8 สัญญาณเตือนจากดวงตาที่บอกว่าร่างกายกำลังมีปัญหา

รู้หรือไม่ ว่าความผิดปกติของดวงตาก็ช่วยวินิจฉัยอาการป่วยได้
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
8 สัญญาณเตือนจากดวงตาที่บอกว่าร่างกายกำลังมีปัญหา

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ดวงตาเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญมากที่สุด เราทุกคนจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้หากไม่มีดวงตา นอกจากนี้ ดวงตายังเป็นอวัยวะที่สามารถส่งสัญญาณเตือนให้เราได้ว่าอวัยวะส่วนอื่นๆ กำลังมีความผิดปกติหรือไม่ หรือตัวเรากำลังจะเจ็บป่วยเป็นโรคบางอย่าง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา เพื่อที่จะได้รีบรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ได้ทันท่วงที หากดวงตาของคุณมีอาการต่อไปนี้ ให้คุณไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเบื้องต้นไว้ก่อน

1. ตาพร่าแบบฉับพลัน

การสูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างฉับพลันและรวดเร็ว อาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดไปยังดวงตาหรือสมอง หากรีบไปพบแพทย์ในทันที ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียหายที่รุนแรงและช่วยให้ดวงตายังทำงานอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาการตาพร่าแบบฉับพลันก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการปวดศีรษะแบบไมเกรนในระยะเริ่มต้นได้ด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

2. ตาโปน

การเป็นโรคเกรฟส์ หรือเรียกอีกชื่อว่า "โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ" หรือ "โรคคอพอก" (Graves) สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตาโปน (Exophthalmos) ได้ เพราะอาการตาโปน มีต้นเหตุมาจากการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องร่วง น้ำหนักลด และมือสั่น ทั้งนี้ การรับประทานยาหรือผ่าตัดจะสามารถช่วยควบคุมปริมาณของฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์ผลิตได้ แต่อาจไม่สามารถช่วยให้ดวงตากลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม

3. ตามัว

การมีดวงตาที่พร่ามัว (Blurred Vision) อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน โดยเกิดจากเลือดในร่างกายมีปริมาณน้ำตาลมากเกินไป และหากไม่ได้รับการควบคุมให้ดีและทันเวลา ผู้ป่วยก็อาจเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตา และพบว่าตนเองมีดวงตาที่เบลอ มองเห็นไม่ชัดในตอนกลางคืนได้ แต่ทั้งนี้ แพทย์สามารถใช้เลเซอร์เพื่อปิดเส้นเลือดที่รั่วซึมที่จอประสาทตาได้ และกำจัดเส้นเลือดใหม่ที่ไม่ต้องการออกไป การรักษาแบบนี้จะสามารถช่วยรักษาการมองเห็นตรงกลางไว้ได้ แต่อาจส่งผลต่อการมองด้านข้างของผู้ป่วย

4. มีวงแหวนรอบกระจกตา

การมีวงแหวนรอบกระจกตา (Corneal Arcus) เกิดจากไขมันสะสมที่รอบนอกมุมของกระจกตา โดยมีลักษณะเป็นเส้นสีขาวออกเทา ซึ่งหากผู้ป่วยมีอายุมากแล้ว อาการนี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติและไม่น่ากังวล แต่หากผู้ป่วยมีอายุต่ำกว่า 40 ปี อาการนี้อาจเป็นสัญญาณของการมีคอเลสเตอรอลสูงเกินไป

5. หนังตาตก

ภาวะหนังตาตก (Ptosis) อาจเป็นอาการข้างเคียงของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยจะส่งผลต่อดวงตา ใบหน้า และกล้ามเนื้อคอมากกว่าอวัยวะอื่นๆ และทำให้ผู้ป่วยเคี้ยวและกลืนอาหาร รวมถึงพูดได้ลำบากขึ้น สำหรับการรักษานั้นจะมีทั้งในรูปแบบของการรับประทานยา และในบางกรณี แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดต่อมไทมัส (Thymus Gland)

6. ตาเหลือง

หากผิวและดวงตาของผู้ป่วยเกิดเป็นสีเหลือง นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคดีซ่าน (Jaundice) ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติของตับ และจากที่ร่างกายมีปริมาณของสารบิลิรูบิน (Bilirubin) สูง ซึ่งในบางครั้งเมื่อตับเกิดการอักเสบหรือได้รับความเสียหาย ตับจะผลิตสารชนิดนี้ออกมามากขึ้น ทั้งนี้การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง อาหารเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสต่างๆ หรือการติดแอลกอฮอล์แบบเรื้อรัง ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายตับหมดทั้งสิ้น สำหรับวิธีรักษานั้น สามารถรักษาได้ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ไปจนถึงการให้ยา หรือการปลูกถ่ายตับ

7. ตากระตุก    

อาการตากระตุก (Blepharospasm) สามารถพบได้ทั่วไปและมักไม่ทำให้เกิดอันตราย อีกทั้งอาการดังกล่าวจะหายไปเองโดยไม่ต้องมีการรักษา แต่ทั้งนี้ อาการตากระตุกก็สามารถเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ ความอ่อนล้าของร่างกาย การรับคาเฟอีน หรือการสูบบุหรี่ได้ และในกรณีที่หายากมากก็คือ อาการตากระตุกสามารถเป็นสัญญาณเตือนถึงระบบประสาทที่เกิดปัญหาขึ้นได้ด้วย เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง แต่หากอาการตากระตุกเชื่อมโยงกับโรคนี้ หรือเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับระบบประสาท ผู้ป่วยก็จะมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น เดิน พูด หรือไปเข้าห้องน้ำได้ยากลำบาก

8. ตาบอดกลางคืน

หากผู้ป่วยมองเห็นบริเวณที่มีแสงน้อยได้ยากลำบาก ทางแก้อาจเป็นการไปตัดแว่นใหม่ หรือตรวจสุขภาพตาของตนเองอีกครั้ง และอาการที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากอีกสาเหตุคือ เป็นโรคต้อกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความชราภาพ นอกจากนี้ อาการตาบอดตอนกลางคืน (Night Blindness) ยังเกิดได้จากการได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอได้อีกด้วย ซึ่งวิธีรักษาก็คือ การรับประทานอาหารเสริม หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น มันหวาน ตับวัว ผักโขม แครอท ฟักทอง 

จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า ดวงตาของเราก็สามารถเกิดปัญหาได้ไม่ต่างจากอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นเราจึงไม่ควรชะล่าใจ และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาอยู่เสมอ หากคุณรู้ตัวว่ามีอาการตามที่เรากล่าวไป คุณก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า ความผิดปกติดังกล่าวมีสาเหตุมาจากอาการแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ หรือไม่


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)