ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug)

ทำความรู้จักยาต้านเชื้อราแบบต่างๆ ทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละตัวยา
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug)

ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug) เป็นยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อรา โดยตัวยาอาจออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อรา (Fungistatic) หรือออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา (Fungicidal)

ประเภทของยาต้านเชื้อรา

ยาต้านเชื้อราสามารถแบ่งตามการใช้งานทางคลินิกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ยาต้านเชื้อราที่ใช้กับการติดเชื้อทั่วร่างกาย (Systemic Fungal Infection)

ยาต้านเชื้อราที่ใช้กับการติดเชื้อทั่วร่างกายจะต้องสามารถดูดซึมและกระจายตัวไปตามกระแสเลือดได้ดี จากนั้นจึงให้ผลรักษาการติดเชื้อราที่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่าง เช่น ติดเชื้อราที่ผิวหนังทั่วร่างกาย เชื้อราในปอด ตับ นอกจากนี้ยังใช้กับการติดเชื้อราที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาทาภายนอก การติดเชื้อราในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) และในผู้ป่วยที่เชื้อรามีการติดเชื้อแพร่กระจายไปหลายอวัยวะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

รูปแบบยาต้านเชื้อราที่ใช้กับการติดเชื้อทั่วร่างกาย ได้แก่ ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ยาอม ยาเม็ด แคปซูล ยาน้ำใส ยาน้ำแขวนตะกอน เป็นต้น

ตัวอย่างยาต้านเชื้อราที่ใช้กับการติดเชื้อทั่วร่างกายแบ่งตามกลุ่มโครงสร้างทางเคมี ได้แก่

  • ยากลุ่มพอลิอีน (Polyenes) ออกฤทธิ์โดยการจับกับเออร์โกสเตอร์รอล (Ergosterol) ที่ผนังเซลล์เชื้อรา ทำให้เซลล์เชื้อราสูญเสียแร่ธาตุโซเดียมและโพแทสเซียม เซลล์จึงตายในที่สุด เช่น ยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อราได้กว้าง สามารถต้านเชื้อราได้หลายชนิด เช่น Candida species, Cryptococcus neoformans, Aspergillus species และ Zygomycetes เป็นต้น
  • ยากลุ่มเอโซล (Azoles) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไซโตโครม พี450 (cytochrome P450) ซึ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์เออร์โกสเตอร์รอลที่ผนังเซลล์เชื้อรา แบ่งย่อยออกได้ 2 กลุ่ม ได้แก่
    • กลุ่มอิมิดาโซล (Imidazoles) เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) มีทั้งในรูปแบบรับประทานและทาภายนอก สามารถยับยั้งเชื้อรา H capsulatum และ B dermatitidis ได้ ยาโวริโคนาโซล (Voriconazole) มักใช้สำหรับการติดเชื้อราชนิดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อที่ยาออกฤทธิ์ยับยั้งได้ เช่น Candida species และ Aspergillus species เป็นต้น
    • กลุ่มไทรอะโซล (Triazoles) เช่น ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
  • ยากลุ่มอัลลิลเอมีน (Allylamine) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์เออร์โกสเตอร์รอลซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างผนังเซลล์เชื้อราและยังควบคุมการผ่านเข้า-ออกของสารต่างๆ ระหว่างเซลล์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
  • ยากลุ่มที่โครงสร้างคล้ายสารไพริมิดีน (Pyrimidine analogues) ออกฤทธิ์รบกวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อรา เช่น ยา 5-ฟลูออโรไซโทซีน (5-Fluorocytosine) มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับยาต้านเชื้อราบางตัวที่มีการดื้อยา โดยอาจใช้เดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับยาแอมโฟเทอริซิน บี อย่างไรก็ตาม พบว่าเชื้อ Candida species มักพบการดื้อต่อยา 5-ฟลูออโรไซโทซีน ได้เช่นกัน
  • ยากลุ่มแอคไคโนแคนดิน (Echinocandin) เป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มใหม่ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ β-glucan ที่ผนังเซลล์ของเชื้อรา ส่งผลให้เซลล์เชื้อราแตก เช่น ยาแคสโปฟันจิน (Caspofungin) ยาไมคาฟันจิน (Micafungin) และยาแอนิดูลาฟันจิน (Anidulafungin)
  • ยากลุ่มอื่นๆ เช่น ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) ใช้สำหรับรักษาโรคกลาก และการติดเชื้อราเรื้อรังที่เล็บจากเชื้อ Trichophyton rubrum
  1. ยาต้านเชื้อราที่ใช้กับการติดเชื้อเฉพาะที่ (Topical antifungal drugsเป็นยาที่ใช้ทาภายนอกเพื่อรักษาโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง ศีรษะ และเล็บ รูปแบบยาต้านเชื้อราที่ใช้กับการติดเชื้อเฉพาะที่ เช่น ครีม โลชั่น เจล ขี้ผึ้ง ยาหยอดหู ยาหยอดตา ยาเหน็บช่องคลอด ยาทาเล็บ แชมพูสระผม เป็นต้น

ตัวอย่างยาต้านเชื้อราที่ใช้กับการติดเชื้อเฉพาะที่ แบ่งตามกลุ่มโครงสร้างทางเคมี ได้แก่

  • ยากลุ่มพอลิอีน (Polyenes) เช่น
    • ยาไนสแตติน (Nystatin) เป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายหลังสามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อราได้กว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Candida species ยาไนสแตตินใช้สำหรับภายนอกร่างกายเฉพาะที่เท่านั้นเนื่องจากมีความเป็นพิษสูง หากให้เข้าสู่ร่างกายหรือกระแสเลือดอาจเกิดอันตรายได้
    • ยานาทาไมซิน (Natamycin) นิยมใช้สำหรับการติดเชื้อราที่บริเวณดวงตา จึงมักอยู่ในรูปแบบยาหยอดตา
  • ยากลุ่มเอโซล (Azoles) เช่น ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) อีโคนาโซล (Econazole) ไอโซโคนาโซล (Isoconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) สามารถใช้รักษาอาการกลาก เกลื้อน และเชื้อราบนผิวหนังได้
  • ยากลุ่มอัลลิลเอมีน (Allylamine) เช่น ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) แนฟทีฟีน (Naftifine) ใช้สำหรับต้านเชื้อราที่บริเวณผิวหนัง
  • ยากลุ่มกลุ่มไทโอคาร์บาเมท (Thiocarbamate) เช่น ยาโทลนาฟเตท (Tolnaftate) ใช้รักษาอาการติดเชื้อราของผิวหนัง หรือบริเวณง่ามเท้า เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า และสังคัง เป็นต้น
  • ยากลุ่มไฮดรอกซีไพรีโดน (Hydroxypyridone) ออกฤทธิ์รบกวนการขนส่งสารเข้า-ออกเยื้อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา เช่น ยาไซโคลไพร็อกโอลามีน (Ciclopirox Olamine) ใช้สำหรับรักษาเกลื้อน
  • ยากลุ่มมอร์โฟลาย (Morpholine) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์เออร์โกสเตอร์รอล และการเจริญของกลุ่มเส้นใยไมซีเลียมซึ่งเป็นโครงสร้างชองเชื้อรา เช่น ยาอะมอร์โรลฟีน (Amorolfine)
  • ยากลุ่มอื่นๆ เช่น อันดีไซลินิก แอซิด (Undecylenic acid) ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield ointment) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยา 2 ชนิดคือ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และกรดซาลิซิลิก (Salicylic Acid) ไม่ใช่ยาต้านเชื้อราโดยตรง แต่อาจพิจรณาใช้ร่วมเพื่อรักษาการติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง เช่น น้ำกัดเท้า สังคัง และอาจใช้กับอาการผื่นผ้าอ้อมได้อีกด้วย

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาต้านเชื้อรา

  • ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งถึงโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน และประวัติการแพ้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงยาตีกัน และการแพ้ยาซ้ำ
  • ผู้ที่มีภาวะโรคตับ ควรระมัดระวังการใช้ยาต้านเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยากลุ่ม Azoles หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ และตรวจประเมินตับเป็นประจำหากต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากยามีผลเพิ่มการทำงานของตับ อาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้
  • การใช้ยาต้านเชื้อราอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไม่สบายท้องได้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว
  • ไม่ควรซื้อยาต้านเชื้อราใช้เอง เนื่องจากเชื้อรามีหลายชนิด และต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อเชื้อราชนิดนั้นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาสูงสุดและป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา
  • ควรรับประทานยาที่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายจนครบจำนวน เพื่อให้ได้ผลในการรักษาและป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
US National Library of Medicine National Institutes of Health (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/3800776), 15 December 1986.
MIMs Thailand (https://www.mims.com/thailand/drug/info/meliane-meliane%20ed/?type=brief), Access online: 27 February 2019.
Medical Microbiology (4th edition) (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK8263/), 1996.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป