ผักแพว (ฺBlood leaf)

เผยแพร่ครั้งแรก 10 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ผักแพว (ฺBlood leaf)

ผักแพว เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมรับประทานในทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน เนื่องจากเป็นผักที่ให้รสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางยา แพทย์พื้นบ้านในหลายๆ ท้องถิ่น จึงนิยมนำผักแพวมาเข้าตำรับยา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Iresine herbstii  Hook.

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อวงศ์            AMARANTHACEAE

ชื่อพ้อง            Iresine diffusa  F. subsp. herbstii (Hook.) Petersen

ชื่ออังกฤษ         Blood-Leaf

ชื่อท้องถิ่น         ผักแผ่วสวน ผักแพวแดง ละอองใบด่าง อีแปะ

หมายเหตุ  ผักแพวที่กล่าวถึงในบทความนี้คือผักแพวแดง เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับผักแพว ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polygonum odoratum Lour. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Persicaria odorata (Lour.) Soják จัดอยู่ในวงศ์ POLYGONACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักแพว

ต้นผักแพว เป็นพืชที่มีลำต้นตั้งตรงหรือแผ่กระจายอยู่บนผิวดิน สูงประมาณ 1 เมตร มีขนหยาบและแข็งปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบที่อยู่ใกล้ยอด เรียงสลับกัน ส่วนใหญ่ไม่มีก้านใบ ใบรูปหอกหรือยาวแคบ ขนาดกว้าง 0.8-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบรูปหัวใจ ด้านบนเป็นตุ่มๆ มีขนแข็งออกมาจากตุ่ม มีขนหงิกงอประปราย ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ใกล้เรือนยอด ใบใกล้ยอดจะลดรูปเห็นเป็นช่อที่ยอด กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบติดกันที่โคน รูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยม ยาว 1-2 เซนติเมตร ขนสีขาวหรือสีเทา ติดทนจนเป็นผล กลีบดอกติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ปลายบานออกเล็กน้อย แยกเป็น 5 กลีบซ้อนบิดไปทางซ้าย กลีบเลี้ยงหุ้มเกสรอยู่ ภายในมีผลแข็งขนาดเล็ก 4 ผล ยาว 3-4 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คุณค่าทางโภชนาการของผักแพว ต่อ 100 กรัม 

ให้พลังงาน 54 กิโลแคลอรี

ที่มา: กองโภชนาการ กรมอนามัย (ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย)

สรรพคุณของผักแพว

ตามตำราแพทย์แผนไทย กล่าวว่า รากผักแพวแดง มีฤทธิ์ร้อน ใช้สำหรับแก้โรคเกี่ยวกับลมในลำไส้ เช่น อาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องมาน กระเพาะอาหารพิการ อุจจาระพิการ และยังสามารถแก้ริดสีดวงจมูก แก้หืดไอ แก้เส้นประสาทพิการ แก้ปวดเมื่อยตามข้อกระดูก แก้เลือดตีขึ้น แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมถึงใช้ปรุงเป็นยาบำรุงเลือดลมของสตรี ดังนี้

  • กรณีใช้เพื่อรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการจุกเสียด แน่นท้อง เป็นต้น มักนำเข้าตำรับยาขับลมอื่นๆ เช่น ขิง พริกไทย ดีปลี เป็นต้น โดยนำตัวยาสมุนไพรมาต้มในน้ำเดือด ใส่น้ำ 3 ส่วน แล้วต้มให้น้ำงวดเหลือ 1 ส่วน รับประทานหลังอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือหลังมีอาการ
  • กรณีใช้เพื่อรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหืดไอ เป็นต้น มักนำเข้าตำรับยาบรรเทาไข้หวัดอื่นๆ เช่น หัวหอม ผิวมะกรูด ว่านหอมแดง เปราะหอม เป็นต้น โดยนำสมุนไพรสดมาโขลกหยาบๆ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง นำมาสุมกระหม่อมในเด็กที่มีอาการไข้หวัด จะช่วยบรรเทาอาการหืดไอและคัดแน่นจมูกได้
  • กรณีใช้เพื่อรักษาเกี่ยวกับอาการประจำเดือนมาไม่ปกติหรือบำรุงเลือดลมในสตรี มักนำเข้าตำรับยาบำรุงเลือดอื่นๆ เช่น ไพล เจตมูลเพลิง แสมสาร แสมทะเล เป็นต้น โดยนำสมุนไพรมาต้มในน้ำเดือด ใส่น้ำ 3 ส่วน แล้วต้มให้น้ำงวดเหลือ 1 ส่วน รับประทานหลังอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน
  • กรณีใช้เพื่อรักษาอาการเกี่ยวระบบกล้ามเนื้อและกระดูก มักนำเข้าตำรับกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ม้ากระทืบโรง กันเกรา โมกมัน เป็นต้น โดยนำสมุนไพรมาดองในเหล้า 40 ดีกรี ดื่มรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

ผักแพวสามารถต้านมะเร็งได้หรือไม่?

ในปี ค.ศ. 2012 มีการศึกษาวิจัยโดยนำสารสกัดจากใบผักแพวไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งปากมดลูกในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดจากใบผักแพวสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปากมดลูกได้ และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในระดับหลอดทดลองเท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติม

การนำผักแพวมาปรุงอาหาร

ยอดอ่อนและใบอ่อนของพักแผว ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้แกล้มกับอาหารที่มีรสจัด ใช้เป็นเครื่องเคียงของอาหารอีสาน อาหารเหนือ อาหารเวียดนาม เช่น แหนมเนือง เป็นต้น หรือนำมาหั่นเป็นฝอยเป็นส่วนประกอบอาหารประเภทลาบ ลู่ ตำซั่ว ก้อยกุ้งสด ข้าวยำ  

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานผักแพว

หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักแพว เนื่องจากผักแพวมีฤทธิ์ร้อน และมีสรรพคุณช่วยขับประจำเดือน รวมถึงมีผลต่อการบีบตัวของมดลูก จึงอาจเสี่ยงต่อการตกเลือดได้


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Dipankar Chaudhuri, Murugan Sevanan, Murugan Sevanan. Phytochemical Composition of the Extracts from Iresine herbstii and its Therapeutic use via Antioxidant and Cytotoxic Potential by Multiple In Vitro Assays. International Journal of Phytomedicine 4(4):477-485
โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ, ประมวลสรรพคุณยาไทย ภาคสอง, 2521.
วุฒิ วุฒิธรรมเวช, สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย, 2540.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป