กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ปวดกระดูก (Bone Pain)

อาการปวดกระดูกคืออะไร เกิดขึ้นได้จากสาเหตุอะไรบ้าง ปวดกระดูกขนาดไหนถึงควรไปพบแพทย์ มีการรักษาและป้องกันการปวดกระดูกอย่างไร?
เผยแพร่ครั้งแรก 3 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ปวดกระดูก (Bone Pain)

อาการปวดกระดูก คือ ภาวะที่มีอาการปวด อาการกดเจ็บ หรือรู้สึกไม่สบายตัวที่บริเวณกระดูก ซึ่งอาการจะแตกต่างจากอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ เพราะผู้ป่วยจะมีอาการทั้งตอนที่เคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย อาการปวดที่เกิดขึ้นนี้มักสัมพันธ์กับโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระดูกหรือโครงสร้างของกระดูก

อาการของผู้ที่มีอาการปวดกระดูก

อาการที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูก รู้สึกไม่สบายตัวทั้งในเวลาที่เคลื่อนไหว หรือไม่เคลื่อนไหวก็ตาม สำหรับอาการอื่นๆ จะขึ้นกับสาเหตุของอาการปวดกระดูก รายละเอียดแสดงดังตาราง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของอาการการปวดกระดูก

อาการที่พบได้

การได้รับบาดเจ็บ

มีอาการบวม กระดูกแตก กระดูกผิดรูปสังเกตเห็นได้ มีเสียงเกิดขึ้นขณะได้รับบาดเจ็บ

การขาดแร่ธาตุ

ปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ การนอนหลับผิดปกติไป เป็นตะคริว อ่อนเพลีย อ่อนแรง

กระดูกพรุน

ปวดหลัง หลังค่อม หลังโค้งลง ส่วนสูงลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

การแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูก

ผู้ป่วยจะมีอาการหลากหลายขึ้นกับว่ามะเร็งแพร่กระจายไปที่ใด เช่น

มะเร็งกระดูก

เพิ่มการเกิดกระดูกแตก พบก้อนใต้ผิวหนัง รู้สึกชาหรือเสียวซ่านที่เกิดจากก้อนมะเร็งกดทับที่เส้นประสาท

การขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปที่กระดูก

ปวดกระดูก สูญเสียการทำงานของข้อต่อ และอ่อนแรง

การติดเชื้อ

แดง มีอาการบวม ร้อน ที่บริเวณของการติดเชื้อ การเคลื่อนไหวของข้อลดลง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร

มะเร็งเม็ดเลือดขาว

อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด หายใจถี่ เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการปวดกระดูกในหญิงตั้งครรภ์

อาการปวดกระดูกเชิงกราน (Pelvic Bone Pain) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์หลายๆ ราย บางครั้งเรียกว่า อาการปวดรอบๆ อุ้งเชิงกรานเหมือนรัดเข็มขัด (Pregnancy-related Pelvic Girdle Pain (PPGP)) อาการปวดจะเกิดขึ้นที่กระดูกหัวหน่าว มีอาการข้อติดและปวดข้อที่บริเวณข้อต่ออุ้งเชิงกราน

อาการปวดรอบๆ อุ้งเชิงกรานเหมือนรัดเข็มขัดนี้จะไม่หายไปจนกว่าจะคลอดลูก แต่การรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยบรรเทาอาการได้ โดยทางเลือกในการรักษา ได้แก่

  • การฝึกเคลื่อนไหวข้อต่ออย่างถูกต้อง
  • การทำกายภาพบำบัด
  • การออกกำลังกายในน้ำ
  • การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Exercises to strengthen the pelvic floor)

แม้ว่าอาการปวดนี้จะพบได้บ่อย แต่ถือเป็นความผิดปกติชนิดหนึ่ง ดังนั้นหากตั้งครรภ์อยู่แล้วมีอาการปวดกระดูกเชิงกราน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

สาเหตุของอาการปวดกระดูก

อาการปวดกระดูกสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • การได้รับบาดเจ็บ : สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดกระดูก โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อเกิดอุบัติเหตุบางชนิด เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งอาจทำให้กระดูกแตกหรือกระดูกหักได้
  • การขาดแร่ธาตุ : กระดูกจำเป็นต้องอาศัยวิตามินและแร่ธาตุในการเพิ่มความแข็งแรง ได้แก่ แคลเซียม และวิตามินดี การขาดแคลเซียมและวิตามินดีมักเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งเป็นโรคกระดูกที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ที่มีอาการกระดูกพรุนในระยะท้ายๆ ของโรค มักมีอาการปวดกระดูกร่วมด้วย
  • มะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก (Metastatic Cancer) : ภาวะที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย แต่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย มะเร็งที่พบการแพร่กระจายที่กระดูกได้บ่อย คือ
  • มะเร็งกระดูก (Bone Cancer) : มะเร็งที่มีจุดเริ่มต้นของโรคที่กระดูก มะเร็งกระดูกเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยเมื่อเทียบกับการแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่นมาที่กระดูก อาการปวดกระดูกจะเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งเริ่มขัดขวางหรือทำลายโครงสร้างของกระดูก
  • โรคที่ขัดขวางไม่ให้เลือดไปเลี้ยงกระดูกอย่างที่ควรจะเป็น : โรคบางชนิด เช่น โลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) จะรบกวนไม่ให้เลือดไปหล่อเลี้ยงกระดูกอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อกระดูกไม่ได้รับเลือดอย่างเพียงพอจะทำให้เนื้อเยื่อกระดูกตายได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก และกระดูกอ่อนแอลง
  • การติดเชื้อ : ถ้ามีการติดเชื้อที่กระดูก หรือมีการติดเชื้อจากที่อื่นแพร่กระจายมาที่กระดูก จะทำให้มีอาการที่รุนแรงคือ ภาวะกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) ซึ่งการติดเชื้อของกระดูกทำให้เซลล์กระดูกตายได้ และเป็นสาเหตุของอาการปวดกระดูก
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) : คือมะเร็งของไขกระดูก (Bone marrow) ซึ่งไขกระดูกจะพบได้ในกระดูกเกือบทุกที่ของร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างเซลล์กระดูก ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักมีอาการปวดกระดูก โดยเฉพาะที่ขา

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

แม้ว่าอาการปวดกระดูกจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ก็อาจบ่งชี้ถึงภาวะฉุกเฉินบางอย่างได้ ถ้าพบว่าตัวเอง หรือบุคคลรอบข้างมีอาการปวดกระดูกร่วมกับน้ำหนักลด เบื่ออาหาร และอ่อนเพลียและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์

หากอาการปวดกระดูกเกิดจากการบาดเจ็บ ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษากระดูกตามวิธีที่ถูกต้องต่อไป ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม กระดูกจะซ่อมแซมตัวเองด้วยตำแหน่งที่ผิดรูป และทำให้การเคลื่อนไหวจำกัดลง นอกจากนี้อุบัติเหตุยังเพิ่มโอกาสเกิดการติดเชื้อในกระดูกได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การวินิจฉัยอาการปวดกระดูก

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และซักประวัติทางการแพทย์ โดยคำถามที่แพทย์จะซัก ได้แก่

  • อาการปวดเกิดขึ้นที่ตำแหน่งไหน
  • คุณมีอาการปวดครั้งแรกเมื่อใด
  • อาการปวดแย่ลงหรือไม่
  • มีอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับอาการปวดกระดูกหรือไม่

แพทย์อาจพิจารณาให้มีการเจาะเลือดเพื่อดูว่ามีภาวะขาดวิตามินหรือไม่ หรือเพื่อตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Cancer Markers) นอกจากนี้การตรวจเลือดอาจช่วยให้แพทย์ตรวจเจอการติดเชื้อและโรคของต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพกระดูกได้

การเอกซเรย์กระดูก การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRIs) และการตรวจซีทีสแกน (CT scans) จะช่วยแพทย์ประเมินบริเวณของกระดูกที่ได้รับความเสียหาย รอยโรคที่กระดูก และเนื้องอกภายในกระดูก ส่วนการตรวจปัสสาวะจะใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในไขกระดูก ได้แก่ โรคมะเร็งชนิด Multiple myeloma

ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจจำเป็นต้องสั่งตรวจหลายชนิดร่วมกันเพื่อช่วยในการแยกโรคและช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดกระดูกได้อย่างแม่นยำ

การรักษาอาการปวดกระดูก

เมื่อแพทย์ทำการประเมินแล้วว่าสาเหตุของอาการปวดกระดูกเกิดจากอะไร แพทย์จะเริ่มรักษาที่สาเหตุนั้น โดยอาจแนะนำให้คุณพักการใช้งานบริเวณที่มีอาการปวดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจ่ายยาบรรเทาอาการปวดในกรณีที่มีอาการปวดกระดูกระดับปานกลางถึงรุนแรง

ทางเลือกในการรักษาอาการปวดกระดูก ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ยาบรรเทาปวด : หนึ่งในรายการยาที่จ่ายบ่อยที่สุดเพื่อบรรเทาอาการปวดให้กับผู้ป่วย แต่ไม่ช่วยให้สาเหตุของโรคหายขาด สามารถใช้ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ Paracetamol หรือยาแก้ปวดที่มีขายทั่วไปตามร้านขายยา เช่น Ibuprofen บรรเทาอาการปวดได้ ในกรณีที่มีอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง คุณต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งแพทย์จะสั่งยาที่มีความแรงมากขึ้น เช่น Morphine
  • ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) : ถ้าคุณมีการติดเชื้อที่กระดูก แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะให้กับคุณเพื่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งอาจได้แก่ ยา Ciprofloxacin, Clindamycin หรือ Vancomycin
  • อาหารเสริม : ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนจำเป็นต้องได้รับการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ แพทย์จะสั่งจ่ายอาหารเสริมเหล่านี้เพื่อรักษาภาวะขาดแร่ธาตุ โดยอาจอยู่ในรูปแบบน้ำ เม็ด หรือแบบเม็ดเคี้ยว
  • การรักษามะเร็ง : กรณีที่มีอาการปวดกระดูกจากโรคมะเร็ง ถือเป็นเรื่องยากในการรักษา แพทย์จำเป็นต้องรักษามะเร็งก่อนเพื่อบรรเทาอาการปวดกระดูก โดยยาในกลุ่ม Bisphosphonates คือยาที่ช่วยในการป้องกันกระดูกหักและอาการปวดกระดูกในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูก นอกจากนี้แพทย์อาจสั่งยาแก้ปวดในกลุ่ม Opiate ให้กับผู้ป่วย
  • การผ่าตัด มีหลายกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดกระดูก เช่น
    • ผ่าตัดเพื่อผ่าเอาบางส่วนของกระดูกที่ตายจากการติดเชื้อออก
    • ผ่าตัดเพื่อเชื่อมต่อกระดูกที่หัก
    • ผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกที่เกิดจากมะเร็งออก
    • ผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้าง (Reconstructive surgery) ในผู้ที่มีอาการอย่างรุนแรง เช่นการผ่าตัดเพื่อใส่ข้อเทียมแทน เป็นต้น

ป้องกันอาการปวดกระดูกได้อย่างไร

การดูแลตนเองให้มีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอาการปวดกระดูก สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • รับประทานแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป (ดื่มในระดับปานกลาง)
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

นอกเหนือจากการทำกระดูกให้แข็งแรงแล้ว คุณควรหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่นำไปสู่อาการปวดกระดูกได้ เช่น

  • พยายามป้องกันไม่ให้ตนเองหกล้ม เช่น
    • เก็บของบริเวณทางเดินให้เรียบร้อย
    • ไม่มีของกีดขวางทางเดิน
    • ระหว่างเดินให้ระมัดระวังพรมที่อาจจะลื่น
    • ระวังการเดินในพื้นที่แสงน้อย
    • ระมัดระวังขณะขึ้นหรือลงบันได
  • ระวังการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระทบกระทั่ง เช่น ฟุตบอล มวย

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Joana Cavaco Silva, What could cause bone pain? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/321835.php), 17 MAY 2018
Joseph Pritchard and Ana Gotter, Bone Pain (https://www.healthline.com/hea...), 27 October 2016

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)