พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ ที่คนรักสุขภาพห้ามพลาด

เผยแพร่ครั้งแรก 30 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ ที่คนรักสุขภาพห้ามพลาด

พรมมิ เป็นสมุนไพรไทยที่หาพบได้ตามริมตลิ่ง ซึ่งนักวิจัยไทยได้ทำการศึกษาค้นคว้าจนพบว่า พรมมิ เป็นสมุนไพรที่สามารถช่วยบำรุงสมอง ป้องโรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี ไม่น้อยหน้าใบแปะก๊วยหรือโสมเกาหลีเลยทีเดียว วันนี้เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับพรมมิมานำเสนอ เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับสมุนไพรไทยชนิดนี้กันให้มากขึ้น

จากการที่ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในปัจจุบัน โรคที่เป็นผลมาจากความเสื่อมของระบบประสาทและความ   ทรงจำ เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรในวัยสูงอายุลดต่ำลง ทำให้การรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง โดยการใช้ยาหรือสมุนไพรมีความสำคัญทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ในปัจจุบันสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ในการบำรุงสมองและความจำก็คือ แปะก๊วย (gingko) และโสม ซึ่งเป็นพืชที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถปลูกได้ แต่ไม่นานมานี้ได้มีนักวิจัยจากคณะมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ทำการร่วมมือกันศึกษาพืชสมุนไพรไทยที่ขึ้นตามบริเวณริมตลิ่ง และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่งพิสูจน์ได้ว่าสมุนไพรดังกล่าวมีสรรพคุณในด้านการบำรุงความจำได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ "พรมมิ"

"พรมมิ" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacopa monnieri Wettst จัดอยู่ในวงศ์ Scrophularlaceae ถือเป็นพืชล้มลุกประเภทหนึ่ง โดยที่ลำต้นจะทอดนอนแผ่ไปตามพื้น มีความยาว 10 – 40 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านออกเป็นจำนวนมากมีรากออกตามข้อ   ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ไม่มีก้านใบ ใบจะมีลักษณะอวบน้ำ เป็นรูปซ้อนหรือรูปไข่กลับขอบใบจะมีลักษณะเรียบหรือหยักเล็กน้อยปลายใบมน มีความกว้างประมาณ 1-5 มิลลิเมตร ยาว 6-20 มิลลิเมตร มีดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ

ก้านดอกจะยาวประมาณ 6 – 25 มิลลิเมตร ลักษณะเรียบ กลีบดอกจะซ้อนติดกันเป็นรูปทรงระฆัง รูปปากเปิด หยักเป็น 5 กลีบ จะมีสีขาวหรือสีม่วงอ่อน กลีบจะเป็นรูปขอบขนานแกมไข่กลับ ปลายจะมีลักษณะมนหรือเว้าตื้น มีเกสรตัวผู้ 4 อันอยู่บนกลีบดอก ผลแห้งแตกได้ รูปไข่ ขนาดประมาณ 5 x 3 มิลลิเมตร

สรรพคุณทางอายุรเวทและการแพทย์แผนไทยของ พรมมิ

พรมมิ เป็นสมุนไพรไทยที่เป็นได้ทั้งอาหารและยา บางท้องถิ่นนิยมเรียกว่า “ผักมิ” โดยใช้เป็นผักลวกจิ้มทานคู่กับน้ำพริกได้  ซึ่งตำราอายุรเวทของอินเดียได้ระบุถึงสรรพคุณของพรมมิเอาไว้ว่า มีสรรพคุณโดดเด่นในการช่วยเพิ่มความจำและช่วยบำรุงสมอง รวมทั้งสรรพคุณทางยาอีกมากมาย โดยชื่อ พรมมิ หรือ Brahmi มีความหมายถึงพระพรหม ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดโลกและสรรพสิ่งนั่นเอง

ส่วนในประเทศไทยมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า รู้จักการใช้พรมมิเป็นยามาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพบในตำราพระโอสถ  พระนารายณ์ว่าได้มีการกล่าวถึงพรมมิเอาไว้ ต่อมายังพบในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์อีกด้วยว่า พรมมิ มีรสออกหวาน ใช้แก้อาการสวิงสวาย (อาการที่เป็นลม ทำให้หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว หรือกระสับกระส่าย) แก้หืด ไอ กินแก้โรคริดสีดวง กินเพื่อบำรุงสมอง และได้มีการใช้พรมมิเป็นตัวยาในหลากหลายตำรับ เช่น เข้ายาเขียวมหาพรหม ช่วยแก้อาการโลหิตพิการ ซึ่งจะทำให้เกิดพิษร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย เข้ายาแก้ซางแห้งในเด็ก เข้ายาแก้ลมที่เป็นสาเหตุของอาการท้องขึ้น เข้ายาเขียวประทานพิษ แก้โรคลม

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ พรมมิ

“พรมมิ” มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในด้านการเรียนรู้และความจำและในเรื่องของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยในด้านการเรียนรู้และความจำนั้นได้มีการทำการศึกษาทดลองในหนูที่ถูกทำให้มีสภาวะความจำบกพร่อง โดยพบว่าหนูมีการเรียนรู้และความจำดีขึ้น เมื่อให้สารสกัดพรมมิขนาด 20, 40 และ 80 มก./ น้ำหนักหนู 1 กก. เป็นเวลา 14 วัน ส่วนในเรื่องของระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้น พบว่าเมื่อให้สารสกัดพรมมิ (40 มก./กก.) หรือสารสกัดแปะก๊วย (60 มก./กก.) ทางปากในหนูแรทเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน 2 เดือน สารสกัดพรมมิสามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณหลอดเลือดแดงบนเยื่อหุ้มสมองได้พอ ๆ กับสารสกัดจากใบแปะก๊วยเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วสารสกัดพรมมิไม่มีผลที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตและอัตราการเต้นหัวใจของหนูแรทอีกด้วย

สำหรับการกินผักพรมมินั้น ควรกินวันละประมาณ 30 กรัมหรือเทียบเท่ากับสารสกัดจากพรมมิ 1 เม็ด ซึ่งก็จะเท่ากับผักพรมมิประมาณ 50 ยอด หรือ 1 จานนั่นเอง “พรมมิ” เป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกง่ายขึ้นง่าย เพียงแค่นำมาปักลงในดินเท่านั้น สามารถปลูกในดินได้ทุกประเภท โดยเฉพาะดินที่ค่อนข้างเหนียว เป็นพืชที่ต้องการแสงแดดและน้ำ โดยควรปล่อยให้น้ำท่วมดินที่ปลูกอยู่เสมอ


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Systematic Overview of Bacopa monnieri (L.) Wettst. Dominant Poly-Herbal Formulas in Children and Adolescents. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5750610/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)