ท้องอืดบ่อย ควรหลีกเลี่ยง และงดอาหารเหล่านี้

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ท้องอืดบ่อย ควรหลีกเลี่ยง และงดอาหารเหล่านี้

อาการท้องอืด หากใครเคยเป็นแล้วก็จะรู้ว่ามันอึดอัดขนาดไหน จะนั่งจะนอนจะทำอะไรก็ไม่สะดวกดูอึดอัดไปหมด ซึ่งเป็นเพราะมีลมอยู่ในช่องท้อง ส่วนใหญ่อาการท้องอืดนี้มักเกิดจากการกินมากเกินไปจนอิ่มเกิน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการท้องอืดก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องกินเยอะ แต่เกิดจากอาหารที่เรากินไปนี่เอง ซึ่งจากงานวิจัยล่าสุด พบว่า ท้องอืดเกิดได้จากการกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งจะมีการดูดซึมในลำไส้น้อย และมักเต็มไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติสูง

ผศ. ดร.Julia Greer มหาวิทยาลัย Pittsburgh สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายว่าอาหารในกลุ่ม ที่ว่านี้ จะถูกดูดซึมในลำไส้เล็กได้เพียงเล็กน้อย หรือบางครั้งก็ย่อยได้ไม่หมดและจากนั้นมันก็เกิดการหมักโดยเชื้อจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร จนทำให้เกิดแก๊สขึ้นในลำไส้ใหญ่ และส่งผลให้รู้สึกท้องอืดได้นั่นเอง สำหรับวิธีบรรเทาอาการท้องอืด ดร.Greer แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆเพื่อช่วยขับแก๊ส แต่หากมีอาการแน่นท้องอยู่บ่อย ๆ ก็อาจต้องเลี่ยงอาหารบางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการไม่สบายดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ถั่ว

จัดว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยให้เป็นน้ำตาลได้ยาก หรือคือ เป็นเส้นใยอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ตามธรรมชาติ ไม่สามารถถูกดูดซึมได้ในลำไส้เล็ก จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ ซึ่งมักพบในประเภทถั่วเปลือกแข็งทั้งหลาย ดังนั้นหากจะรับประทานถั่วให้มีความสุขและท้องไม่อืด จึงควรนำถั่วเปลือกแข็งแช่น้ำค้างคืน ทิ้งไว้ ซึ่งน้ำจะช่วยให้ถั่วอ่อนนิ่มและยับยั้งคาร์โบไฮเดรตได้ จึงช่วยทำให้ลดอาการท้องอืดที่เกิดขึ้นได้

โยเกิร์ต

เป็นที่รู้กันว่าโยเกิร์ตมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย แต่บางชนิดก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ เพราะโยเกิร์ตคือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ได้จากการหมัก จึงอุดมด้วยน้ำตาลแล็กโทส หรือน้ำตาลที่พบในน้ำนมอยู่มากมาย จึงอาจทำให้เกิดการหมักอยู่ในลำไส้และกลายเป็นฟองแก๊สได้ เมื่อทานเข้าไปจึงอาจรู้สึกเหมือนมีลมและปั่นป่วนท้อง ซึ่งหากไม่อยากให้เกิดอาการนี้ก็ควรกินกรีกโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ซึ่งมีน้ำตาลเพียง 12 กรัมและให้โปรตีนสูง ส่วนโยเกิร์ตที่ปราศจากไขมันหรือแบบไขมันต่ำจะยิ่งทำให้เกิดแก๊สในท้องมากยิ่งขึ้น

หอมหัวใหญ่

ในหัวหอมใหญ่จะมี ฟรุกแทน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เป็นปัญหาต่อช่องท้อง เนื่องจากพืชผักตระกูลหอม ไม่ว่าจะเป็น หัวหอมแดง หัวหอมใหญ่ หรือต้นหอม มักดูดซึมในลำไส้ได้น้อย และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำในลำไส้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดแก๊สและท้องอืดตามมา

ผักตระกูลกะหล่ำ

ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี บรอกโคลี หรือกะหล่ำดอก ล้วนมีคาร์โบไฮเดรตที่เรียกว่าแรฟฟิโนส ประกอบด้วยน้ำตาล 3 ชนิดคือ ฟรักโทส กลูโคส และกาแลกโทส ซึ่งร่างกายจะไม่สามารถย่อยในระบบทางเดินอาหารได้ จนกว่าผักเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปยังลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะถูกย่อย แต่กว่าจะย่อยได้หมด กากอาหารจากผักนั้นก็จะเกิดการหมักหมม จนกลายเป็นแก๊ส ซึ่งหากไม่อยากท้องอืดก็ควรนำไปอบหรือย่างให้สุกก่อนกิน

แตงโม

ไม่น่าเชื่อว่าผลไม้แสนอร่อยอย่างแตงโมจะทำให้ท้องอืดได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะแตงโมจะอุดมไปด้วยน้ำตาลฟรักโทสในระดับที่สูงมาก ซึ่งในผู้ที่รับประทาน ประมาณ 30-40% ของคนส่วนใหญ่ จะไม่สามารถดูดซึมฟรักโทสได้อย่างเต็มที่ จึงนำไปสู่อาการท้องอืด หรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สารให้ความหวานสังเคราะห์

สำหรับสารให้ความหวานสังเคราะห์อย่างซอร์บิทอล และไซลิทอลถือว่าเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในหมากฝรั่ง ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้จะดูดซึมในลำไส้เล็กได้ค่อนข้างช้า จึงอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด แน่นท้อง และอาจท้องเสียตามมาได้

ธัญพืช

ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือ ข้าวไรย์ ต่างก็มีส่วนประกอบของฟรุกแทน ที่ไม่สามารถย่อยได้เองตามธรรมชาติ และเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่แพ้กลูเตน ซึ่งก็คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบการย่อยทางพันธุกรรม จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับกลูเตนซึ่งไม่สามารถย่อยในลำไส้เล็กได้ จึงทำให้มีอาการคล้ายๆกับการแพ้นม ดังนั้นการกินธัญพืชเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเยื่อบุของลำไส้เล็กและทำให้เกิดแก๊สขึ้นมาในท้อง บางคนอาจท้องเสีย หรือท้องผูกร่วมด้วย แต่ถึงแม้จะไม่ได้แพ้กลูเตนเลยก็ตาม เส้นใยจากพืชที่ไม่ละลายแบบนี้ก็จะถูกหมักโดยเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ นำไปสู่การเกิดแก๊สเป็นจำนวนมากได้อยู่ดี ดังนั้นในการกินธัญพืชแบบนี้ก็ควรสังเกตตัวเองให้ดี และอย่ากินเป็นจำนวนมาก

เมื่อรู้ว่าอาการท้องอืดสุดทรมานไม่ได้เกิดจากการกินเกินอย่างเดียว แต่อาหารก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ หากเป็นอย่างนี้ ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยกินให้พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป นอกจากนี้ในกินอาหารแต่ละครั้งก็ควรคี้ยวอย่างช้าๆสัก 15 ครั้งต่อ 1 คำก็จะดีที่สุด และอย่ารับประทานเนื้อสัตว์พร้อมๆกับผลไม้ เพราะเนื้อสัตว์จะย่อยได้ช้ากว่าแล้วจะไปขัดขวางการย่อยผลไม้ด้วย ก็จะยิ่งทำให้ท้องอืดไปใหญ่ หากทำได้แค่นี้รับรองได้ว่าอาการท้องอืดเหมือนมีลมอยู่เต็มท้องจะลดน้อยลงโดยไม่ต้องพึ่งยาแก้ท้องอืด หรือยาขับลมอีกต่อไป


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Beat the bloat. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/remedies-for-bloating-and-wind/)
Best and Worst Foods for Bloating. Health.com. (https://www.health.com/food/best-and-worst-foods-for-bloating)
21 Causes of Bloating, OTC Products & Foods to Avoid. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/why_am_i_so_bloated/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)