ประโยชน์ของเตยหอม ไอเดียการกิน การใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

สรรพคุณใบเตยมีอะไรบ้าง วิธีการกิน การใช้ใบเตย
เผยแพร่ครั้งแรก 24 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ประโยชน์ของเตยหอม ไอเดียการกิน การใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

สมุนไพรชื่อน่าดึงดูดอย่าง "เตยหอม" มักจะไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตาคนสมัยใหม่เท่าใดนัก แต่หากเรียกใบเตยเฉยๆ ทุกคนก็ต้องร้องอ๋อ เพราะทั้งสองชื่อ คือพืชชนิดเดียวกัน ใบเตยหรือเตยหอมนั้นคือหนึ่งในสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน เป็นทั้งยาและเป็นส่วนประกอบที่มักนำไปใช้กับอาหารทั้งคาวหวานได้หลากหลาย มีกลิ่นหอมอันมีเอกลักษณ์ อีกทั้งยังนำไปใช้ปรุงแต่งเพิ่มรสชาติความหอมด้านรสสัมผัสด้วย

ภายนอกอาจจะดูเป็นพืชหน้าตาธรรมดาที่ไม่น่าสนใจ แต่หากได้รู้จัก เตยหอมถือว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าด้านสมุนไพร ช่วยบำรุงร่างกาย และยังใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นลองมาทำความรู้จักและเรียนรู้ไอเดียสร้างสรรค์เมนูปรุงอาหาร โดยมีเตยหอมเป็นส่วนประกอบกันเลยดีกว่า

ทำความรู้จักกับใบเตย

เตยหอม (Pandan Leaves) หรือใบเตยที่กล่าวไปข้างต้น ลักษณะลำต้นเป็นกอขนาดเล็ก ต้นจะเติบโตจากใต้ดินขึ้นมา ใบเป็นสีเขียวโดดเด่นเรียวยาว หากเป็นใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน แต่ใบที่แก่แล้วก็จะเริ่มมีสีเขียวเข้ม จัดอยู่ในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว หากใช้มือสัมผัสขอบใบจะมีไขเคลือบอยู่ที่ผิว ทำให้ใบมีความมันวาว และขอบใบเรียบ เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ตัวใบจะเวียนกันยาวออกมาเป็นเกลียวจนถึงปลายยอดสุด

ตัวใบมีความหอมแบบเฉพาะ ซึ่งกลายเป็นจุดดึงดูดที่ใครๆ ต่างก็มองหาพืชสมุนไพรชนิดนี้มาประยุกต์ใช้ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเสริมแต่งกลิ่นอาหาร และการใช้สีของเตยหอมมาใช้สร้างสรรค์ให้เมนูมีชีวิตชีวามากขึ้น ส่วนกลิ่นที่อยู่ในใบเตยหอมนั้น เป็นน้ำมันหอมระเหยที่เรียกกันว่า "Fragrant Screw Pine" และสีเขียวที่ได้ก็คือคลอโรฟิลล์ที่อยู่ในใบนั่นเอง

คุณค่าทางอาหารของเตยหอม

ส่วนประกอบของใบเตยหอม มีสารอาหารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพ ประกอบด้วยวิตามินและเกลือแร่หลากหลายชนิด หากเทียบใน 100 กรัม ในเตยหอมจะประกอบไปด้วย วิตามินซี 8 กรัม, เบต้าแคโรทีน 3 ไมโครกรัม, วิตามินบีสอง 0.1 มิลลิกรัม, วิตามินบีสามประมาณ 1-2 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม, แคลเซียม 123 มิลลิกรัม, เหล็ก, 0.1 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบด้านโภชนาการ เทียบใน 100 กรัม จะมีคาร์โบไฮเดรต 45 กรัม และโปรตีนอยู่ที่ประมาณ 2 กรัม พลังงานให้สูงถึง 35 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว

ประโยชน์ของเตยหอม

เตยหอมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเมนูอาหารหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นคาว หวาน หรือเครื่องดื่ม นอกจากนี้ความหอมที่มาจากน้ำมันหอมระเหย ยังสามารถนำไปใช้ดับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ ได้ โดยประโยชน์หลักที่น่าสนใจ มีดังต่อไปนี้

1. ใช้สำหรับสร้างสรรค์เมนูอาหารหวาน

ถือว่าเป็นความนิยมหลักที่นำเอาเตยหอมไปใช้เป็นส่วนประกอบ เพิ่มรสชาติของหวานให้มีความหอมตามธรรมชาติ ทำให้ขนมมีความอร่อยมากขึ้น แถมด้วยคลอโรฟิลล์ที่คั้นได้ออกมาจากใบ เป็นสีเขียวเข้ม นำมาปรุงแต่งเพิ่มสีสันให้เมนูขนมดูน่ากิน ปลอดภัยด้วยสีและกลิ่นที่มาจากธรรมชาติทั้งหมด โดยทั่วไปที่มักนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบ จะพบในขนมต้ม, ขนมลอดช่องน้ำกะทิ, ขนมถ้วย, ขนมเปียกปูน และขนมชั้น เป็นต้น

2. ใช้สำหรับดับกลิ่นอาหารคาว

ส่วนใหญ่ของการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารคาวก็เพื่อดับกลิ่นเนื้อสัตว์ อย่างเช่น เนื้อปลา เนื้อหมู และพวกเครื่องใน หรือมีการเพิ่มรสชาติให้เนื้อสัตว์ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เมนูยอดฮิตที่มักถูกสร้างสรรค์โดยการนำเอาเตยหอมไปซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปรุงพร้อมกับวัตถุดิบอื่นๆ อย่างเช่น ไก่ทอดใบเตย, ข้าวเหนียวนึ่งใบเตย, การทำเมนูปลานึ่งหรือปลาย่าง โดยยัดใบเตยหอมที่หอเป็นกำเข้าไปในท้องปลา เป็นต้น

3. ใช้สำหรับดับกลิ่น

ประโยชน์ในการใช้นอกเหนือจากนำไปปรุงอาหาร ก็คือการนำไปใช้ดับกลิ่นต่างๆ ภายในบ้าน และน้ำมันหอมระเหยของใบเตยหอมยังช่วยไล่ยุงและแมลงสาบ การนำไปใช้งานจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มัดใส่ถุงตาข่ายแขวนเอาไว้บริเวณใกล้ตัวเพื่อป้องกันยุงไม่ให้เข้าใกล้ และการนำไปใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า ตู้เย็น หรือวางไว้ในห้องเพื่อดับกลิ่นอับ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

4. ใช้ประโยชน์ในด้านประทินผิว

เรื่องความสวยความงาม เตยหอมก็ไม่แพ้ใคร เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อบำรุงผิวหน้า ด้วยวิธีล้างทำความสะอาดเตยหอมให้สะอาด แล้วนำหั่นและปั่นให้ละเอียด จะได้ออกมาเป็นเนื้อครีมเตยหอมที่มีความเหนียว ใช้มาร์กผิวหน้าช่วยทำให้ผิวใส กำจัดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสิว ลดความหมองคล้ำ ให้ผิวเรียบเนียนได้แบบปลอดภัย  หากใครมีปัญหาผิวหนังลอก คัน สามารถนำเอาใบสดตำพอหยาบ พอกบริเวณที่พบปัญหาผิวเป็นประจำ จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

ไอเดียสร้างสรรค์เมนูจากเตยหอมเพื่อสุขภาพ

1. น้ำกระเจี๊ยบใบเตยสามหาย

เมนูเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพิ่มความสดชื่นและเป็นเครื่องดื่มดับกระหายที่ทำได้ไม่ยาก โดยการนำเอาผลกระเจี๊ยบสด ใบเตยหอม และพุทราจีนมาล้างทำความสะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ แล้วนำไปต้มรวมพร้อมกับน้ำตาลในสัดส่วนความหวานที่ต้องการ 

เมื่อเคี่ยวจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงออกน้ำตาล ได้กลิ่นหอมของใบเตยและรสชาติเปรี้ยวอมหวานของกระเจี๊ยบผสมผสานกัน ยกจากเตาตั้งไว้ให้เย็น จะดื่มร้อนหรือใส่น้ำแข็งเป็นเครื่องดื่มเย็น ราดด้วยน้ำผึ้งอีกสักหน่อย รับรองว่าดับกระหายได้เป็นอย่างดี

2. ปลาช่อนทะเลย่างใบเตย

เมนูอาหารคาวที่ใช้ใบเตยดับกลิ่นคาวปลาเมนูนี้ เลือกใช้ปลาช่อนทะเลที่มีความอร่อยเฉพาะตัว และเลือกใบเตยใบล่างๆ ที่มีขนาดใหญ่ เด็ดมาตามความเหมาะสม จากนั้นให้นำปลา และเตยหอมไปล้างทำความสะอาด หั่นเนื้อปลาให้เป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำแบบสี่เหลี่ยมลูกเต๋า คลุกเคล้าด้วยเกลือและพริกไทย จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ ให้หนังกรอบ เมื่อสุกได้ที่แล้วนำขึ้นมาห่อเตยหอมที่เตรียมไว้ เสียบกลีบด้วยไม้ แล้วนำไปทอดด้วยไฟกลางจนใบเตยหอมกรอบอีกรอบ ยกขึ้นสะเด็ดน้ำมัน จัดใส่จานพร้อมเสิร์ฟ

3. กล้วยบวชชีมะพร้าวอ่อนกลิ่นใบเตย

เมนูขนมหวานผสมผสานวัตถุดิบเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยและมะพร้าวอ่อนที่ล้วนมีใยอาหารเป็นส่วนประกอบอย่างมากมาย รวมทั้งสารอาหารและวิตามินที่ดีต่อร่างกาย ในขั้นตอนการทำ คัดเอากล้วยน้ำหว้าห่ามๆ ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นขนาดพอดีคำ และเลือกเอามะพร้าวอ่อนขูดเตรียมเอาไว้ นำน้ำกะทิผสมน้ำเล็กน้อย ต้มด้วยไฟปานกลาง นำเตยหอมมัดด้วยเชือกผ้าลงไปต้มด้วยเพื่อช่วยเพิ่มกลิ่นหอม 

เติมน้ำตาลและเกลือลงไป จากนั้นนำกล้วยลงไปต้ม จนกะทิเดือดและสังเกตว่ากล้วยนิ่มในระดับที่ต้องการ ใส่มะพร้าวอ่อนตามลงไป เคี่ยวด้วยไฟอ่อนอีกสักหน่อย ก็เป็นอันเสร็จ พร้อมแบ่งเสิร์ฟใส่ถ้วยกินตอนร้อนๆ ได้ความหอมอร่อยที่ลงตัว 

คำแนะนำเพิ่มเติมคือ หากใครไม่ชอบความเลี่ยนของกะทิ ให้นำกล้วยต้มในน้ำเดือดใส่มัดใบเตยหอมก่อน จากนั้นพอได้ที่ เทกะทิตามลงไปในสัดส่วนที่น้อยลงมา แล้วค่อยตามด้วยส่วนประกอบอื่นๆ ก็จะได้รสชาติที่พอดีสำหรับคนที่ต้องการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ

ไอเดียการนำเตยหอมไปใช้เพื่อสุขภาพ

1.ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด

ใบเตย เป็นพืชที่ปราศจากน้ำตาล และการดื่มชาใบเตยสามรถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ เหมาะสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน  สามารถนำไปชงดื่มได้ทุกวัน โดยก่อนที่จะนำไปใช้ชง ให้นำใบเตยหอมหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วตากแดดจนแห้ง จากนั้นสามารถนำไปใช้ชงกับน้ำร้อนจิบเป็นชา ดื่มต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นได้

2. ช่วยบำรุงหัวใจ

สรรพคุณใบเตย มีส่วนช่วยบำรุงหัวใจและเพิ่มกำลังวังชา เนื่องจากเป็นพืชรสเย็น ใช้ดื่มน้ำสกัดแบบเข้มข้นจะทำให้รู้สึกชุ่มชื้น แก้กระหาย ทำให้หัวใจเต้นปกติ ลดความเครียด และทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ด้วยการนำเอาใบสดไปคั้นน้ำให้ได้ประมาณ 2 - 4 ช้อนโต๊ะ จากนั้นรับประทานทันที หรือผสมน้ำอุ่นและน้ำผึ้งลงไปสักเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความอร่อยให้มากขึ้นได้

3. ช่วยขับปัสสาวะ

ต้นเตยหอมมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการขับน้ำ เพียงแค่ใช้ส่วนของต้นหรือรากมาต้มน้ำดื่ม ก็กลายเป็นสมุนไพรแบบง่ายๆ ที่ปลอดภัย ช่วยขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่มีปัญหาได้

4. บำรุงสมอง แก้อาการอ่อนเพลีย

เตยหอมมีสารที่ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงประสาทและสมอง ทำให้มีชีวิตชีวา สดใสหลังจากตื่นนอนตอนเช้า ไม่งัวเงียหรือรู้สึกไม่สดชื่นในระหว่างวัน ด้วยการดื่มน้ำใบเตยเป็นประจำวันละ 1 - 2 แก้ว โดยใช้การคั้นสดหรือชงเป็นชาที่ได้จากใบแห้ง ก็ให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สมองตื่นตัว เพิ่มสมาธิและบำรุงระบบประสาทในกลุ่มผู้สูงอายุได้ด้วย

5. ต้านอนุมูลอิสระ

 มีงานวิจัยทำการศึกษาคุณสมบัติการต้านการออกซิเดชั่นของสารสกัดจากใบเตยหอม พบว่าสารสกัดใบเตยหอม มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทนความร้อนได้ จีงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสารต้านอนุมูลอิสระสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมอาหาร

ข้อควรระวังในการใช้เตยหอม

เตยหอมไม่เหมาะสำหรับการรับประทานในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อม โรคไต ไม่ว่าจะเป็นโรคไตเรื้อรังหรือโรคไตเฉียบพลันก็ตาม รวมไปถึงกลุ่มผู้ปวยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนไปที่ไต หากต้องการใช้บริโภคจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและอยู่ในความควบคุมของแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของไตต้องจำกัดปริมาณน้ำที่ได้รับ การนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพ ด้วยวิธีชงดื่ม อาจทำให้ได้รับน้ำมากเกินไปจนทำให้ไตทำงานหนัก เกิดเป็นอันตรายรุนแรงตามมาได้

ทั้งหมดนี้ คือ ประโยชน์ที่น่าสนใจของเตยหอม พืชสมุนไพรธรรมชาติที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรุงอาหาร สร้างสรรค์รสชาติและสีสัน ใช้บำรุงสุขภาพ ดูแลผิวพรรณ เรื่องความสวยความงามก็ล้วนให้สรรพคุณเด่นที่น่าสนใจทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์จากเตยหอม โดยเฉพาะการนำไปด้านการรักษา ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ใช้รักษาควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันด้วย เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นกับคนบางกลุ่มได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
จิตรลดา ศรีสารคาม .(2534), ผลของน้ำสกัดรากเตยหอม ต่อการขับปัสสาวะในสุนัข (http://tdc.thailis.or.th)
ณัฐกานต์ หนูรุ่น. (2553), ผลของสารสกัดใบเตยหอมต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด(http://thesis.grad.chula.ac.th...1.php)
Fatihanim MohdNor. (2008). Antioxidative properties of Pandanus amaryllifolius leaf extracts in accelerated oxidation and deep frying studies. Food Chemistry,Volume 110, Issue 2, 15 September 2008, Pages 319-327

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)