ปวดท้องบิดเกร็งๆ หายๆ บ่งบอกโรคอะไรบ้าง?

"อาการปวดท้อง ปวดท้องบิด จะต้องใช้ลักษณะหลายอย่าง เช่น ปวดด้านขวา ด้านซ้าย ตรงกลาง ท้องด้านล่าง รวมกับดูประวัติ และใช้การตรวจร่างกายหลายอย่างมาประกอบกันเพื่อวินิจฉัย "
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ปวดท้องบิดเกร็งๆ หายๆ บ่งบอกโรคอะไรบ้าง?

อาการปวดท้อง เป็นหนึ่งในอาการที่พาผู้ป่วยมาพบแพทย์มากที่สุด อาการปวดท้องเป็นอาการที่ต้องใช้การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อสืบหาและแยกโรค หรือเป็นแนวทางในการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนั้นประวัติการปวดจึงสำคัญมาก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงอาการปวดบีบเป็นพัก หรือที่คนไข้มักเรียกว่า บวดท้องบิด เกร็ง เป็นๆ หายๆ

ลักษณะการปวดแบบปวดบีบเป็นพัก (Colicky pain) คืออะไร?

อาการปวดท้องจะเกิดเมื่อมีความผิดปกติในช่องท้อง 3 แบบ ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  1. การอักเสบ
  2. การขาดเลือด
  3. การยืดขยายของอวัยวะภายใน

การปวดท้องแบบตื้อๆ หรือปวดแบบฉีกขาดเสียงแทง มักมีสาเหตุมาจากการอักเสบหรือการขาดเลือด

ส่วนอาการปวดแบบบีบๆ เป็นพักๆ ปวดหนักสลับเบา จะสัมพันธ์กับการยืดขยายหรือการบีบตัวของอวัยวะที่เป็นท่อกลวง เพราะอวัยวะท่อกลวง เช่น ท่อไต ท่อน้ำดี ลำไส้ จะมีการบีบตัวเป็นลูกคลื่น (Peristalsis) บีบไล่สิ่งที่อยุ่ภายในท่อ เช่น อาหาร น้ำดี

หากอวัยวะที่เป็นท่อกลวงเหล่านั้นมีการบีบตัวมากขึ้นกว่าปกติ ก็จะรู้สึกปวดตามจังหวะการบีบตัวนั่นเอง (Colicky pain) เช่น การบีบตัวรุนแรงของลำไส้เพื่อบีบไล่อาหารเป็นพิษ

อีกสาเหตุที่ทำให้ปวดท้องบิด เกร็ง เป็นๆ หายๆ คือมีการอุดตันของอวัยวะท่อกลวง แล้วมีการบีบไล่ผ่านจุดอุดตัน เช่น มีพังผืดบีบรัดลำไส้จนมีการอุดตัน ลำไส้จะมีอาการปวดเป็นพักกรณีนี้จะปวดบีบแบบรุนแรงมาก ในบางคนที่ผนังหน้าท้องบางและผอม อาจจะมองเห็นการเคลื่อนที่ของลำไส้เป็นลูกคลื่นได้

ปวดท้องบิด เกร็ง ถ้ารู้ตำแหน่งชัดเจน จะบอกโรคได้แม่นยำจริงหรือ?

ด้วยลักษณะการจัดเรียงตัวของเส้นประสาทรับความรู้สึกในช่องท้อง ซึ่งมีความซับซ้อนและไขว้กัน เส้นประสาทเป็นเส้นใยชนิดส่งกระแสประสาทได้ช้า เวลามีอาการปวดที่ตำแหน่งใด แม้แต่การปวดแบบบีบ จะไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้

เวลาปวดจึงมักรู้สึกเป็นบริเวณกว้าง เช่น กลางท้อง ใต้ลิ้นปี่ ด้านซ้าย ด้านขวา บริเวณเหล่านี้ก็จะคาบเกี่ยวกัน ทำให้บอกอวัยวะต้นกำเนิดโรคได้ยาก ต้องใช้ประวัติและการตรวจร่างกายอื่นๆ มาช่วยวินิจฉัย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยกเว้นอวัยวะที่มีสองข้างจะสามารถแยกข้างการปวดได้ชัดขึ้น หรือเมื่อโรคที่เป็นมีการอักเสบลุกลามไปถึงเยื่อบุช่องท้องที่บุผนังหน้าท้อง จะระบุตำแหน่งที่อักเสบจนเกิดอาการปวดได้ชัดเจน เพราะเส้นใยประสาทตรงนั้นส่งสัญญาณเฉพาะบริเวณ และส่งกระแสประสาทได้ไวและรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น หากเป็นลำไส้อุดตัน ระยะแรกจะมีการปวดบีบเป็นพักๆ บริเวณกลางท้อง บอกตำแหน่งที่ชัดเจนไม่ได้ แต่เมื่อลำไส้บวมมาก อักเสบมาก จนลุกลามมาที่ผนังเยื่อบุช่องท้อง (Parietal peritoneum) จะปวดตรงตำแหน่งนั้นและกดเจ็บ

ตำแหน่งรอยโรคในช่องท้องที่สัมพันธ์กับบริเวณที่ปวด สำหรับการปวดบีบเป็นพัก หรือปวดท้องบิด

แม้เวลาปวดท้อง มักจะมีอาการปวดแบบกว้างๆ ยากจะเจาะจงว่ามาจากอวัยวะไหนอย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม มีตำแหน่งรอยโรคในช่องท้องที่สัมพันธ์กับบริเวณที่ปวด ดังนี้

1. กลางช่องท้อง

หากเกิดการปวดบิดที่ตำแหน่งกลางช่องท้อง อาจเป็นได้จากหลายอวัยวะ ที่พบมากคือลำไส้เล็ก อาจเป็นลำไส้อักเสบจากการถ่ายเหลว ลำไส้อุดตันจากพังผืด ลำไส้อุดตันจากเนื้องอก

ลักษณะปวดบีบหรือปวดท้องบิดจากลำไส้ จะปวดเป็นพักนาน 20-30 นาทีขึ้นไป และเมื่อการบีบลดลง อาการปวดจะหายเกือบปกติ ส่วนลำไส้ใหญ่จะเกิดโอกาสอุดตันจากเนื้องอกหรือจากอุจจาระตันได้มากกว่า แต่เนื่องจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าและแรงบีบน้อยกว่า จึงไม่ค่อยมีอาการปวดบีบท้อง

2. ท้องด้านขวา

การปวดท้องบิดที่ตำแหน่งนี้ สิ่งที่พบบ่อยคือ ท่อน้ำดีอุดตัน จะมีอาการปวดที่รุนแรงประมาณ 15-20 นาที จากนั้นอาการปวดจะผ่อนลง แต่จะไม่ผ่อนจนหายสนิท อาจพบอาการปวดร้าวมาที่สะบักขวาได้ด้วย เพราะใช้เส้นประสาทรับความรู้สึกร่วมกันกับบริเวณนี้ (Referred pain) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีหลุดมาอุดตัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อีกระบบอวัยวะที่พบบ่อยคือ การอุดตันของท่อไต (Ureter) ท่อไตมีสองข้าง หากมีปัญหาด้านใดจะปวดด้านนั้น

ลักษณะการปวดจะปวดบีบรุนแรงเป็นพักเช่นกัน ตำแหน่งจะใกล้ส่วนเอวค่อนไปทางด้านหลัง อาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่ต้นขาด้านใน จนถึงปวดร้าวไปที่อวัยวะเพศได้

3. ท้องด้านซ้าย

หากปวดท้องบิดที่ท้องด้านซ้าย อาจมาจากการอุดตันท่อไตด้านซ้าย และพบการปวดบีบจากลำไส้ได้ (อาการปวดบีบจากลำไส้พบได้ทั้งซ้าย ขวา หรือกลางท้อง)

4. ท้องด้านล่าง

การปวดท้องบิดที่ท้องด้านล่าง อาจมาจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ลำไส้ตรง โดยมักจะมีอาการผิดปกติของการถ่ายอุจจาระร่วมด้วย เช่น ถ่ายอุจจาระไม่ออก ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน

อีกระบบอวัยวะที่พบได้ที่ตำแหน่งท้องด้านล่างคือ อวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรี โดยเฉพาะที่บริเวณท่อนำไข่ ที่จะมีอาการปวดบีบหรือปวดท้องบิดได้บ้าง

ส่วนระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างคือกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ พื้นที่มาก แรงบีบไม่มาก ทำให้ไม่ค่อยมีอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะอุดตันจากต่อมลูกหมากโต

ตัวอย่างอาการร่วมที่เกิดพร้อมการปวดบีบท้องหรือปวดท้องบิด

นอกเหนือจากตำแหน่งการปวดที่สามารถระบุอวัยวะที่เกิดโรคได้บ้างแล้ว อาการร่วมที่เกิดพร้อมกับการปวดจะช่วยแยกโรคและตำแหน่งการเกิดโรคได้เช่นกัน ดังนี้

1. ปวดท้องบิดร่วมกับถ่ายอุจจาระไม่ออก

อาการนี้แสดงว่ามีการอุดตันลำไส้ ทำให้มีอาการบีบไล่อุจจาระออกมา แต่ไม่สามารถออกได้ ตำแหน่งที่เกิดมักจะเป็นคือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เพราะอุจจาระมาก่อตัวเป็นก้อนที่ตำแหน่งนี้ หรือหากเป็นตำแหน่งก่อนหน้านี้ เช่น ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น หรือลำไส้เล็ก จะต้องอุดตันเกือบสมบูรณ์เพราะตำแหน่งนี้อุจจาระยังเหลวมาก และต้องอุดตันนานพอ

โรคที่พบได้บ่อยคือเนื้องอกลำไส้ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง อีกสาเหตุที่พบบ่อยคือการเกิดพังผืดรัดลำไส้ ทำให้อุดตัน

ทั้งสองภาวะนี้ควรได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัด

2. ปวดท้องบิดร่วมกับถ่ายเหลว

อาการนี้แสดงว่ามีการบีบตัวของลำไส้อย่างรุนแรง เพื่อขับสิ่งที่ร่างกายไม่พึงประสงค์ออกมา เช่น พิษจากอาหาร เชื้อโรคทึ่มากับอาหาร หรือการอักเสบรุนแรงในลำไส้

โรคที่พบบ่อยคือ ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัสโรต้า ไวรัสโนโร แบคทีเรียซัลโมเนลล่า แบคทีเรียอีโคไล หรือพิษจากอาหาร เช่น อาหารที่ตั้งไว้นานเกินไปจนเชื้อโรคในอาหารสร้างสารพิษต่อร่างกายขึ้นมา เช่น พิษจากเชื้อบาซิลัส พิษจากเชื้อคลอสตริเดียม

อีกสาเหตุที่พบได้คือการติดเชื้อปรสิต โดยเฉพาะพยาธิตัวกลมในลำไส้ แคปพิลาเรียฟิลิปปินเนนซิส (Capillaria philippinensis) ทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้

การรักษาโรคติดเชื้อควรให้ยาฆ่าเชื้อให้ถูกเชื้อ (จากประวัติหรือผลการเพาะเชื้อ) หากเกิดจากพิษให้ประคับประคอง ให้น้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ หลังจากนั้นร่างกายจะกำจัดพิษออกเอง

จะเห็นได้ว่า การปวดท้องมีหลายแบบ ต้องอาศัยทั้งการซักประวัติและตรวจอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นหากมีอาการปวดท้อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สมบัติ ตรีประเสริฐสุข, Abdominal pain (Manual of Medical Diagnosis), โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์; กรุงเทพ.
Danny o Jacobs, William Silen. Abdominal Pain in Harrison’s Principle of Internal Medicine 19th edition, USA.
Lynn S Bickley. Lippincort Williams & Wilkins, Chapter 11 the Abdomen in Bates’ pocket guide to physical examination and history taking 7th edition.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป