เผยสุดยอดเทคโนโลยีสำหรับภาวะ "มีลูกยาก" อัพเดทปี 2019!

สาเหตุของภาวะการมีบุตรยากและวิธีการประเมินภาวะการมีบุตรยากทั้งทางฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย และตัวอย่างเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะช่วยในการเจริญพันธ์ุ
เผยแพร่ครั้งแรก 2 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 31 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
เผยสุดยอดเทคโนโลยีสำหรับภาวะ "มีลูกยาก" อัพเดทปี 2019!

การปฏิสนธิทางธรรมชาติของมนุษย์เกิดจากเซลล์สืบพันธ์ุของเพศชายคือ “อสุจิ (Sperm)” เข้าไปปฎิสนธิกับเซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิงคือ “ไข่ (Oocyte)” ที่บริเวณท่อนำไข่ของเพศหญิง จากนั้นเซลล์ที่ได้รับการปฎิสนธิจะเคลื่อนตัวไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกและเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนต่อไป ภาวะการมีบุตรยากคือภาวะที่คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและไม่มีการคุ้มกำเนิด แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายในเวลา 1 ปี หรือ 6 เดือนในกรณีที่ฝ่ายหญิงอายุเกิน 35 ปี หลายคู่ที่ต้องการมีบุตรจึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มาเป็นตัวช่วย

สาเหตุของการมีบุตรยาก

สาเหตุของการมีบุตรยากจากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายแตกต่างกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ฝ่ายหญิงอาจมีปัญหาเหล่านี้

  1. การสร้างเซลล์ไข่ที่ผิดปกติ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น การสร้างฮอร์โมนผิดปกติทำให้การสร้างเซลล์ไข่และการตกไข่ผิดปกติ หรือภาวะที่รังไข่ทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้การสร้างเซลล์ไข่ลดน้อยลง
  2. ท่อนำไข่อุดตัน ส่งผลต่อการปฎิสนธิและการฝังตัวของตัวอ่อน
  3. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae หรือ Chlamydia trachomatis ทำให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease) รอยโรคจะเกิดบริเวณท่อนำไข่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะขัดขวางการเคลื่อนที่ของเซลล์ไข่หรือตัวอ่อน ทำให้มีผลต่อการปฏิสนธิและการฝังตัวได้

ฝ่ายชายอาจมีปัญหาเหล่านี้

  1. การสร้างอสุจิที่ผิดปกติ เมื่อตรวจคุณภาพของอสุจิว่ามีปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจได้รับบาดเจ็บที่บริเวณอัณฑะหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น ไคลน์เฟลเตอร์ซินโดรม (Klinefelter syndrome - กลุ่มอาการที่อัณฑะมีขนาดเล็กและมีการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้มีการสร้างอสุจิได้ปริมาณน้อยหรือไม่มีการสร้างเลย)
  2. การอุดตันของท่อนำอสุจิ สามารถสร้างอสุจิได้ แต่อสุจิที่สร้างไม่สามารถเคลื่อนที่มาบริเวณองคชาตได้
  3. ภาวะหลั่งอสุจิกลับสู่กระเพาะปัสสาวะ มีปัญหาเรื่องการหลั่งน้ำเชื้อ หรือเมื่อตรวจน้ำเชื้อแล้วไม่พบอสุจิ แต่สามารถตรวจเจออสุจิได้ในปัสสาวะ
  4. หย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือองคชาตไม่สามารถแข็งตัวอย่างสมบูรณ์ขณะมีเพศสัมพันธ์

การประเมินภาวะมีบุตรยาก

การประเมินภาวะมีบุตรยากของฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายจะมีทั้งซักประวัติและตรวจสุขภาพเบื้องต้น โดยมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

  • ฝ่ายหญิง แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับการมีบุตร การตั้งครรภ์ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือการผ่าตัด ส่วนการตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะตรวจระดับฮอร์โมนเพศ ตรวจภายในเพื่อดูความผิดปกติของระบบสืบพันธ์ ตรวจส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง และตรวจการอุดตันของท่อนำไข่
  • ฝ่ายชาย แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือติดเชื้อ ส่วนการตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะเป็นการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของน้ำเชื้อ ตรวจดูการแตกหักของ DNA ในอสุจิ และตรวจการอุดตันภายในของท่อนำอสุจิ

4 เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted reproductive technology: ART)

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะแบ่งเป็น 4 วิธีใหญ่ๆ ดังนี้

1. การฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (Intrauterine insemination: IUI)

IUI เป็นเทคนิคที่จำลองการปฏิสนธิที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด โดยการฉีดเชื้อน้ำเชื้อที่คัดเลือกอสุจิแล้วเข้าสู่โพรงมดลูก

ภายในน้ำเชื้อที่ผ่านการเตรียมจากห้องปฏิบัติการจะมีอสุจิที่แข็งแรงและเคลื่อนที่ได้ดี เป็นการเพิ่มโอกาสให้อสุจิสามารถวิ่งไปปฎิสนธิกับเซลล์ไข่ได้ดีขึ้น 

เทคนิค IUI ใช้รักษาภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องการหลั่งน้ำเชื้อออกมาแล้วมีลักษณะเหนียว ซึ่งเป็นการขัดขวางอสุจิในการปฏิสนธิกับไข่ วิธี IUI นี้เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ทำให้ฝ่ายหญิงได้รับบาดเจ็บมาก

2. การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (In vitro fertilization: IVF) หรือ เด็กหลอดแก้ว

IVF เป็นเทคนิคที่นำเซลล์ไข่กับอสุจิมาปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย โดยจะนำเซลล์ไข่และอสุจิมาวางในจานเพาะเลี้ยง จากนั้นปล่อยให้อสุจิกับไข่ปฏิสนธิกันเองจนได้เป็นตัวอ่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภาวะมีบุตรยากวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 392 บาท ลดสูงสุด 63%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เทคนิคนี้ใช้รักษาในฝ่ายหญิงที่มีปัญหาเรื่องท่อนำไข่อุดตัน หรือฝ่ายชายมีปริมาณอสุจิน้อย

3. การทำอิ๊กซี่ (ICSI: Intracytoplasmic sperm injection)

การทำ ICSI เป็นการฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ของไข่ 1 ใบโดยตรง เหมาะสำหรับฝ่ายชายที่มีปริมาณอสุจิน้อยและคุณภาพไม่ดี เช่น การเคลื่อนที่ไม่ดี ทำให้ไม่มีความสามารถที่จะวิ่งเคลื่อนที่ไปปฏิสนธิกับไข่ เทคนิคนี้นิยมทำในคู่สมรสที่เคยล้มเหลวในการทำ IVF หลายรอบ

4. การทำอิมซี่ (IMSI : Intracytoplasmic morphologically selected sperm injection)

เทคนิค IMSI คล้ายกับการทำ ICSI ต่างกันที่ขั้นตอนในการคัดเลือกอสุจิก่อนจะนำมาปฏิสนธิกับเซลล์ไข่

คือจะมีเพิ่มกำลังขยายของเลนส์เป็นกำลังขยาย 6,000 เท่าเพื่อดูรูปร่างและลักษณะของอสุจิได้ชัดเจนมากขึ้นขึ้น

มีงานวิจัยกล่าวว่า อัตราการการตั้งครรภ์และอัตราการฝังตัวของตัวอ่อนในการทำ IMSI สูงกว่าการทำ ICSI อาจเพราะการใช้กำลังขยายที่สูงขึ้น ทำให้เห็นลักษณะของอสุจิ เห็นช่องว่างภายในของอสุจิ (Vacuole)

การมีช่องว่างภายในเซลล์ (Vacuole) มีโอกาสที่อสุจิตัวนั้นจะมีการแตกหักของสายพันธุกรรม DNA ภายในเซลล์ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพของตัวอสุจิด้วย การทำ IMSI เหมาะสำหรับคู่ที่ล้มเหลวในการรักษาด้วยการทำ ICSI หลายครั้ง หรือรูปร่างอสุจิที่ผิดปกติจำนวนมาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภาวะมีบุตรยากวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 392 บาท ลดสูงสุด 63%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ดูรูปการทำอิ๊กซี่ (ICSI) และอิมซี (IMSI) ได้ ที่นี่

ขั้นตอนการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วย IVF, ICSI และ IMSI

วิธีทำ IUI ได้กล่าวถึงไปข้างต้นในหัวข้อเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แล้ว ต่อไปนี้คือขั้นตอนหลักๆ ของการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยวิธี IVF, ICSI และ IMSI

1. การกระตุ้นไข่ (Ovarian stimulation)

แพทย์จะใช้ยาโกนาโดโทรปิน (Gonadotropins) ในการกระตุ้นไข่ให้ได้จำนวนไข่มากกว่า 1 ใบ เพื่อจะนำเซลล์ไข่มาปฏิสนธิ ระหว่างช่วงการกระตุ้นไข่ แพทย์จะอัลตราซาวนด์บริเวรณหน้าท้อง และเจาะเลือดติดตามระดับฮอร์โมนในร่างกาย เพื่อติดตามผลการกระตุ้นไข่ว่าได้ผลหรือไม่

2. การเก็บไข่ (Oocyte retrieval)

ฝ่ายหญิงจะได้รับยาสลบ จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับการเจาะเก็บเซลล์ไข่สอดเข้าไปบริเวณช่องคลอด หาตำแหน่งของรังไข่ จากนั้นใช้เข็มดูดเซลล์ไข่ออกมา

ระยะเวลาเก็บไข่อย่างน้อยจะอยู่ที่ 30 นาที ขึ้นอยู่กับจำนวนไข่ที่สุก และอาจมีอาการแทรกซ้อนหลังการเก็บไข่ได้ เช่น ปวดท้องเล็กน้อย มีเลือดออกปริมาณช่องคลอดเล็กน้อย หรือพบการตกขาวได้ ดูรูปวิธีการเก็บไข่ ที่นี่

3. การปฏิสนธิและการเลี้ยงตัวอ่อน (Fertilization and Embryo culture)

อสุจิที่จะนำมาปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้มาจาก 3 วิธีต่อไปนี้

  1. การหลั่งน้ำเชื้อ ฝ่ายชายสามารถหลั่งน้ำเชื้อและนำส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการคัดแยกอสุจิออกจากน้ำเลี้ยงอสุจิ อสุจิที่ตายแล้ว เซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์อื่นที่ปนออกมา อสุจิที่คัดแล้วจะเป็นอสุจิที่แข็งแรงและมีการเคลื่อนที่ที่ดี
  2. การทำพีซ่า (PESA : Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) เป็นการใช้เข็มเจาะบริเวณอัณฑะแล้วดูดตัวอสุจิมาจากท่อพักน้ำเชื้อ
  3. การทำทีซ่า (TESA : Testicular Sperm Aspiration) ใช้เข็มเจาะบริเวณอัณฑะแล้วดูดตัวอสุจิมาจากภายในเนื้อเยื่ออัณฑะ
    ดูรูปการทำพีซ่าและทีซ่า ที่นี่

    เมื่อได้เซลล์ไข่และอสุจิแล้ว นักเทคนิคการแพทย์จะนำเซลล์ดังกล่าวมาปฏิสนธิตามเทคนิคต่างๆ ได้แก่ IVF, ICSI และ IMSI แล้วนำไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติต่อไป
  4. การย้ายกลับตัวอ่อน (Embryo transfer) เมื่อทางห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนจนสมบูรณ์แล้ว แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนได้ฝังตัวในมดลูกตามธรรมชาติ

    จำนวนตัวอ่อนที่ย้ายกลับขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงและคุณภาพของตัวอ่อน เพราะตัวอ่อนทุกตัวที่ย้ายกลับเข้าไปมีโอกาสที่จะฝังตัวและเจริญเติบโตได้ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์แฝด (Multi fetal pregnancy) เป็นการเพิ่มภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ทั้งในแม่และทารก

    ภาวะที่สามารถเกิดได้ เช่น สายสะดือพันกัน มีโอกาสแท้งสูงกว่าการครรภ์ปกติ และภาวะครรภ์เป็นพิษ

สิ่งสำคัญในการเลือกเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์คือ การวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากให้ได้ เทคนิคแต่ละแบบใช้ในการแก้ไขปัญหาแตกต่างกัน เทคนิคที่จะใช้รักษาส่วนใหญ่จะเริ่มจากเทคนิคที่ใกล้เคียงกับวิธีการฏิสนธิทางธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ยิ่งใช้เทคนิคที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษายิ่งสูงขึ้นตามเท่านั้น


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Wilding M, Coppola G, di Matteo L, Palagiano A, Fusco E, Dale B. Intracytoplasmic injection of morphologically selected spermatozoa (IMSI) improves outcome after assisted reproduction by deselecting physiologically poor quality spermatozoa. J Assist Reprod Genet. 2011;28:253–262.
Knez K, Zorn B, Tomazevic T, Vrtacnikbokal E, Virantklun I. The IMSI procedure improves poor embryo development in the same infertile couples with poor semen quality: A comparative prospective randomized study. Reproductive Biology and Endocrinology 2011, 9:123
Kim HJ et al. Comparison between intracytoplasmic sperm injection and intracytoplasmic morphologically selected sperm injection in oligo-asthenoteratozoospermia patients. Clin Exp Reprod Med. 2014 Mar; 41(1): 9–14.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)