง
  • ระบบประสาทจะทำหน้าที่แบบอัตโนมัติและอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การหายใจ การหมุนเวียนของกระแสเลือด การย่อยอาหาร ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ แบ่งออกเป็นระบบประสาทซิมพาเทติกและระบบประสาทพาราซิมพาเทติก
  • ระบบรับความรู้สึก (Sensory system and perceptual function) ทำหน้าที่ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นร่างกายในรูปแบบต่างๆ โดยการรับความรู้สึกพื้นฐานมี 5 ทาง ได้แก่ การมองเห็นภาพ การได้ยินและการทรงตัว การรู้รส การได้กลิ่น และการสัมผัส 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิงและผู้ชาย

เมื่อเกิดการปฏิสนธิขึ้นเป็นตัวอ่อน "ระบบประสาท (Nervous system)" จะเป็นสิ่งแรกที่ตัวอ่อนจะสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายในและภายนอกร่างกาย 

สมองถือเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดของระบบประสาท เปรียบดั่งศูนย์บัญชากลางในการแจกจ่ายคำสั่ง รับรู้ และประมวลผล ต่างๆ จึงมักเรียกควบคู่กันไปว่า "สมองและระบบประสาท" 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจสมอง วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,567 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ระบบประสาทคืออะไร? 

ระบบประสาทในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ประสาทชื่อ "นิวโรน (neurone)" เซลล์ประสาทนี้มีลักษณะเป็นแขนงยื่นยาวออกจากตัวเซลล์ แขนงเหล่านี้แบ่งออกเป็นเดนไดรต์ (dendrite) และแอกซอน (axon) ทำหน้าที่รับและส่งคำสั่งดังนี้

เดนไดรต์ทำหน้าที่นำ "คำสั่ง" จากภายนอกเข้าไปในเซลล์ ส่วนแอกซอนทำหน้าที่นำ"คำสั่ง" ออกไปจากตัวเซลล์ ประสาท

ในแอกซอนจะมีเยื่อไมอิลิน (Myelin Sheath) ซึ่งมีคุณสมบัติการเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีห่อหุ้ม ทำให้กระแสประสาทในแอกซอนสามารถส่งผ่าน หรือเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็ว

ในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากมาย ประมาณกันว่ามีอย่างน้อย 30 หมื่นล้านตัว แต่ละตัว ยังต้องติดต่อกับตัวอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีมากถึง 60,000 ตัว

ระบบประสาทแบ่งออกเป็นกี่ประเภท?  

1. ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System : CNS) 

ประกอบด้วยสมอง (brain) และไขสันหลัง (spinal cord) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมระบบประสาท ประสานงานการรับและส่งข้อมูล หรือกระแสประสาทจากทุกส่วนของร่างกาย โดยสมองและไขสันหลังจะทำงานร่วมกันผ่านเซลล์ประสาท 

"สมอง" เป็นศูนย์กลางการควบคุมและสั่งการระบบภายในร่างกายทั้งหมด ทั้งควบคุมการเคลื่อนไหว การแสดงออกด้านพฤติกรรม การรักษาสมดุลภายในร่างกาย สติปัญญา ความคิด ความรู้สึก การรับรู้ การจดจำ การใช้เหตุผล และการตัดสินใจ รวมทั้งการแสดงออกทางด้านอารมณ์และความรู้สึก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

"ไขสันหลัง" เป็นเนื้อเยื่อประสาทที่ทอดยาวจากก้านสมองเข้าไปยังโพรงกระดูกสันหลัง มีลักษณะเป็นรูปแท่งทรงกระบอก ห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มไขสันหลัง ภายในประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมาก ทำหน้าที่ถ่ายทอดกระแสประสาท (Neural Signal) ระหว่างสมองกับส่วนต่างๆของร่างกาย

2. ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System : PNS) 

ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ต่อไปนี้

  • เส้นประสาทสมอง (cranial nerve) 
  • รากประสาท (spinal nerve roots) 
  • เส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerves) 
  • เส้นประสาทตามร่างกาย (somatic nerves) 

ระบบประสาทส่วนปลายแบ่งตามหน้าที่ออกเป็นส่วนที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก (sensory division) จะนำกระแสประสาทจากตัวรับผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางตามทางเดินประสาทขาเข้า และส่วนที่ทำหน้าที่สั่งการ จะนำคำสั่งออกจากระบบประสาทส่วนกลางไปสู่อวัยวะตอบสนองตามทางเดินประสาทขาออก

ในส่วนของการสั่งการมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมภายใต้อำนาจจิตใจ (voluntary) ผ่านระบบประสาทกาย (somatic nervous system) ไปควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลายและการควบคุมนอกอำนาจจิตใจ(involuntary) ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) 

ระบบประสาทอัตโนมัติ

ระบบประสาทจะทำหน้าที่แบบอัตโนมัติและอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การหายใจ การหมุนเวียนของกระแสเลือด การย่อยอาหาร ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System: SNS) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่าง ซึ่งทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ มีศูนย์กลางอยู่ที่ไขสันหลังระดับอกและเอว
  • ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System: PNS) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่าง ซึ่งทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกมีศูนย์กลางอยู่ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 7, 9, 10 (บริเวณเมดัลลา ออบลองกาตา) และไขสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (ก้นกบ)

ระบบประสาทซิมพาเทติกจะทำงานควบคู่ไปกับระบบประสาทพาราซิมพาเทติก หากระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานในเชิงของการต่อสู้ หรือความตื่นตัว ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกจะทำงานเพื่อให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ หรือภาวะผ่อนคลาย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ยกตัวอย่างเช่น กิริยาที่ม่านตาขยาย ยับยั้งการหลั่งของน้ำลาย เกิดจากคำสั่งจากระบบประสาทซิมพาเทติก ส่วนคำสั่งของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก ที่เกิดขึ้นคือ ม่านตาหด กระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย

ระบบประสาททั้งสองส่วนนี้เปรียบเสมือนสวิตซ์เปิด-ปิด การทำงานของอวัยวะต่างๆ ซึ่งช่วยให้ร่างกายสามารถรักษาสภาวะสมดุลไว้ได้ 

หากเกิดความผิดปกติของสมอง หรือระบบประสาทก็จะก่อให้เกิดความผิดปกติ ตั้งแต่ความผิดปกติเล็กน้อยในการเคลื่อนไหวไปจนถึงขั้นเป็นอัมพาต และความจำเสื่อม

หน้าที่สำคัญของระบบประสาทส่วนกลาง

  1. หน้าที่รับสัมผัส หรือรับความรู้สึก (Sensory system and perceptual function )
  2. หน้าที่ทางด้านยนต์ (motor and psychomotor function)
  3. หน้าที่ทางด้านจิตใจและหน้าที่ขั้นสูง (psychic and higher function)

ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะระบบรับความรู้สึก หรือระบบประสาทสัมผัส 

ระบบรับความรู้สึก (Sensory system and perceptual function )

ระบบรับความรู้สึกเป็นระบบที่ร่างกายสร้างขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นร่างกายในรูปแบบต่างๆ 

โดยการรับความรู้สึกพื้นฐานมี 5 ทาง ได้แก่ การมองเห็นภาพ การได้ยินและการทรงตัว การรู้รส การได้กลิ่น และการสัมผัส ซึ่งการรับรู้เหล่านี้จะทำงานประสานกันเพื่อให้เราสามารถรับรู้ภาพรวมทั้งหมดได้อย่างชัดเจนนั่นเอง

1. การมองเห็นภาพ (Sensory of vision)

การมองเห็นภาพเกิดจากแสงไปกระทบกับวัตถุแล้วสะท้อนเข้าสู่นัยน์ตาผ่านกระจกตา รูม่านตา แก้วตา จนไปตกที่จอตา หลังจากนั้นเซลล์รับภาพที่จอตาจะรับภาพในลักษณะหัวกลับ แล้วส่งไปตามเส้นประสาทสู่สมองส่วนท้ายทอย  ซึ่งสมองส่วนนี้จะทำหน้าที่แปลภาพหัวกลับเป็นหัวตั้งตามรูปแบบเดิมของสิ่งที่เห็น 

ส่วนประกอบภายในดวงตา

ลูกตามีรูปร่างเป็นทรงกลมรี ภายในมีของเหลวลักษณะเป็นวุ้นใส โดยมีส่วนประกอบ ได้แก่ ตาขาว ตาดำ แก้วตา และจอตาหรือฉากตา

  • ตาขาว คือ ส่วนสีขาวของนัยน์ตา ทำหน้าที่หุ้มลูกตาไว้ ด้านหลังลูกตามีกล้ามเนื้อยึดอยู่ 6 มัด ทำให้กลอกตาไปทางซ้ายขวา หรือขึ้นลงได้ ผนังด้านหน้าของลูกตาเป็นเนื้อเยื่อใส เรียกว่า กระจกตา ซึ่งหากมีจุดหรือรอยถลอกเพียงเล็กน้อย ก็จะรบกวนการมองเห็น และทำให้เคืองตาได้มาก ซึ่งหากเป็นฝ้าขาวอาจทำให้ตาบอดได้
  • ตาดำ คือ ส่วนที่เป็นม่านตา มีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อยืดหดได้ และมีสีตามชาติพันธุ์ โดยตาดำตรงกลางม่านตาจะมีรูกลมๆ ที่เรียกว่า รูม่านตา ซึ่งเป็นทางให้แสงผ่าน หากอยู่ในที่สว่างมากม่านตาจะหดแคบ และรูม่านตาก็จะเล็กลงจนทำให้แสงผ่านเข้าลูกตาได้น้อยลงนั่นเอง
  • แก้วตา จะอยู่หลังรูม่านตา มีลักษณะเป็นแผ่นใสๆ คล้ายเลนส์นูนธรรมดา มีเอ็นยึดแก้วตายึดระหว่างแก้วตาและกล้ามเนื้อ โดยกล้ามเนื้อจะทำหน้าที่ปรับแก้วตาให้โค้งออกมาเมื่อมองภาพในระยะใกล้ และปรับแก้วตาให้แบนเมื่อมองภาพในระยะไกล ทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนในทุกระยะ
  • จอตา หรือฉากตา จะอยู่ด้านหลังแก้วตา มีลักษณะเป็นผนังที่ประกอบด้วยใยประสาทจำนวนมากที่ไวต่อแสงมาก โดยเซลล์ประสาทเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นจอรับภาพและส่งความรู้สึกผ่านไปยังเส้นประสาทตา ซึ่งทอดทะลุออกทางด้านหลังกระบอกตาโยงไปสู่สมอง เพื่อแปลความหมายให้เกิดความรู้สึกเห็นภาพ ทำให้รู้ว่ากำลังมองเห็นภาพอะไรอยู่นั่นเอง

ความผิดปกติของสายตา

  • สายตาสั้น คือ การที่มองเห็นเฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ส่วนสิ่งที่อยู่ไกลจะมองเห็นไม่ชัด
  • สายตายาว คือ การที่มองเห็นเฉพาะสิ่งที่อยู่ไกลๆ ส่วนสิ่งที่อยู่ใกล้จะมองเห็นไม่ชัด
  • สายตาเอียง คือ การที่มองเห็นบิดเบี้ยวจากรูปทรงที่แท้จริง บางคนมองเห็นภาพในแนวดิ่งชัด แต่มองภาพในแนวระดับแนวนอนไม่ชัด 
  • ตาส่อน ตาเอก ตาเข และตาเหล่ คือ คนที่มีตาสองข้างไม่อยู่ในแนวตรงกัน

การถนอมดวงตา

ตาเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การถนอมดวงตาไว้ใช้งานได้นาน และอยู่ในสภาพดีที่สุดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้

  • อย่าใช้สายตานานเกินควร 
  • การอ่านหนังสือจะต้องมีแสงสว่างเพียงพอ และตาควรห่างจากหนังสือประมาณ 1 ฟุต
  • การดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์มือถือ ควรทำในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอสม 
  • เมื่อมีฝุ่นละออง หรือเศษผงเข้าตา อย่าใช้มือขยี้ตา ให้ใช้น้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างตา ล้างเอาฝุ่นออก
  • หลีกเลี่ยงการมองแสงจ้า เช่น ดวงอาทิตย์ หรือของสีขาวที่อยู่กลางแดด เพราะจะทำให้เซลล์ประสาทตาเสื่อมได้
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับตาได้ เช่น อย่าให้ของแหลมอยู่ใกล้ตา ไม่เล่นขว้างปา เป็นต้น
  • ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น แว่นตา ผ้าเช็ดหน้า เพราะอาจติดเชื้อได้
  • เวลานอนควรปิดไฟ เพื่อให้ดวงตาได้พักผ่อนเต็มที่
  • ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอเป็นประจำ เช่น ไข่ นม น้ำมันตับปลา ผัก ผลไม้สีเหลือง เป็นต้น
  • เมื่อมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด ตาบวม คันตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์

2. การได้ยินและการทรงตัว (Hearing and balance)

เกิดจากคลื่นเสียงเดินทางผ่านอากาศเข้าสู่หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นแรงสั่นสะเทือนโดยกระดูกหูซึ่งวางเรียงตัวกันอยู่ ซึ่งแรงสั่นสะเทือนจะผ่านของเหลวภายในหูชั้นใน และถูกแปรเป็นสัญญาณประสาทไฟฟ้า ก่อนที่จะถูกส่งไปแปลความหมายในสมอง

หูนั้นนอกจากจะเป็นอวัยวะที่ช่วยให้ได้ยินเสียงต่างๆ แล้ว ยังเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกายขณะร่างกายเคลื่อนไหวอีกด้วย

ส่วนประกอบของหูมี 3 ส่วน 

1. หูชั้นนอก

  • ใบหู เป็นกระดูกอ่อนที่หุ้มด้วยผิวหนังบางๆ ทำหน้าที่ดัก และรับเสียงเข้าสู่รูหู
  • รูหู เป็นท่อคดเคี้ยวเล็กน้อย ลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผนังของรูหูบุด้วยเยื่อบาง และใต้เยื่ออ่อนนี้มีต่อมน้ำมันจำนวนมาก ซึ่งทำหน้าที่ขับไขมันเหนียวและเหลวมาหล่อเลี้ยงรูหู ไขมันเหล่านี้เมื่อรวมกับสิ่งสกปรกต่างๆ ก็จะกลายเป็นขี้หู ซึ่งจะช่วยป้องกันสิ่งแปลงปลอมที่เข้ามาทางรูหูไม่ให้เข้าถึงเยื่อแก้วหูได้ง่าย
  • เยื่อแก้วหู เป็นเยื่อบางๆ อยู่ลึกเข้าไปในส่วนของรูหู กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงที่เดินทางเข้ามาทางรูหู

2. หูชั้นกลาง

มีลักษณะเป็นโพรงอากาศบรรจุกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้นติดต่อกันคือ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน 

ส่วนล่างของโพรงอากาศตอนปลายของหูชั้นกลางจะมีท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องอากาศแคบๆ และยาวต่อไปถึงคอ ทำหน้าที่ปรับความกดอากาศข้างในและข้างนอกหูให้มีความสมดุลกัน ทำให้ไม่ปวดหูเวลาอากาศเข้าไปกระทบแก้วหูขณะที่มีการหายใจ หรือขณะกลืนอาหาร

3. หูชั้นใน

  • ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ที่ขดเป็นวงซ้อนกันอยู่หลายชั้นคล้ายหอยโข่ง ภายในมีท่อของเหลวบรรจุอยู่ ตามผนังด้านในของท่อมีอวัยวะรับเสียงอยู่ทั่วไป
  • ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว มีลักษณะเป็นรูปท่อโค้งครึ่งวงกลมเล็กๆ 3 วง เรียงติดต่อกันตั้งฉากกับผนังภายใน ปลายของครึ่งวงกลมทั้ง 3 นั้นอยู่ติดกัน ท่อครึ่งวงกลมทั้ง 3 นี้บุด้วยเนื้อเยื่อบางๆ ที่มีประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวกระจายอยู่ ส่วนที่เป็นช่องว่างภายในท่อครึ่งวงกลมจะบรรจุด้วยของเหลว เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวที่ศีรษะหูจะเอนเอียงตามไปด้วย ซึ่งของเหลวที่บรรจุภายในท่อทั้ง 3 นี้จะเคลื่อนที่ไปตามทิศทางการเอียงของศีรษะ กระตุ้นให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว และส่งความรู้สึกเหล่านั้นไปยังสมอง เพื่อทราบว่า ขณะนี้ร่างกายกำลังทรงตัวอยู่ในลักษณะใด 

โรคและความผิดปกติของหู

หูเป็นอวัยวะที่บอบบาง และมีลักษณะเป็นช่องเปิดจากภายนอกเข้าไป จึงอาจทำให้เป็นโรค หรือเกิดอาการผิดปกติขึ้นในส่วนต่างๆ ของหูได้ง่าย โดยโรคของหูที่พบได้บ่อย คือ หูน้ำหนวก แก้วหูทะลุและเชื้อราในช่องหู

การถนอมหู

  • ไม่ควรแคะขี้หูด้วยวัตถุแข็ง เช่น ไม้ หรือโลหะ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อหูได้ แท้จริงแล้วขี้หูเป็นสิ่งที่ขับออกมาตามธรรมชาติ ซึ่งมีกลิ่นพิเศษที่ป้องกันไม่ให้แมลงเข้าหูจึงไม่จำเป็นต้องแคะออก 
  • เวลาเป็นหวัดไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะจะทำให้เกิดแรงอัดจนดันให้เชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลางได้
  • หลีกเลี่ยงการฟังเสียงที่ดังเกินไป เช่น เสียงปืน เสียงพลุ หรือเสียงที่ดังตลอดเวลา 
  • เมื่อมีแมลงเข้าหู ควรใช้น้ำมันพืชหยอดลงในรูหูทิ้งไว้พื่อให้แมลงตาย แล้วจึงเอียงหูให้น้ำมันไหลออกมาพร้อมกับแมลง และใช้สำลีเช็ดให้แห้ง
  • หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ไม่ควรเอาออกด้วยตนเองเพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหูได้ ควรไปพบแพทย์
  • หากมีอาการผิดปกติของหู เช่น ปวดหู หูอื้อ หรือได้ยินไม่ชัดเจน ควรปรึกษาแพทย์

3. การรู้รส (Taste)

ลิ้นเป็นอวัยวะในช่องปาก ทำหน้าที่ช่วยคลุกเคล้าอาหารและรับความรู้สึกเกี่ยวกับรสชาติของอาหาร การที่ลิ้นสามารถรับรู้รสชาติของอาหารได้นั้น เพราะมีอวัยวะในการรับรู้รสที่เรียกว่า "ตุ่มรับรส" ลักษณะกลมรี ภายในประกอบด้วย เซลล์รูปทรงกระสวย และมีปลายเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับรู้รสอยู่ 3 เส้น 

ตุ่มรับรสส่วนใหญ่จะพบที่ด้านหน้าและด้านข้างของลิ้น แต่ส่วนบนของต่อมทอนซิล เพดานปาก และหลอดคอ จะพบได้น้อย โดยตุ่มรับรสจะมีอย่างน้อยที่สุดประมาณ 4 ชนิดด้วยกัน ซึ่งจะคอยรับรสที่แตกต่างกันคือ รสหวาน รสเค็ม รสขม และรสเปรี้ยว

การดูแลรักษาลิ้น

  • ควรระวัง และดูแลรักษาลิ้นไม่ให้เป็นโรค ด้วยการทำความสะอาดลิ้นพร้อมๆ กับการแปรงฟันทุกครั้ง
  • เวลารับประทานอาหาร ให้ค่อยๆ เคี้ยว ไม่ควรรีบร้อน เพราะอาจกัดลิ้นตนเองจนเป็นแผลได้ 
  • ไม่ควรรับประทานอาหารที่ร้อนมากๆ หรืออาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เพราะอาจทำให้ลิ้นชาได้
  • หมั่นสังเกตว่าลิ้นเป็นฝ้าขาว หรือเป็นแผลหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบรักษาทันที

4. การได้กลิ่น (Smell)

เกิดจากประสาทสัมผัสกลิ่น ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่แผ่นเยื่อรับกลิ่นบริเวณเพดานของช่องจมูก เมื่ออากาศผ่านเข้าสู่ช่องจมูกจะกระตุ้นเซลล์ที่แผ่นเยื่อรับกลิ่นเหล่านี้ให้ส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองเพื่อแยกแยะกลิ่นต่างๆ 

ส่วนประกอบของจมูก

จมูกมีโครงสร้างเป็นกระดูกแข็ง และกระดูกอ่อน ภายนอกหุ้มด้วยผิวหนัง ภายในบุด้วยแผ่นเยื่อเมือก 

โพรงจมูกทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ และมีหลอดเลือดฝอยจำนวนมากอยู่ตามแผ่นเยื่อเมือก ทำหน้าที่ถ่ายเทความร้อนออกมาทำให้อากาศ  ด้านแผ่นเยื่อเมือกจะทำหน้าที่ปรับความชื้นให้กับอากาศ พร้อมทั้งดักจับฝุ่นละอองที่เล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าไป และขับทิ้งออกมาเป็นน้ำมูก 

ส่วนบริเวณด้านบนของโพรงจมูกจะมีปลายประสาททำหน้าที่รับกลิ่นอยู่มากมาย

การดูแลรักษาจมูก

  • ไม่เข้าไปในบริเวณที่มีกลิ่นฉุน เหม็น หรือใส่น้ำหอมกลิ่นรุนแรง เพราะทำให้ประสาทรับกลิ่นเสื่อมลง
  • ไม่ใช้นิ้ว หรือสิ่งของอื่นๆ เช่น ปากกา ดินสอ กระดาษ แหย่จมูกเล่น เพราะอาจทำให้จมูกอักเสบ หรือเป็นอันตรายได้
  • ไม่ถอนขนจมูก หรือตัดให้สั้น เพราะขนจมูกมีประโยชน์ในการกรองฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งอื่นๆ ที่อาจปนเข้ามากับลมหายใจไม่ให้เข้าสู่ช่องจมูกและปอดได้
  • เวลาสั่งน้ำมูกให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษนุ่มๆ รองไว้ที่จมูก แล้วค่อยๆ สั่งน้ำมูก ถ้าสั่งแรงและบีบจมูกจะทำให้คัดจมูกและหายใจลำบากมากขึ้น
  • เมื่อต้องการดมกลิ่นของบางอย่าง อย่าใช้จมูกจ่อจนใกล้แล้วสูดหายใจเพราะอาจะเป็นอันตรายได้ เช่น การสูดดมสารเคมีบางชนิด 
  • เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่จมูก เช่น คัดจมูก เลือดกำเดาไหล ปวดจมูก ควรไปให้แพทย์ตรวจรักษา

5. การสัมผัส (Touch)

ระบบประสาทจะรับความรู้สึกที่ผิวหนัง และส่งไปยังสมองเพื่อแปรความหมาย หลังจากนั้นจะส่งสัญญาณกลับมายังร่างกายโดยผ่านทางเส้นประสาทสมอง หรือเส้นประสาทไขสันหลัง ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดแค่เสี้ยววินาที และแทบไม่ต้องใช้ความคิดเลย

นอกจากการดูแลระบบรับความรุู้สึกทั้งห้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนที่ได้กล่าวไปแล้ว เรายังควรต้องดูแล "สมองและไขสันหลังซึ่งเป็นระบบประสาทส่วนกลาง" ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายให้ดีด้วย 

เนื่องจากระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ให้ร่างกายสามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งจากภายในและภายนอกร่างกายได้ ดังนั้นการมีระบบประสาทส่วนกลางที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต

การดูแลสมองและระบบประสาท

  1. ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา ควรออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง  
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สมองและระบบประสาทได้พักผ่อน ฟื้นฟู และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
  3. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นรับประทานผักสด ผลไม้สด ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วและธัญพืช
  4. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพราะน้ำจะทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายมีความสมดุล 
  5. เลิกสูบบุหรี่
  6. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  7. หมั่นฝึกสมองบ่อยๆ เช่น การเล่นอักษรไขว้ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพราะจะช่วยฝึกสมองโดยเฉพาะการวางแผน การตัดสินใจ ความจำ การเล่นดนตรี อ่านหนังสือฝึกความคิดเชื่อมโยง การจินตนาการ
  8. หมั่นคิดอะไร หรือทำอะไรให้ต่างจากเดิม ไม่จำเจ เช่น ลองใช้มือซ้ายในการเขียนหนังสือ ลองเดินทางในเส้นทางใหม่ๆ  
  9. อย่าเก็บตัว แนะนำให้เข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูงบ้างก็ทำให้ได้ฝึกทักษะทางภาษา การพูด การได้ยิน การตีความ การคิดวิเคราะห์ การสังเกต 
  10. หากมีโรคเรื้อรังเช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ควรควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย 
  11. ระมัดระวังอย่าให้สมองและไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือน

เริ่มต้นดูแลสมองและไขสันหลัง ศูนย์บัญชาการระบบประสาทส่วนกลางที่สำคัญที่สุดของร่างกายได้ตั้งแต่วันนี้จะดีที่สุด ไม่จำเป็นต้อง "รอ" ให้อายุเพิ่มมากขึ้นก่อนแล้วจึงเริ่มทำ เพราะหากรอให้ถึงวันนั้น บางทีอาจจะสายเกินไป

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิงและผู้ชาย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Von Bartheld, CS; Bahney, J; Herculano-Houzel, S (15 December 2016). "The search for true numbers of neurons and glial cells in the human brain: A review of 150 years of cell counting". The Journal of Comparative Neurology. 524 (18): 3865–3895. doi:10.1002/cne.24040. PMC 5063692. PMID 27187682.
Saladin, Kenneth. Human anatomy (3rd ed.). New York: McGraw-Hill, 2011.
NCBI.NLM.NIH, How does the nervous system work? (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279390/), 1 June 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ทำไมชอบได้ยินเสียงเหมือนน้ำไหลไม่เติมสายยางวิ่งขึ้นสมอง
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ตั้งแต่คลอดลูกมาไม่รุ้ว่าเป็นใลค่ะชอบปวดหัวแล้วก็ปวดมากด้วย
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ปวดหัวข้างเดียวอาการบ่งบอกถึงโรคอะไรหรือป่าวค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ปลายประสาทขาซ้ายอักเสบเกิดจากสาเหตอะไรคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ลูดแข็งแรงตั้งแต่อยู่ในครรถ์ต้องทำยังไงบ้างค่ะ ?
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
หมอนรองทับเส้นประสาทนี่ จำเป็นต้องผ่าตัดไหมคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)