8 โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ทุกครั้งที่สูบบุหรี่เท่ากับว่า คุณกำลังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ให้ร่างกายตนเองช้าๆ
เผยแพร่ครั้งแรก 4 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 26 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
8 โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่อาจเป็นหนึ่งในวิธีคลายเครียดของใครหลายคน แต่มีงานวิจัยสรุปแล้วว่า การสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคและการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เกิดขึ้นเรื้อรังเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย  ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 พบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากถึง 54,512 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาย 47,770 ราย และหญิง 6,742 ราย 

ไม่ว่าคุณจะสูบบุหรี่ปานกลาง หรือสูบมาก ความเสี่ยงในการเกิดโรคก็ไม่ต่างกันสักเท่าไร สำหรับบทความในวันนี้เราจะพาคุณไปดูว่า การสูบบุหรี่ทำให้คุณเสี่ยงเป็นโรคใดบ้าง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่

1.โรคหลอดลมอักเสบ

การสูบบุหรี่สามารถทำให้ทางเดินหายใจอักเสบและทำให้มีอาการไอเรื้อรัง จากการที่สารเคมีในบุหรี่ไปกระตุ้นให้หลอดลมตีบและอักเสบสามารถพบได้ในคนที่สูบบุหรี่หนัก ทั้งนี้โรคหลอดลมอักเสบเป็นโรคที่ทางเดินหายใจหลั่งเมือกออกมามากผิดปกติทำให้ร่างกายต้องไอเพื่อขับเมือกออกมา หากเป็นเรื้อรังอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ อย่างไรก็ตาม การเลิกสูบบุหรี่สามารถช่วยควบคุมอาการแต่ไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

2.โรคหอบหืด

โรคหอบหืดเป็นโรคที่ทางเดินหายใจตีบแคบและอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาด รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย อย่างไรก็ดี การสูบบุหรี่สามารถทำให้ทางเดินหายใจระคายเคืองซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการกระตุ้นโรคหอบหืดแบบฉับพลันและรุนแรงได้ ทั้งนี้ผู้หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องระมัดระวังการสูบบุหรี่เป็นพิเศษเพราะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การสูบบุหรี่ก่อนคลอดมีความเชื่อมโยงกับจำนวนครั้งของการมีอาการของโรคหอบหืดในแต่ละวันและตอนกลางคืนของแม่มากถึง 3 เท่า นอกจากนี้สามารถพบอาการดังกล่าวในเด็กได้ในภายหลัง เด็กบางคนยังเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหอบหืดอย่างรุนแรงจนเข้าห้องฉุกเฉินมากกว่าเด็กที่แม่ไม่สุบบุหรี่ก่อนคลอดถึง 4 เท่า

3.โรคหัวใจและหลอดเลือด

การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่ทำให้ปอดตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านั้นเพราะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การสูบบุหรี่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้เส้นเลือดแดงหลักๆ ตีบแคบ และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะอีกด้วย ทั้งนี้การสูบบุหรี่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นขณะหยุดพักและเพิ่มขึ้นเมื่อออกกำลังกาย แม้แต่ผู้ที่สูบบุหรี่น้อยก็ยังเสี่ยงต่อการมีหัวใจและหลอดเลือดเสียหาย การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจประมาณ 20% มีความเชื่อมโยงกับการสูบบุหรี่โดยตรง นอกจากนี้ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ขณะที่รับประทานยาคุมกำเนิดและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต่างมีความเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูงขึ้น

4.โรคมะเร็ง

การสูบบุหรี่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิดโดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งนี้ควันบุหรี่มีสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่า 7,000 ชนิด และควันบุหรี่เหล่านี้ก็สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ทุกที่ในร่างกาย ได้แก่ ช่องปาก ลำคอ หลอดอาหารกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง ตับ ตับอ่อน กล่องเสียง หลอดลม ไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ และมดลูก 

5.โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งกีดขวางไม่ให้เลือดไหลไปยังสมองทำให้เซลล์สมองตายเนื่องจากได้รับออกซิเจนน้อยลง อย่างไรก็ดี โรคหลอดเลือดสมองสามารถทำให้เกิดความพิการ เช่น อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง มีปัญหากับการพูด สูญเสียความจำ ฯลฯ รวมถึงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การสูบบุหรี่จะทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดีลดลง ทำให้เส้นเลือดเสียหาย และทำให้คราบพลัคในเส้นเลือดมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เลือดเหนียวและมีแนวโน้มเกาะตัวเป็นลิ่ม สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น

6.โรคโครห์น

มีงานวิจัยยืนยันว่า คนที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคโครห์นมากขึ้น 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้โครห์นเป็นโรคที่เกิดจากทางเดินอาหารฃอักเสบ เยื่อบุลำไส้ผู้ป่วยจะบวมทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ผู้ที่เป็นโรคโครห์นและสูบบุหรี่มักมีอาการกำเริบบ่อยกว่าปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่ต้องรับประทานยาและผ่าตัดซ้ำมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ทั้งนี้นักวิจัยคาดว่า ควันบุหรี่ทำให้เนื้อเยื่อเมือกที่มีหน้าที่ปกป้องระบบทางเดินอาหารเสียหาย ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น

7.แผลในกระเพาะอาหาร

การสูบบุหรี่จะทำให้ความเป็นกรดบริเวณ Duodenum ซึ่งเป็นส่วนแรกของลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น และทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ H.pylori ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ยิ่งไปกว่านั้น การสูบบุหรี่ยังไปขัดขวางการทำงานของทางเดินอาหารส่วนบน สิ่งที่จะตามมาก็คือ น้ำย่อยในลำไส้เล็กไหลจะย้อนกลับมาที่กระเพาะอาหาร และไปลดการผลิตสารตามธรรมชาติที่ปกป้องกระเพาะอาหารและลำไส้ สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเรื้อรังบริเวณลิ้นปี่ และหากเกิดแผลแล้วจะหายยาก ทำได้เพียงรักษาตามอาการ

8.โรคเบาหวาน

นักวิจัยพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 มากถึง 30-40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและสูบบุหรี่ยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหากับอินซูลินและการควบคุมโรคมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่สูบบุหรี่ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต เบาหวานขึ้นตา ปลายประสาทอักเสบ ฯลฯ ได้  อย่างไรก็ดี การเลิกสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายจะสามารถช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่ได้

แม้ว่าการสูบบุหรี่อาจช่วยคลายเครียด สร้างความสุขได้ชั่วคราว แต่มันกลับเป็นสาเหตุทางตรงและทางอ้อมของการเกิดโรค หรือปัญหาสุขภาพ ซึ่งสามารถส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคุณในอนาคตได้ แม้ว่าการเลิกสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่หากตั้งใจจริงและมีความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ที่จะเลิกบุหรี่ให้สำเร็จรับรองว่า สิ่งที่คุณจะได้รับกลับมาทันทีที่เลิกสูบบุหรี่จะคุ้มค่ามากทีเดียว


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
10 Deadly Diseases Caused By Smoking (https://www.curejoy.com/content/deadly-diseases-caused-by-smoking/), 15 March 2018
Danielle Dresden, How does smoking affect the body? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324644.php), 7 March 2019
Center of Disease Control and Prevention, Smoking & Tobacco Use (https://www.cdc.gov/tobacco/data_statistics/fact_sheets/health_effects/effects_cig_smoking/index.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป