กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ประโยชน์ของดาวเรือง ไอเดียการกิน การใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

เผยแพร่ครั้งแรก 24 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของดาวเรือง ไอเดียการกิน การใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

ดาวเรือง ถือเป็นไม้ดอกที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยความสวยงามอันโดดเด่น สีเหลืองอร่ามสวยงามสะดุดตา นิยมทั้งปลูกเพื่อตกแต่งตามอาคารบ้านเรือนและนำมาใช้เพื่อบูชาพระ ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้ว ดาวเรือง ยังมีสรรพคุณเป็นยา ใช้บำรุงร่างกายและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีการนำดาวเรือง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นดอกนำมาแปรรูปเพื่อการบริโภค ทั้งการนำมาปรุงอาหาร และที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือนำมาแปรรูปเป็นชาชงพร้อมดื่ม

รู้จักดาวเรือง

ดาวเรือง มีชื่อเรื่องทางวิทยาศาสตร์ว่า Tagetes erecta L. ชื่อสามัญที่เรียกกันทั่วไปว่า Marigold เป็นดาวเรืองในกลุ่ม African หรือ American marigold เป็นพันธุ์ดอกใหญ่ พันธุ์ที่ใช้เป็นการค้าในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์ซอเวอร์เรน (soverign) มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก แต่ต่อมามีการนำไปปลูกทั้งในยุโรปและเอเชีย ทั้งในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศ ทั้ง อียิปต์ ฮังการี สเปน ฝรั่งเศส และหลายประเทศในแถบอเมริกาใต้ ดาวเรืองมีหลายชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน ดาวเรืองฝรั่งเศส และดาวเรืองพันธุ์ลูกผสม (ดาวเรืองล่อ) ความสูงของต้นแตกต่างกันไป ประมาณ 60 – 100 เซนติเมตร สีของดอกดาวเรืองจะอยู่ในกลุ่มสีขาว สีเหลือง และสีส้ม ดาวเรือง นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง และใช้เพื่อการตกแต่งสถานที่ที่อยู่อาศัย เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก แต่ก็อาจจะใช้การปักชำได้ด้วยเช่นกัน แต่ต้นที่ได้จะให้ดอกที่มีขนาดเล็กกว่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ลักษณะของดาวเรือง

ดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นแบบพุ่มสูง ใบของดาวเรืองเป็นใบประกอบที่มีความสวยงามโดดเด่นแบบขนนก โดยมีใบย่อยอยู่ประมาณ 11-17 ใบ ลักษณะของใบย่อยจะเป็นแบบรูปรี ปลายใบจะมีลักษณะแหลม ซึ่งมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ลักษณะเนื้อใบนิ่ม ส่วนดอกดาวเรืองจะออกดอกเป็นดอกสีเหลืองสวยสดใสหรือสีเหลืองปนส้ม โดยออกเป็นดอกเดี่ยวตามช่วงปลายยอด กลีบของดอกดาวเรืองจะมีขนาดใหญ่เรียงตัวซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย โดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นเรียงซ้อนกันแน่น เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกจะมีลักษณะเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กแทรกตัวอยู่ตรงกลางช่อดอก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบเลี้ยงของดอกนั้นจะเป็นสีเขียวซึ่งเชื่อมติดกันและหุ้มโคนช่อดอกกับก้านที่ชูดอกยาวอย่างโดดเด่น นอกจากนี้ ดาวเรืองยังมีส่วนที่เป็นผล ซึ่งผลของดาวเรือง จะมีลักษณะเป็นผลแห้งสีดำไม่แตก ดอกแห้งติดกับผล

สารสำคัญที่พบในดาวเรือง

ในดอกดาวเรืองมีสารประกอบจำนวนมาก ได้แก่ สาร Flavonoid glycosides, Tagetiin 0.1% และมีสารเรืองแสง Terthienyl 15-21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของดอกสด นอกจากนี้ยังมี Helenien 74%, B-Carotene Flavoxanthin และสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่สำคัญ ได้แก่ ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีม (Zeaxanthin) ในใบดาวเรืองมีสารคาเอมพ์เฟอริตริน (Kaempferitrin) ซึ่งมีฤทธิ์แก้อาการอักเสบนอกจากนี้ยังมีวิตามินพี (Vitamin P หรือ Bioflavonoids) ค่อนข้างสูง และส่วนของต้นยังพบยังพบน้ำมันระเหย เช่น Carotent, d-limonene, Flavoxanthin, Helenienm Nonanal, Ocimene, Tagetiin, Tagetone d-Terethienyl เป็นต้น รวมทั้งยังพบว่าในดอกดาวเรืองมีสารฆ่าแมลงที่ชื่อว่า Pyrethrin และนำมันหอมระเหย ซึ่งแสดงฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

ประโยชน์ของดาวเรือง

ดาวเรือง ไม่ได้เป็นแค่เพียงดอกไม้ประดับความสวยงามให้แก่สถานที่แต่เพียงเท่านั้น เพราะในส่วนของประโยชน์และสรรพคุณที่มีต่อสุขภาพร่างกาย ดาวเรืองก็มีไม่แพ้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่นกัน เราไปดูกันว่าประโยชน์ของดาวเรืองเพื่อสุขภาพมีอะไรบ้าง

1. ช่วยดูแลและปกป้องดวงตา

ในดอกดาวเรืองมีสารให้สีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ คือ ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นสารที่พบมากในดอกดาวเรือง พริก โกจิเบอร์รี่ และไข่แดง โดยสารทั้ง 2 ชนิดมีฤทธิ์ดูดซับแสงสีน้ำเงินก่อนที่จะส่งผลเสียต่อดวงตา ซึ่งแสงสีน้ำเงินคือแสงที่ส่งผ่านมาจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ทีวี และไฟจากหลอดไฟต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้จอประสาทตาเสื่อม ที่ลดทอนการมองเห็น

2. ดีต่อผิวหนัง

น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากดอกดาวเรือง เมื่อนำไปผสมกับครีมทาผิวสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกันแดดได้ และยังช่วยบรรเทาอาการผิดไหม้จากแสงแดดลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ดอกดาวเรืองยังมีสารเอทานอล ที่ช่วยป้องกันผิวหนังเหี่ยวย่นและการเกิดริ้วรอย โดยมีงานวิจัยที่พบว่าสารเมทานอลที่สกัดจากดอกดาวเรืองอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ย่อยโปรตีนบางชนิดที่ทำให้ผิวหนังแห้งกร้าน เหี่ยวย่น และเกิดริ้วรอยได้ เช่น เอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase) และเอนไซม์อีลาสเตส (Elastase)

3. แก้ไขปัญหาในช่องปาก

มีงานวิจัยบางส่วนพบว่าสารสกัดจากดอกดาวเรืองสามารถช่วยรักษาปัญหาในช่องปากบางชนิดได้ สารสกัดแอลกอฮอล์จากพืชตระกูลดาวเรืองเจือจางกับน้ำ นำมาบ้วนปากเช้า-เย็น หรือก่อนนอน โดยทำก่อนแปรงฟันจะสามารถช่วยป้องกันฟันผุ ขจัดคราบแบคทีเรีย ลดอาการอักเสบที่มาจากโรคเหงือก และช่วยให้ฟันขาวขึ้นได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

4. บรรเทาอาการอักเสบ

จากผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Experimental Biology ของประเทศอินเดีย ได้ระบุว่า ในดาวเรืองมีสารสกัดที่สามารถช่วยลดไซโตไคเนสอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอักเสบภายในร่างกายลงได้ ดังนั้น หากร่างกายมีการอักเสบหรือปวดบวม ก็สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้ง่ายๆ ด้วยการดื่มชาจากดอกดาวเรืองนั่นเอง

5. รักษาบาดแผล

ทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ให้การพิสูจน์แล้วว่า สารสกัดจากดอกดาวเรืองนั้นมีสรรพคุณช่วยในการรักษาบาดแผลและยังช่วยสมานแผลให้หายไปโดยเร็วได้เป็นอย่างดี

ไอเดียการใช้ดาวเรืองเพื่อสุขภาพ

สำหรับประโยชน์ในด้านการนำดาวเรืองมาใช้เพื่อแก้อาการเจ็บป่วยหรือแก้ปัญหาทางด้านสุขภาพก็สามารถทำได้ดังนี้

ใช้ป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร โดยดื่มชาที่สกัดจากดอกดาวเรือง สารสกัดดังกล่าวจะมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังช่วยต่อต้านการอักเสบและช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้เป็นอย่างดี

บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน การมีรอบเดือนของผู้หญิง มักมาพร้อมอาการปวดประจำเดือนอยู่เสมอ ซึ่งสร้างความทรมานให้ร่างกายได้มากทีเดียว แต่อาการเหล่านี้จะลดลงไปด้วยการดื่มชาดอกดาวเรือง และการใช้น้ำมันดอกดาวเรืองมานวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ก็จะช่วยลดอาการกระตุกเกร็ง และบรรเทาอาการปวดเมื่อยลงได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูลนี้ก็ได้ผ่านการวิจัยมาแล้วนั่นเอง จึงหมดกังวลได้เลยว่าจะไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมา

บำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื้น ผิวพรรณที่แห้งกร้าน โดยเฉพาะผิวในช่วงหน้าหนาวมักถูกทำลายให้แห้งแตกได้มาก แต่การใช้น้ำมันดอกดาวเรืองที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื้น จะช่วยเยียวยาอาการแห้งแตกของผิวได้ เพียงนำน้ำมันมาทาผิวหรือผสมกับโลชั่นทาผิวทาลงไปพร้อมกัน เพียงเท่านี้ผิวของคุณก็จะได้รับการปลอบประโลมให้กลับมาสวยสุขภาพดีได้แล้ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ไอเดียการกินดาวเรืองเพื่อสุขภาพ

เห็นความงามสะพรั่งของดอกดาวเรืองแล้ว หลายคนอาจคิดแค่ว่าจะต้องนำมาประดับบ้านให้สวยงามแต่เพียงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ดาวเรืองยังสามารถนำมารับประทานได้ด้วย โดยทำได้ดังนี้

นำมาปรุงเป็นอาการ ดอกดาวเรืองสามารถรับประทานได้ โดยใช้ดอกดาวเรืองที่ยังตูม นำมาลวกจิ้มทานคู่กับน้ำพริก หรือจะนำมาใส่ในเมนูยำต่างๆ ส่วนดอกบานก็นำมาปรุงแบบยำผสมเนื้อสัตว์ ราดน้ำยำแบบน้ำจิ้มไก่หรือน้ำจิ้มทอดมันนอกจากนี้ ยังสามารถนำไปผัดน้ำมัน ผัดรวมกับผักชนิดอื่นทานเป็นกับข้าว หรือนำมาชุบแป้งทอด ก็จะได้อาหารว่างที่มีประโยชน์และอร่อยไปอีกแบบ

ชาดอกดาวเรือง อีกหนึ่งเมนูแปรรูปจากดอกดาวเรืองที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ก็คือ ชาดอกดาวเรือง ซึ่วิธีทำนั้นไม่ยาก แค่นำดอกดาวเรืองมาล้างให้สะอาดแล้วไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้งเพื่อสามารถเก็บไว้ได้นาน ส่วนวิธีชงดื่มก็ใช้ชาดอกเมื่อเทน้ำร้อนชงชาเรียบร้อยแล้ว ให้ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ให้ตัวยาละลายออกมาแล้วจึงนำมาดื่ม สำหรับชาดอกดาวเรืองนี้ มีสรรพคุณทางยาสูงมากทีเดียว เพราะสามารถช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยในร่างกายได้นั่นเอง

ข้อควรระวัง

ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคดาวเรืองในปริมาณมากหรือบริโภคเพื่อหวังผลทางการรักษาโรคมากจนเกินไป เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในสุขภาพ นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหรือการใช้ดอกดาวเรืองโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ผู้ป่วยโรคตับและโรคไตไม่ควรรับประทานดอกดาวเรืองไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ เนื่องจากร่างกายอาจมีปัญหาในการขับสารจากดอกดาวเรือง ส่งผลให้ตับและไตทำงานหนักได้ การบริโภคดอกดาวเรืองแม้จะให้คุณประโยชน์ทางยา แต่หากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

และนี่ก็คือประโยชน์และสรรพคุณของดาวเรือง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าดาวเรืองจะเป็นดอกไม้ที่มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา ช่วยบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยในร่างกายได้ แต่โทษของดาวเรืองก็มีเช่นกัน ดังนั้น ก่อนนำมาใช้ก็ต้องศึกษาเรื่องโทษหรือข้อควรระวังในการกินการใช้ก่อนเป็นดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมาภายหลัง


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Barbie Cervoni MS, RD, CDCES, CDN, Calendula (https://www.verywellhealth.com/health-benefits-of-calendula-4582641).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป