ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า ไอเดียการกินการใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

เผยแพร่ครั้งแรก 3 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า ไอเดียการกินการใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

พริกชี้ฟ้า เป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้ในเกือบทุกครัวเรือน เพราะนอกจากความเผ็ดร้อนแล้ว พริกชี้ฟ้ายังมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง ในประเทศไทยมีปลูกกันหลากหลายสายพันธุ์ สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู เราลองมาทำความรู้จักกับพริกชี้ฟ้าเพิ่มเติมกันเลยดีกว่า

ทำความรู้จักกับพริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้า เป็นพริกอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมในการนำมาประกอบเมนูอาหารแทบทุกเมนู โดยให้รสชาติเผ็ดร้อนแบบกำลังดี ไม่เผ็ดมากจนเกินไปเมื่อเทียบกับพริกขี้หนู พริกชนิดนี้เป็นพืชที่ปลูกและเจริญเติบโตได้ง่าย พริกชี้ฟ้าเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ แต่ได้มีการนำมาปลูกกันทั่วโลกในปัจจุบัน และเนื่องจากมีสรรคุณทางยามากมาย จึงสามารถนำมาใช้บำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คุณค่าทางโภชนาการของพริกชี้ฟ้า

ในพริกชี้ฟ้า 100 กรัม ประกอบไปด้วยพลังงาน 129 แคลอรี่ น้ำ 63.8 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม ใยอาหาร 2.2 วิตามินเอ 1917 หน่วยสากล วิตามินบี1 0.07 มิลลิกรัม วิตามินบี2  0.01 มิลลิกรัม วิตามินบี3  0.1 มิลลิกรัม วิตามินซี 204 มิลลิกรัม แคลเซียม 103 กรัม ธาตุเหล็ก 0.5 กรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม

ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้ามีประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายหลายด้าน โดยมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันมะเร็ง และยังมีดีอะไรอีกบ้างนั้น เรามาดูสรรพคุณแต่ละด้านของพริกชี้ฟ้ากันเลย

1.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

ในพริกชี้ฟ้ามีวิตามินเอและวิตามินซีสูง ซึ่งวิตามินทั้ง 2 ชนิด เป็นสารอาหารที่จะช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยในการป้องกันไข้หวัดได้เป็นอย่างดี ในพริกชี้ฟ้ายังมีสารเบต้าแคโรทีนรวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น

2.ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

จากการศึกษาพบว่า สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกชี้ฟ้าจะช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส ซึ่งได้มีการทดลองกับกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 10 คน โดยให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม หลังจากนั้นจึงทำการเจาะเลือดเก็บข้อมูล ก่อนดื่มและหลังดื่ม 15 นาที กระทั่งเวลา 30 นาที และ 60 นาที ในวันต่อมา ก็ให้กลุ่มอาสาสมัครดื่มน้ำตาลกลูโคสเหมือนเดิม แต่ให้เพิ่มการทานพริกเข้าไป ซึ่งพบว่าระดับน้ำตาลในวันที่มีการทานพริกชี้ฟ้าเข้าไปด้วย มีระดับต่ำกว่าวันที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงสรุปได้ว่า การทานพริกชี้ฟ้า มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

3.ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

ระบบการไหลเวียนเลือดจะทำงานดีขึ้น หากทานพริกเป็นประจำ เนื่องจากสารแคปไซซิน จะช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือด ส่งผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำหน้าที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี ในพริกยังมีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอสูง ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผนังหลอดเลือดยืดหยุ่น ส่งเสริมการสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้

4.ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล

ได้มีการทดลองให้ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ทานพริกชี้ฟ้าวันละ 5 กรัม และให้ทานอาหารตามปกติในระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วจึงนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้า จากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยที่ทานพริกชี้ฟ้า จะมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีคงที่ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้าเลย จะมีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดสูงขึ้น ดังนั้นการทานพริกชี้ฟ้าจึงช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดี โดยที่ยังคงสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีให้คงที่ สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกชี้ฟ้า ยังสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ทำให้มีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ต่ำลงอีกด้วย

5.ป้องกันโรคโลหิตจาง

โรคโลหิตจาง มีสาเหตุหลักเกิดจากการขาดธาตุเหล็กในร่างกาย เพราะธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการสร้างเม็ดเลือด โดยจะช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงรวมทั้งฮีโมโกลบินให้มีปริมาณมากขึ้น ในพริกชี้ฟ้ามีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีทองแดง ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพริกชี้ฟ้ายังมีกรดโฟลิกที่จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรง นอกจากนี้ พริกชี้ฟ้ายังช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

6.ป้องกันโรคมะเร็ง

วิตามินซีที่อยู่ในพริกชี้ฟ้า มีส่วนช่วยป้องกันการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร มีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติหยุดยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นวิตามินซีที่มีอยู่มากในพริก จึงช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ดี นอกจากนี้ ในพริกยังเต็มไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน เรารู้จักกันดีว่าสารเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ ช่วยทำลายมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปาก

7.ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

เพียงแค่ทานพริกชี้ฟ้าอย่างเป็นประจำ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้แล้ว พริกชี้ฟ้ามีคุณสมบัติช่วยลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด มีส่วนช่วยละลายลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่จับตัวกันเป็นก้อน จนทำให้หลอดเลือดอุดตัน การทานพริกชี้ฟ้ายังคงช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ให้ต่ำลง และทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง

ไอเดียการใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพ

พริกชี้ฟ้าได้มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้อย่างมากมาย โดยจะช่วยแก้อาการปวดเมื่อย บรรเทาอาการปวดหัว แก้พิษแมลงต่าง และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เรามาดูวิธีการใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพกันเลย

1.รักษาอาการปวดเอว

นำผงพริกชี้ฟ้า วาสลีนและแป้งหมี่ เติมเหล้าเหลืองลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนกลายเป็นเนื้อครีม เสร็จแล้วนำมาทาลงบนกระดาษแก้ว เอามาปิดไว้บริเวณที่ปวด แล้วใช้พลาสเตอร์ปิดรอบ ๆ จะทำให้เหงื่อออก ทำให้เคลื่อนไหวคล่องขึ้น อาการปวดจะบรรเทาลง เนื่องจากบริเวณที่พอกจะมีความรู้สึกร้อน ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

2.แก้ส้นเท้าแตก

ให้นำพริกชี้ฟ้าทั้งต้นมาผสมกับปูนขาว ในปริมาณที่พอเหมาะ จากนั้นนำมาต้ม เอาน้ำที่ได้ มาแช่เท้าที่แตกลงไป ถ้าไม่หายให้นำต้นสลัดไดและรากหนอนตายหยาบใส่ลงไปด้วยทั้งต้น

3.ใช้แก้พิษแมลง

ให้นำพริกชี้ฟ้าแห้งมาตำให้ละเอียดละลายกับน้ำมะนาว แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกแมลงกัด จะทำให้อาการปวดหายไปได้อย่างรวดเร็ว

4.แก้อาการปวดศีรษะ

ให้นำใบพริกชี้ฟ้าสด มาตำกับดินสอพอง แล้วนำมาปิดบริเวณขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะอันเนื่องมาจากไข้หวัด

5.แก้อาการเจ็บคอ

ให้ใช้น้ำต้มพริกชี้ฟ้า โดยการเตรียมพริกป่น 1 หยิบมือ เติมน้ำเดือดลงไป 1 แก้ว ทิ้งไว้ให้อุ่น แล้วจึงนำมากลั้วคอ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และลดอาการเสียงแหบลงได้

ไอเดียการกินพริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพ

พริกชี้ฟ้าสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เพราะมีส่วนช่วยทำให้รสชาติอาหารอร่อยและแซ่บยิ่งขึ้น เป็นเครื่องปรุงอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในครัว เราลองมาดูเมนูที่น่าสนใจจากพริกชี้ฟ้ากันเลย

1.กุ้งผัดพริกชี้ฟ้า

เมนูนี้เอาใจผู้ที่ชอบทานกุ้ง เริ่มทำได้ง่าย ๆ ด้วยการนำกุ้งสดมาแกะเปลือก ตั้งกระทะแล้วใส่น้ำมันพืชลงไปเล็กน้อย ใส่กระเทียมสับลงไปเจียวให้เหลืองหอม ตามด้วยการใส่กุ้งลงไปผัดจนเกือบสุก ใส่พริกชี้ฟ้าซอยลงไปผัด ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปรุงรสชาติด้วยน้ำปลา น้ำตาล ชิมรสตามใจชอบ ปิดไฟ ตัดขึ้นเสิร์ฟ แต่งหน้าด้วยผักชี

2.พาสต้าปลาสลัดผัดพริกชี้ฟ้า

พาสต้าคงเป็นอาหารโปรดของใครหลายคน โดยเมนูนี้จะมีการนำปลาสลิดมาใช้เป็นส่วนประกอบ เริ่มจากการนำปลาสลิดเข้าเตาอบประมาณ 15 นาที เพื่อให้แห้งกรอบ เสร็จแล้วนำปลาสลิดมาทอดให้กรอบเหลือง ตักขึ้นสะเด็ดน้ำมัน แล้วแกะปลาสลิดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เสร็จแล้วต้มเส้นพาสต้าให้สุก นำกระเทียมสับลงไปผัดในกระทะ เมื่อกระเทียมเริ่มสุก ใส่ปลาสลิดลงไปผัด ตามด้วยเส้นพาสต้า ปรุงรสชาติด้วยซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย คนให้เข้ากัน ใส่พริกชี้ฟ้าซอยกับน้ำตาลทรายลงไป คนจนส่วนผสมเข้ากันดี ใส่ใบโหระพาลงไปในลำดับสุดท้าย ผัดต่ออีกสักครู่ ตักขึ้นเสิร์ฟได้เลย

3.เห็ดผัดพริกชี้ฟ้า

เมนูเห็ดเป็นเมนูสุขภาพที่ดีต่อการลดน้ำหนักอย่างมาก โดยมีวิธีทำคือ เริ่มจากการตั้งกระทะให้ร้อน ใส่กระเทียมสับลงไปเจียวให้พอหอม ใส่พริกและเห็ดชนิดต่าง ๆ ลงไปผัดให้พอสุก ปรุงรสชาติด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย น้ำมันหอย ชิมรสตามชอบ ตักใส่จาน ตกแต่งให้หน้าทานด้วยหอมซอย

4.หมูผัดพริกขิง

เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ทำได้ง่าย มีรสชาติอร่อย เริ่มด้วยการตั้งกระทะให้ร้อน ใส่กระเทียมลงไปเจียวให้สุก ใส่เนื้อหมูที่หั่นไว้ลงไปผัดให้เข้ากันจนเนื้อหมูสุก ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา น้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ใส่ผงปรุงรสลงไปตามความชอบ ใส่ขิง หอมหัวใหญ่ พริกชี้ฟ้าซอย ผัดให้เข้ากันประมาณ 1 นาที ตักใส่จาน ทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ

5.เกี๊ยวน้ำพริกชี้ฟ้า

วิธีทำ ทำน้ำซุปไก่เตรียมไว้ ซอยพริกชี้ฟ้า สับกระเทียม นำพริกชี้ฟ้า กระเทียม มาผสมกับคิโคแมนให้เข้ากัน จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้ มาใส่แผ่นเกี้ยว ห่อเป็นลูก นำผักไปล้าง หั่นขั้วทิ้ง เอาน้ำใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือดใส่เห็ดลงไปลวก ตักขึ้น ใส่เกี๊ยวลงไปลวก รอให้ลอย แล้วตักขึ้นมาพักไว้ ใส่ผักลงไปลวก ตักขึ้น นำทุกอย่างใส่ลงไปในถ้วย ให้ดูสวยงาม ใส่น้ำซุปไก่ลงไป นำมาทานร้อน ๆ ได้เลย

ข้อควรระวัง

การกินพริกชี้ฟ้า มีข้อควรระวังเช่นกัน เนื่องจากพริกก็ทำให้เกิดสิวได้ เพราะมีคุณสมบัติขับของเสียออกจากร่างกาย ของเสียจะถูกขับออกมาทางผิวหนังในรูปแบบเหงื่อ หากเราทำความสะอาดผิวไม่ดีเพียงพอ อาจก่อให้เกิดการอุดตันและทำให้ผิวเกิดการอักเสบหรือเป็นสิวขึ้นได้ง่ายนั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่เคยทานเผ็ด ให้ระวังความเผ็ดของพริกที่มากกว่าปกติ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ไม่ควรทานพริก เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น พริกชี้ฟ้าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง มีวิตามินซีสูง เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากการถูกทำลาย นอกจากนี้ พริกชี้ฟ้ายังช่วยเพิ่มรสชาติในอาหาร ช่วยทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cayenne: Benefits, Preparations, Dosage, Side Effects. Verywell Fit. (https://www.verywellfit.com/cayenne-for-low-back-pain-can-it-help-88928)
Capsicum: Side Effects, Dosages, Treatment, Interactions, Warnings. RxList. (https://www.rxlist.com/consumer_capsicum/drugs-condition.htm)
Cayenne pepper: Health benefits, nutrition, and tips. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/267248)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)