กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรคอัลไซเมอร์ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคอัลไซเมอร์ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง

โรคอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานใจกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เป็นอาการที่พบที่พบได้บ่อย เพราะเกิดจากการตายของเซลล์ในสมอง จึงมีผลทำให้การทำงานของสมองแย่ลง ถ้าหากสมองมีการเสื่อมตัวมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการรักษาในช่วงระยะเวลา 8 – 10 ปี จะทำให้เกิดการเสื่อมของสมองอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนทำให้มีปัญหาต่อการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การแปรงฟัน ซึ่งโรคนี้ก็มีความแตกต่างจากโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อสมอง ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของสื่อประสาท ที่มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมความรู้สึก และการตอบสนองของร่างกาย และการสื่อสารที่สำคัญต่างๆ สมองของคนเรานั้นจะมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (NEURO TRANSMITTER) เป็นตัวสื่อสาร ซึ่งสารตัวนี้ จะทำหน้าที่นำข้อมูลจากสมอง ไปยังอวัยวะเพื่อก่อให้เกิดการทำงานขึ้น และสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความทรงจำมีชื่อว่า สารอะเซติลโคลีน (ACETYLCHOLINE) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการจดจำของมนุษย์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ขนมปัง "ไร้แป้ง ไร้น้ำตาล อิ่มนาน ไปรตีนสูง" อยากคุมน้ำหนัก แบบไม่อด ต้องลอง พร้อมโปร 5 ฟรี 1

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  จากการทดลอง ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น มีสารอะเซติลโคลีน ในสมองน้อยอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การจดจำ และการใช้เหตุผลลดลง จากการศึกษาทำให้พบว่าสารอะเซติลโคลีนนี้ ถูกควบคุมด้วยเอนไซม์ตัวหนึ่ง คือ อะเซติล-โคลีนเอสเทอเรส หน้าที่หลักของเอนไซม์ตัวนี้คือ ย่อยสารอะเซติลโคลีน เป็นผลทำให้สมองมีสารอะเซติลโคลีนน้อยลงนั้นเอง

อาการของผู้คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์

  1. หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ เพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
  2. การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องยาก เช่น การลืมผูกเน็คไท ลืมผูกเชือกรองเท้า
  3. วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอากระเป๋าตังค์ไปใส่ไว้ในตู้เย็น เอาช้อนซ้อมไปใส่ไว้ในตู้ลิ้นชักเสื้อผ้า เป็นต้น
  4. สับสนเรื่องเวลา เช่น นั่งรอแค่ 5 นาทีก็คิดว่านั่งรอมา 5 ชั่วโมงแล้ว
  5. มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะการใช้คำพูด โดยคิดไม่ออกว่าจะใช้คำอะไร จะพูดว่าอะไร
  6. แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา พูดหรือทำในสิ่งที่ปกติจะไม่พูดหรือไม่ทำ ขาดความคิดยั้งใจ หรือตัดสินใจถูก ตัดสินใจผิด

วิธีการรักษา

เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีเทคโนโลยี หรือยาชนิดใดที่จะสามารถรักษา โรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาอาการของผู้ป่วยให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยวิธีรักษานั้น จะใช้ยาเพื่อยับยั่งสารอะเซตีลโคลีนเอสเทอเรส ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดการทำลายสารอะเซติลโคลีน ซึ่งเป็นสารความจำที่อยู่ในสมอง ดีต่อผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น และระยะกลาง

7 อาหารลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์

หนึ่งในโรคยอดนิยมที่มักเกิดขึ้นในหมู่ผู้สูงอายุ คงหนีไม่พ้นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในอาการของโรคสมองเสื่อม นอกจากการออกกำลังกายหรือการฝึกใช้สมองเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวแล้ว การเลือกบริโภคอาหารที่สามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เราลองมาดู 7 อาหารดังต่อไปนี้ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

1. วอลนัท

วอลนัท เป็นถั่วขนาดเล็กที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นไขมันที่จำเป็นสำหรับการทำงานของสมอง อีกทั้งยังมีวิตามินอีและสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่สามารถช่วยปกป้องสมองจากสารอนุมูลอิสระต่างๆ อย่างไรก็ตามนอกจากถั่ววอลนัทแล้ว เรายังสามารถพบกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้ในถั่วอัลมอนด์ ถั่วพีแคนและถั่วเฮเซลนัท

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ขนมปัง "ไร้แป้ง ไร้น้ำตาล อิ่มนาน ไปรตีนสูง" อยากคุมน้ำหนัก แบบไม่อด ต้องลอง พร้อมโปร 5 ฟรี 1

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

2. ปลาแซลมอน

ปลาที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอย่างปลาแซลมอน นอกจากจะมีรสชาติที่หอมมันและมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ยังอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 โดยสามารถช่วยลดระดับของบีตา-แอมีลอยด์ (Beta-amyloid) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโปรตีนที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หากไม่ชอบทานปลาแซลมอน ก็อาจลองหันไปทานปลาที่อุดมไปด้วยไขมันอย่างปลาแมคเคอเรลหรือปลาซาร์ดีนแทน ซึ่งล้วนแต่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 เยอะไม่แพ้กัน

3. เบอร์รี

ผลไม้ตระกูลเบอร์รีไม่ว่าจะเป็นสตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี หรือแครนเบอร์รี ล้วนแต่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยหยุดการอักเสบและทำให้เซลล์สมองทำงานได้ดีกว่าเดิม โดยจะช่วยให้สมองประมวลข้อมูลได้เร็วขึ้น

4. ผักใบเขียว

ผักโขม ผักเคล หรือผักใบเขียวชนิดต่างๆ อุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระและไฟเบอร์ มีผลการศึกษาหนึ่งพบว่า เมื่อให้หญิงสาวที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทานผักใบเขียวเป็นประจำในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผลปรากฏว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความจำและทักษะการพูดที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เข้าการทดสอบดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาใหม่พบว่า ด้วยความที่ผักโขมเป็นผักที่มีวิตามินซีสูง จึงสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อม

5. ขมิ้น

สมุนไพรอย่างขมิ้น มีสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยมีผลการศึกษาหนึ่งพบว่า เมื่อบริโภคอาหารที่มีวิตามินดี 3 และเคอร์คูมิน จะสามารถช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำจัดกรดอะมิโนที่เกาะตัวกันในสมองซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์

6. กาแฟ

เครื่องดื่มยอดนิยมในหมู่ผู้ใหญ่อย่างกาแฟ สามารถช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ เนื่องจากมีผลการศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปและดื่มกาแฟวันละ 3 แก้วต่อวัน จะส่งผลให้มีระดับคาเฟอีนในเลือดสูงและมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ช้าถึง 2-4 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับคาเฟอีนในเลือดต่ำ

7. ดาร์กช็อกโกแลต

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า ดาร์กช็อกโกแลตมีสารฟลาโวนอยด์ที่นอกจากจะช่วยต่อสู้กับโรคหัวใจแล้ว ก็ยังช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของคนอิตาเลียนพบว่า เมื่อให้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการของโรคสมองเสื่อมดื่มโกโก้ที่ถูกแบ่งปริมาณของฟลาโวนอยด์ออกเป็น 3 ระดับ คือ สูง กลาง ต่ำ ผลปรากฏว่าผู้ที่ดื่มโกโก้ที่มีระดับฟลาโวนอยด์สูงมีกระบวนคิดที่ดีกว่าผู้ทดสอบกลุ่มอื่นๆ

โรคอัลเซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากอาการเสื่อมของสมอง นับเป็นโรคที่น่ากลัว และในปัจจุบันยังรักษาไม่หาย ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานใจแก่ตัวผู้ป่วย และต่อญาติของผู้ป่วยเอง ที่จะต้องดูแลให้กำลังใจ แต่มีตัวยาบางตัว ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้


18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Alzheimer's Disease. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/alzheimersdisease.html)
Seminal, Highly Anticipated Alzheimer's Trial Falters. Medscape. (https://www.medscape.com/viewarticle/925069)
Alzheimer's Disease Center: Dementia Symptoms, Diagnosis, and Treatments. WebMD. (https://www.webmd.com/alzheimers/default.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป