กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

มะเร็งกระดูก (Bone cancer)

มะเร็งกระดูกมีกี่ประเภท อาการที่เกิดขึ้น รักษาได้อย่างไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
มะเร็งกระดูก (Bone cancer)

โรคมะเร็งกระดูกคืออะไร

โรคมะเร็งกระดูก คือ มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อกระดูกเอง เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระดูกจะมีอาการปวดกระดูก บวมแดง อักเสบ คลำเจอก้อนแถวบริเวณกระดูกที่เป็นมะเร็ง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกแตกหักได้ง่าย 

ความแตกต่างระหว่างมะเร็งกระดูกปฐมภูมิและทุตยภูมิ

มะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  1. มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone cancer) 
  2. มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary bone cancer)

ซึ่งความแตกต่างของมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้คือ มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ จะหมายถึงโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกเอง ส่วนมากมักเกิดแถวบริเวณใกล้ข้อต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อสะโพก ส่วนมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ จะเป็นมะเร็งที่พบในกระดูกเหมือนกัน แต่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

อาการแสดงของมะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูกสามารถส่งผลกระทบต่อกระดูกส่วนใดของร่างกายก็ได้ แต่ส่วนมากแล้วจะเกิดที่กระดูกยาวบริเวณขา และแขนส่วนบน สำหรับอาการหลักๆ ของโรคมะเร็งกระดูก จะได้แก่

  • มีอาการปวดเรื้อรังและจะปวดร้ายแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงปวดในช่วงเวลากลางคืนด้วย
  • มีอาการบวม แดง ซึ่งเป็นสัญญาณของการอักเสบในกระดูกบริเวณที่เป็นมะเร็ง และผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น ถ้ากระดูกที่เป็นมะเร็งอยู่ใกล้กับข้อต่อ
  • ผู้ป่วยจะคลำเจอก้อนเนื้อตรงกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็ง
  • กระดูกจะอ่อนแอและแตกหักได้ง่ายกว่าปกติ

หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวเรื้อรัง มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือปวดแย่ลงเรื่อยๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากที่อาการดังกล่าวจะเกิดจากโรคมะเร็งกระดูก แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันเวลา

ชนิดของมะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูกชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคม่า (Osteosarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะพบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี 
  2. มะเร็งกระดูกอีวิง ซาร์โคม่า (Ewing sarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกอีกชนิดที่พบได้มากในผู้ป่วยอายุประมาณ 10-20 ปีเช่นกัน
  3. มะเร็งกระดูกคอนโดซาร์โคม่า (Chondrosarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่มีแนวโน้มจะพบมากในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

สำหรับสาเหตุที่มักพบมะเร็งกระดูกในผู้ป่วยอายุน้อยนั้น อาจเป็นเพราะการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเป็นวัยรุ่น ทำให้เกิดเนื้องอกกระดูกขึ้นได้ และชนิดของมะเร็งกระดูกที่กล่าวถึงข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อชนิดของเซลล์กระดูกที่แตกต่างกันไป ดังนั้นวิธีการรักษาและการวินิจฉัยโรคจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งกระดูกที่คุณเป็นด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งกระดูก

ยังไม่มีการทราบสาเหตุแน่ชัดว่าทำไมคนเราถึงเป็นมะเร็งกระดูกได้ แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • เคยได้รับรังสีจากรังสีรักษา (Radiotherapy) ซึ่งจะทำให้เซลล์ในกระดูกเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่ความเสี่ยงจากสาเหตุนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
  • เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก หรือเซลล์กระดูกมีพัฒนาการที่ผิดปกติ เช่น โรคพาเจทของกระดูก (Paget’s disease of the bone) การเกิดเนื้องอกในกระดูกเช่น โรคโอลิเยร์ (Ollier's disease) ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ มีจำนวนน้อยมากที่จะอาการลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ และมักเกิดในผู้ป่วยที่อายุประมาณ 50-60 ปี
  • เป็นโรคลิ-โฟรเมนิ ซินโดรม (Li-Fraumeni syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมียีนที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
  • มีประวัติเป็นโรคอื่นๆ ได้แก่ 
    • โรคมะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma) ซึ่งผู้ที่เป็นมะเร็งจอประสาทตาตั้งแต่เด็ก มีความเสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้มากกว่า เพราะโรคนี้มียีนที่ผิดปกติเช่นเดียวกับโรคมะเร็งกระดูก
    • โรคไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) ผู้ป่วยโรคนี้มีความเสี่ยงจะเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดอีวิง ซาร์โคม่า ได้ถึง 3 เท่าของผู้ป่วยทั่วไป แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่

โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก

อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ ชนิดของมะเร็งกระดูกที่เป็น ระยะของโรคมะเร็งว่าได้แพร่กระจายไปขนาดไหนแล้ว เกรดของโรคว่ามีความเร็วในการแพร่กระจายเชื้อเพียงใด ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานและเชื้อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายมาก จะรักษาหายได้ง่ายกว่า

จากภาพรวมของโรคจะพบว่า ประมาณ 6 ใน 10 คนที่เป็นโรคมะเร็งกระดูก จะมีชีวิตอยู่ได้อีกอย่างน้อย 5 ปี หลังการวินิจฉัยโรคและหลายคนก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้

อาการของโรคมะเร็งกระดูก

1. ปวดกระดูก 

อาการปวดกระดูก (Bone pain) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก โดยอาการปวดจะเริ่มต้นจากความรู้สึกกดเจ็บที่บริเวณกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็ง ก่อนจะค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นปวดเรื้อรัง หรือปวดแบบเป็นๆ หายๆ และอาการจะเกิดตลอดเวลาแม้ช่วงเวลากลางคืน หรือในขณะพัก

2. อาการปวดอื่นๆ

ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการบวมแดง อักเสบ หรือคลำพบก้อนอยู่บนกระดูกหรือรอบๆ กระดูก ถ้ากระดูกที่เป็นมะเร็งอยู่ใกล้กับข้อต่อ อาการบวมที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ลำบาก และในบางกรณี มะเร็งกระดูกจะทำให้กระดูกอ่อนแอลง ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังมีอาการอื่นๆ ที่พบได้อีกแต่เป็นส่วนน้อย ได้แก่

  • มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • เหงื่อออก โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน

การวินิจฉัยมะเร็งกระดูก

หากคุณมีอาการปวดกระดูก แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ และทำการตรวจกระดูกบริเวณที่ปวดเพิ่มเติม จากนั้นแพทย์จึงจะตัดสินใจว่า คุณควรได้รับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จะตรวจดูอาการบวม ก้อนเนื้อที่คลำพบบริเวณกระดูก และสอบถามว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในบริเวณที่ปวดหรือไม่ และจะสอบถามเกี่ยวกับชนิดของอาการปวดว่าเป็นอย่างไรบ้าง

หลังจากแพทย์ตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะส่งคุณไปเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีปัญหาอื่นใดที่กระดูกหรือไม่ ถ้าผลจากการเอกซเรย์พบความผิดปกติเกิดขึ้น คุณจะถูกส่งต่อให้ไปพบแพทย์ศัลยกรรมกระดูก หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งกระดูก เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมต่อไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การทดสอบหรือการตรวจบางอย่างที่คุณจะได้รับเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และประเมินโรคมะเร็งกระดูก มีรายละเอียดดังนี้

1. เอกซเรย์ 

การเอกซเรย์ (X-Ray) จะทำให้มองเห็นกระดูกที่ถูกทำลายจากมะเร็งด้านใน หรือมีกระดูกที่เกิดขึ้นใหม่จากมะเร็ง และยังประเมินได้ด้วยว่าอาการของคุณเกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือไม่ เช่น กระดูกหัก (Fracture) หากภาพเอกซเรย์บอกว่าคุณอาจเป็นโรคมะเร็งกระดูก คุณจะได้รับการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมอีกครั้ง เนื่องจากมะเร็งกระดูกเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย จึงอาจมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่มากนัก 

2. การตรวจชิ้นเนื้อกระดูก 

การตรวจชิ้นเนื้อกระดูก (Biopsy) คือ วิธีที่แม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งกระดูก โดยแพทย์จะนำตัวอย่างของกระดูกที่มีอาการไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในการตรวจชิ้นเนื้อกระดูกยังทำให้รู้ได้ด้วยว่าชนิดของมะเร็งกระดูกที่เป็นคือชนิดใด และบอกระยะการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งได้

การนำตัวอย่างของกระดูกออกมา ทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การใช้เข็มเจาะเข้าไปดูดตัวอย่างกระดูกออกมา ซึ่งจะทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือการใช้ยาสลบ ขึ้นกับบริเวณของกระดูกที่เกิดอาการ โดยแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเข้าไปที่กระดูกเพื่อดูดเอาตัวอย่างของเนื้อเยื่อกระดูกออกมาแล้วนำไปตรวจ
  • การผ่าตัด จะอยู่ภายใต้การใช้ยาสลบ โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดเข้าไปที่บริเวณกระดูกเพื่อนำตัวอย่างของเนื้อเยื่อกระดูกออกมาตรวจ

การตรวจเพิ่มเติม

หากผลการตรวจชิ้นเนื้อกระดูกยืนยันหรือมีแนวโน้มว่าคุณอาจเป็นมะเร็งกระดูก คุณจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่าเชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใดแล้ว โดยจะทำการตรวจดังนี้

1. การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 

การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) คือ การใช้สนามแม่เหล็กเข้มข้นและคลื่นวิทยุเพื่อสแกน และสร้างเป็นภาพรายละเอียดของกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนในร่างกายของเรา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการประเมินขนาดและการแพร่กระจายของเนื้องอกมะเร็งในกระดูก และรอบๆ กระดูก

2. การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 

การตรวจด้วยวิธีนี้มีอีกชื่อที่คุ้นหูคือ "ซีที สแกน" (CT Scan) ซึ่งการทำซีที สแกนจะเป็นการใช้รังสีเอกซ์ (X-Ray) ช่วยสร้างเป็นภาพรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายเป็นภาพ 3 มิติ มักใช้เพื่อตรวจว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปถึงบริเวณปอดหรือไม่ และอาจมีการทำการเอกซเรย์ปอดร่วมด้วยเพื่อประเมินสภาวะดังกล่าว

3. การสแกนกระดูก

การสแกนกระดูก (Bone Scan) จะทำให้ได้ข้อมูลของสิ่งที่อยู่ภายในกระดูกซึ่งมีความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ โดยระหว่างการสแกนกระดูก จะมีการฉีดสารกัมมันตรังสี (Radioactive tracers) ทางหลอดเลือดดำเล็กน้อย จากนั้นบริเวณที่ผิดปกติของกระดูกจะดูดซับสารกัมมันตรังสีไว้อย่างรวดเร็วมากกว่ากระดูกปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นในระหว่างการตรวจสแกน

4. การเจาะตรวจไขกระดูก 

ถ้าคุณเป็นมะเร็งกระดูกชนิดอีวิง ซาร์โคม่า คุณอาจต้องทำการเจาะตรวจไขกระดูก (Bone marrow biopsy) เพื่อดูว่าเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปถึงไขกระดูกหรือยัง ซึ่งระหว่างการตรวจ แพทย์จะใช้เข็มเจาะเข้าไปในกระดูกเพื่อดูดเอาตัวอย่างของไขกระดูกออกมา วิธีการตรวจแบบนี้อาจทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือใช้ยาสลบ

ระยะและเกรดของมะเร็งกระดูก

เมื่อการทดสอบทั้งหมดสิ้นสุดลง แพทย์จะบอกได้ว่าคุณเป็นมะเร็งในระยะใด และอยู่ในเกรดใด ซึ่งสำหรับ "ระยะของมะเร็ง" จะเป็นการบอกว่าเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใดแล้ว ส่วน "เกรดของมะเร็ง" จะบอกว่ามะเร็งสามารถแพร่กระจายได้เร็วแค่ไหนในอนาคตที่จะถึงนี้

สำหรับระยะของมะเร็งกระดูกที่นิยมใช้ จะแบ่งออกได้ 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1: เป็นมะเร็งเกรดต่ำ และไม่แพร่กระจายไปจากกระดูก
  • ระยะที่ 2: มะเร็งยังคงไม่แพร่กระจายไปจากกระดูก แต่เกรดของมะเร็งจะสูงขึ้น
  • ระยะที่ 3: มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว เช่น ปอด

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกระยะ 1 และบางรายในระยะ 2 จะมีโอกาสรักษาหายขาด แต่ถ้าเป็นมะเร็งในระยะ 3 จะยากในการรักษาให้หายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาจะยังช่วยบรรเทาอาการและชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งได้

การรักษามะเร็งกระดูก

ในการรักษามะเร็งกระดูกจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งกระดูกที่เป็น และการแพร่กระจายของมะเร็งว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงสภาวะทางสุขภาพโดยรวมของคุณด้วย ซึ่งการรักษาหลักของมะเร็งกระดูก จะแบ่งออกได้ 3 วิธีคือ การผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา

1. การผ่าตัด

การผ่าตัด จะเป็นการนำกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป โดยปัจจุบันนี้ การผ่าตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออกจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 

  • การผ่าตัดที่ยังคงแขนและขาไว้ (Limb-sparing surgery) 
  • การผ่าตัดแขน หรือขาออก (Amputation) ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 10 ที่จำเป็นต้องผ่าตัดแบบนี้

1.1 การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกที่เป็นมะเร็งออกแต่ยังคงแขนและขาไว้ 

การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำก็ต่อเมื่อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปจากกระดูก และยังสามารถซ่อมแซมกระดูกทดแทนได้ โดยแพทย์จะนำกระดูกเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออก และอาจรวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงบางส่วนด้วย ในกรณีที่มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อแล้ว

ส่วนของกระดูกที่ถูกผ่าออกไปแล้วจะถูกแทนที่ด้วยกระดูกเทียม (Prosthesis) หรือส่วนของกระดูกจากบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย (Bone graft) แต่หากมะเร็งเกิดใกล้บริเวณข้อต่อ เช่น ข้อเข่า ก็สามารถผ่าตัดออกได้ และใส่ข้อเข่าเทียมเข้าไปแทน

1.2 การผ่าตัดแขนและขา 

การผ่าตัดแขนและขาออก จะจำเป็นในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีที่ยังคงแขนและขาไว้ได้ หรือ ผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดด้วยวิธีแรกแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยส่วนมากแพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดแบบนี้ ถ้าอาการของโรคมะเร็งลุกลามไปถึงขั้นรุนแรง เช่น

  • เชื้อมะเร็งแพร่กระจายจากกระดูกไปยังเส้นเลือดใหญ่ หรือเส้นประสาท
  • มีการติดเชื้อเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดด้วยวิธีที่คงแขนและขาไว้ ทำให้ต้องนำกระดูกเทียม หรือกระดูกจากส่วนอื่นๆ ที่เคยแทนที่ไว้ออก
  • มะเร็งเกิดขึ้นที่ส่วนของร่างกายซึ่งไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบวิธีคงแขนและขาไว้ได้ เช่น ข้อเท้า

ทีมแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยจะมีความเข้าใจในอาการตื่นกลัวที่ผู้ป่วยต้องเผชิญเมื่อทราบว่าจะต้องทำการตัดแขนหรือขาออก แต่ทางทีมแพทย์จะให้การช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดกับผู้ป่วย หรือในบางกรณี ผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้ลองพบกับผู้ป่วยอื่นที่เคยได้รับการตัดแขนหรือขาไปแล้ว 

ซึ่งภายหลังการตัดแขน หรือขา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการใส่แขนหรือขาเทียม ซึ่งมีการพัฒนาไปมากและสะดวกในการใช้งาน ปัจจุบันผู้ที่ใส่ขาเทียมจะสามารถเดิน วิ่ง และเล่นกีฬาได้เหมือนคนปกติ รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพียงแต่อาจต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการใส่แขนหรือขาเทียมสักพัก

การฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัด

ภายหลังการผ่าตัด คุณจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อให้ฟื้นตัวกลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติ เราเรียกว่า "การฟื้นฟูสภาพร่างกาย" (Rehabilitation) ซึ่งในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย คุณจะได้รับการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ร่างกายกลับมาทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ร่วมกับการทำกิจกรรมบำบัด ซึ่งจะสอนให้คุณมีทักษะช่วยเหลือตนเองในการทำกิจกรรมประจำวัน

และภายหลังการตัดแขน หรือขา คุณอาจได้รับการดูแลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยที่ตัดแขน หรือขา เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายต่อไป

2. การใช้ยาเคมีบำบัด

ยาเคมีบำบัดสามารถให้ได้ 4 วิธี เพื่อรักษามะเร็งกระดูก ดังนี้

  • ให้ก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดเนื้องอก และทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น
  • ให้ร่วมกับรังสีรักษาก่อนการผ่าตัด (chemoradiation) ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากในการรักษามะเร็งกระดูกชนิดอีวิง ซาร์โคม่า 
  • ให้หลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ
  • ให้เพื่อควบคุมอาการในผู้ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ (Palliative chemotherapy)

การใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งจะใช้ยาหลายตัวร่วมกัน โดยจะฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือใส่ทางสายสวนที่คาไว้ที่หลอดเลือดขนาดใหญ่

เวลาในการให้ยาเคมีบำบัดส่วนมากมักให้เป็นรอบๆ ในแต่ละรอบจะใช้เวลาหลายวัน และมีการหยุดพักเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองจากผลของยาเคมีบำบัด จากนั้นค่อยเริ่มรอบการรักษาใหม่อีกครั้ง โดยจำนวนรอบที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งและขึ้นกับเกรดของโรคมะเร็งด้วย

ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด

ยาเคมีบำบัดอาจช่วยในการรักษาและทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังทำลายเซลล์ปกติในร่างกายของเราไปด้วย จนทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยาเคมีบำบัด ได้แก่

ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ซึ่งเกิดจากยาเคมีบำบัดควรจะดีขึ้นหลังการรักษาสิ้นสุดลง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะมีบุตรยากถาวรได้ ซึ่งทีมแพทย์ที่ดูแลจะให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และจะให้คำปรึกษาหากผู้ป่วยมีความกังวลหรือข้อสงสัยใดๆ

3. การใช้รังสีรักษา

เช่นเดียวกับการใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษาสามารถใช้ได้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งกระดูก ควบคุมอาการ และเพื่อชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งในกรณีที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีการรักษาคือ แพทย์จะฉายรังสีเข้าไปที่กระดูกบริเวณที่เป็นมะเร็งโดยตรง ซึ่งระยะความถี่ในการฉายโดยปกติแล้ว ผู้ป่วยจะฉายรังสีทุกวัน เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ส่วนจะฉายกี่สัปดาห์นั้น ขึ้นอยู่กับระยะและการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง

ผลข้างเคียงของการใช้รังสีรักษา

การใช้รังสีรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การทำลายเซลล์มะเร็ง แต่เซลล์ปกติข้างเคียงก็อาจถูกทำลายไปได้ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้

  • ผิวร้อนแดง ระคายเคือง คล้ายกับอาการผิวไหม้แดด
  • ปวดข้อในบริเวณที่ทำการรักษา
  • รู้สึกคลื่นไส้
  • ผมร่วง และขนร่วงบริเวณที่รักษา
  • มีอาการอ่อนเพลีย

ผลข้างเคียงต่างๆ จะดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง ซึ่งจะไม่หายโดยทันที แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นและอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์

นอกจากการรักษาโรคมะเร็งกระดูกทั้ง 3 วิธีข้างต้นแล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาบางชนิดร่วมกับการรักษาด้วย เช่น ยาไมฟาเมอร์ไทด์ (Mifamurtide) ซึ่งเป็นยากระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน และมักถูกแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกประเภทออสทีโอซาร์โคม่าที่อายุยังน้อย และเป็นมะเร็งเกรดสูง สำหรับวิธีการให้ยาชนิดนี้คือ การให้ทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยแต่ละครั้งจะใช้เวลาให้ยาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจะปรับเป็นให้ยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 24 สัปดาห์

การติดตามอาการ

เมื่อการรักษาสิ้นสุดลง คุณจะได้รับการนัดหมายเพื่อติดตามอาการอย่างเป็นประจำว่า มะเร็งได้กลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ ซึ่งในช่วง 2 ปีแรกหลังการรักษา คุณจะได้รับการนัดหมายให้มาติดตามอาการบ่อยครั้ง อาจเป็นทุกๆ 3 เดือน จากนั้นความถี่จะลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี แต่หากคุณรู้สึกว่าตนเองมีอาการของโรคมะเร็งกระดูกกลับมาอีก หรือสงสัยว่ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรีบตรวจสอบอาการ


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Durfee, et al. (2016). Review of Osteosarcoma and Current Management. Rheumatology and Therapy, 3(2), pp. 221-243. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5127970/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)