กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ท่อนำไข่อุดตัน สาเหตุ การตรวจ และการรักษา

ตั้งครรภ์ยาก ตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจเกิดจากภาวะท่อนำไข่อุดตัน รู้ก่อน รักษาทัน
เผยแพร่ครั้งแรก 29 ก.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ท่อนำไข่อุดตัน สาเหตุ การตรวจ และการรักษา

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ภาวะท่อนำไข่อุดตัน มักเกิดจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะท่อนำไข่อุดตันได้ เช่น มีประวัติติดเชื้อในมดลูกจากการแท้งบุตร เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน มีประวัติไส้ติ่งอักเสบและแตก หรือมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • โดยปกติแล้วภาวะท่อนำไข่อุดตันจะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ยกเว้นการอุดตันแบบพิเศษที่เรียกว่า "Hydrosalpinx" โดยอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยและตกขาวผิดปกติ
  • ภาวะท่อนำไข่อุดตันส่งผลให้มีบุตรยาก เนื่องจากไข่ไม่สามารถมาที่มดลูกได้และอสุจิไม่สามารถมาถึงไข่ได้
  • หากเข้ารับการผ่าตัดรักษาการอุดตันท่อนำไข่แล้วเกิดการตั้งครรภ์ จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง 

ท่อนำไข่ เป็นท่อบางๆ สองท่อ แต่ละท่ออยู่ในมดลูกแต่ละข้าง มีหน้าที่ช่วยนำไข่ที่เจริญเต็มที่แล้วจากรังไข่มายังมดลูก เมื่อเกิดการอุดกั้นป้องกันไม่ให้ไข่เดินทางมาตามท่อนำไข่ได้ ผู้หญิงก็จะมีภาวะท่อนำไข่อุดตัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้

ภาวะท่อนำไข่อุดตันยังเป็นที่รู้จักกันในปัจจัยเรื่องการมีบุตรยาก โดยเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากมากถึง 40% ในกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะดังกล่าว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ท่อนำไข่อุดตันทำให้มีบุตรยากได้อย่างไร?

เมื่อเกิดการตกไข่ในแต่ละเดือน ไข่จะถูกปล่อยออกมาจากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง และเดินทางผ่านมาทางท่อนำไข่เข้าสู่มดลูก อสุจิจำเป็นต้องว่ายมาจากปากมดลูก ผ่านมดลูก ผ่านท่อนำไข่ เพื่อจะมาให้ถึงไข่ 

การปฏิสนธิมักเกิดขึ้นขณะที่ไข่กำลังเดินทางมาตามท่อนำไข่ 

หากท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างเกิดการอุดตัน ไข่ก็ไม่สามารถมาที่มดลูกได้และอสุจิก็ไม่สามารถมาถึงไข่ได้ ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ 

บางรายท่อนำไข่อาจไม่ได้อุดตันโดยสมบูรณ์แต่อุดตันเพียงบางส่วน ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ในท่อนำไข่ หรือที่เรียกว่า การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) ได้

อาการของท่อนำไข่อุดตัน

  • ภาวะนี้แทบไม่ก่อให้เกิดอาการ ต่างจากการไม่มีไข่ตกซึ่งประจำเดือนที่มาไม่สม่ำเสมออาจช่วยบ่งบอกปัญหาได้
  • ชนิดของการอุดตันของท่อนำไข่แบบพิเศษที่เรียกว่า Hydrosalpinx* หรือท่อนำไข่โป่งพองเป็นถุงน้ำ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย และตกขาวผิดปกติได้ แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีอาการ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุบางประการของท่อนำไข่อุดตันก็สามารถนำไปสู่ปัญหาอื่นได้ เช่น 

  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) 
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease) 
  • อาจทำให้มีอาการปวดประจำเดือน และเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงการอุดกั้นของท่อนำไข่เสมอไป

*ภาวะ Hydrosalpinx เกิดขึ้นเมื่อการอุดตันที่ทำให้ท่อนำไข่โป่งพองเนื่องจากมีน้ำอยู่เต็ม น้ำดังกล่าวจะขัดขวางไข่และอสุจิ ป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ภาวะท่อนำไข่อุดตันเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ “ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ” ซึ่งเป็นผลมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสมอไป ถึงแม้ว่าจะหายจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบแล้ว แต่ประวัติการเคยมีภาวะดังกล่าว หรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันของท่อนำไข่

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดท่อนำไข่อุดตันได้

  • การติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกำลังติดเชื้อ หรือเคยติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อ Chlamydia (คลามายเดีย) หรือ Gonorrhea (โกโนร์เรีย)
  • ประวัติการติดเชื้อในมดลูกจากการแท้งบุตร หรือการทำแท้ง
  • ประวัติไส้ติ่งอักเสบและแตก
  • ประวัติการผ่าตัดในช่องท้อง
  • เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน
  • การผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับท่อนำไข่ก่อนหน้า
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

การวินิจฉัยภาวะท่อนำไข่อุดตัน

ภาวะท่อนำไข่อุดตันมักได้รับการวินิจฉัยจากการตรวจพิเศษทางรังสี เรียกว่า "การตรวจฉีดสีดูท่อนำไข่และมดลูก (Hysterosalpingogram: HSG)"

ขั้นตอนการตรวจ แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีผ่านทางปากมดลูกโดยใช้ท่อเล็กๆ เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว แพทย์จะถ่ายภาพเอ็กซเรย์บริเวณท้องน้อย 

หากทุกอย่างเป็นปกติ สารทึบรังสีจะผ่านเข้าไปในมดลูก ผ่านท่อนำไข่ และผ่านออกมาสู่รอบๆ รังไข่ เข้าสู่อุ้งเชิงกราน หากสารทึบรังสีผ่านท่อนำไข่ไปไม่ได้ อาจแสดงถึงการมีภาวะท่อนำไข่อุดตัน

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ว่า ผู้หญิง 15% อาจตรวจเป็นผลบวกลวงได้ เนื่องจากสารทึบรังสีไม่สามารถผ่านมดลูกไปยังท่อนำไข่ได้ เพราะการอุดตันในกรณีนี้เกิดขึ้นที่รอยต่อของท่อนำไข่และมดลูกพอดี 

หากเป็นเช่นนี้แพทย์อาจนัดตรวจใหม่อีกครั้ง หรือตรวจยืนยันด้วยวิธีอื่นแทน

วิธีการตรวจอื่นๆ

  • การทำอัลตราซาวน์
  • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) ซึ่งจะใช้กล้องผอมๆ เล็กๆ ส่องผ่านปากมดลูก เพื่อดูในโพรงมดลูก 
  • อาจตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia) ซึ่งบ่งชี้เรื่องการติดเชื้อที่กำลังมีอยู่ หรือเคยมีในอดีต

วิธีการรักษาเมื่อมีภาวะท่อนำไข่อุดตัน เพื่อการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

  • หากท่อนำไข่อีกข้างปกติดี อาจตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องใช้ความช่วยเหลือมากนัก แพทย์จะให้ยากระตุ้นการเจริญพันธุ์ เพื่อเพิ่มการตกไข่ของรังไข่ข้างที่ท่อนำไข่ไม่อุดตัน แต่นี่ไม่ใช่ทางเลือกในกรณีที่ท่อนำไข่ทั้งสองข้างอุดตัน
  • ในบางกรณี การผ่าตัดส่องกล้องสามารถแก้การอุดตันของท่อนำไข่ หรือเอาเนื้อพังผืดที่ทำให้เกิดปัญหาออกไปได้ แต่การรักษานี้ไม่ได้ผลเสมอไป โอกาสที่จะสำเร็จขึ้นอยู่กับช่วงอายุ (ยิ่งอายุน้อยยิ่งดี) ตำแหน่ง ความรุนแรง และสาเหตุของการอุดตัน
  • หากมีเพียงพังผืดบางๆ ระหว่างท่อนำไข่และรังไข่ โอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้หลังการผ่าตัดถือว่าดี 
  • หากมีการอุดตันของท่อนำไข่ที่ไม่มีปัญหาอื่นๆ อีก โอกาสที่จะตั้งครรภ์หลังการผ่าตัดจะเป็น 20-40%
  • หากมีพังผืดหนาหลายตำแหน่ง และมีพังผืดแผลเป็นอยู่ระหว่างท่อนำไข่และรังไข่ หรือหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นท่อนำไข่โป่งพองเป็นถุงน้ำ การผ่าตัดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี และยิ่งหากมีประเด็นเรื่องภาวะมีบุตรยากของฝ่ายชายด้วยแล้ว ยิ่งควรมองข้ามเรื่องการผ่าตัดไปได้เลย ในกรณีเหล่านี้ อาจรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF) จะเหมาะสมกว่า

ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูกจะสูงขึ้นหลังการผ่าตัดรักษาการอุดตันของท่อนำไข่ หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะนัดตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยในการตั้งครรภ์ 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Tubal factor infertility (fallopian tube obstruction) (https://www.columbiadoctors.org/condition/tubal-factor-infertility-fallopian-tube-obstruction), 15 January 2020.
Traci C. Johnson, MD, Endometriosis and Fallopian Tube Problems (https://www.webmd.com/women/endometriosis/endometriosis-and-fallopian-tube-problems), 8 June 2020.
Sotrel G., Is surgical repair of the fallopian tubes ever appropriate? (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2760895/), 15 January 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป