7 โรคยอดฮิต ปัญหาสุขภาพ ที่มักพบในแอร์โฮสเตส

เผยแพร่ครั้งแรก 13 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
7 โรคยอดฮิต ปัญหาสุขภาพ ที่มักพบในแอร์โฮสเตส

ถึงแม้แอร์โฮสเตสจะเป็นอาชีพที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน เพราะเป็นงานที่ได้แต่งตัวสวยๆ แถมได้บินไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่เส้นทางของแอร์โฮสเตสอาจไม่ได้สวยงามไปซะทุกอย่าง เพราะนอกจากงานจะหนักแสนหนักแล้ว ยังต้องเสี่ยงต่อโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างอีกด้วย มาดูกันว่า โรคอะไรบ้างที่พบได้บ่อยในแอร์โฮสเตส และคนเป็นแอร์ควรต้องระวังเป็นพิเศษ

1. ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ

เนื่องจากแอร์โฮสเตสจะต้องเดินเยอะมากบนเครื่อง และลากของหนักๆ อย่างรถเข็นเป็นเวลานาน ทั้งยังต้องยกของหนักเป็นประจำ เช่น ช่วยยกกระเป๋าของผู้โดยสาร หรือยกอาหารเสิร์ฟ แถมที่พักที่นอนบนเครื่องก็อาจคับแคบไม่สะดวกสบายนัก ทำให้เหล่าแอร์มักประสบกับอาการปวดตามส่วนต่างๆ เช่น ขา แขน หลัง ไหล่ คอ ข้อมือ และข้อเข่า หากมีอาการปวดอย่างหนักหรือปวดเรื้อรัง ก็อาจถึงขั้นเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ หรือเอ็นอักเสบได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

2. หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สืบเนื่องจากการต้องยกของหนักอยู่เสมอ ทำให้แอร์โฮสเตสเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหลังอย่างมาก คล้ายกับการปวดหลังจากกล้ามเนื้ออักเสบ แต่การปวดจากหมอนรองกระดูก จะปวดหลังร้าวไปจนถึงสะโพก โดยเฉพาะเวลาเดิน ซึ่งบางครั้งถึงขั้นต้องรักษาโดยการผ่าตัดเลยทีเดียว

3. ปวดและวิงเวียนศีรษะ

อาการปวดหัว เวียนหัว รวมถึงอ่อนเพลียหน้ามืดที่พบบ่อยๆ ในแอร์โฮสเตสนั้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น เนื่องมาจาก jet lag หรือการเมาอากาศ จากการต้องเดินทางต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือการเดินทางข้ามทวีป ข้ามเขตเวลา ทำให้ต้องอดหลับอดนอน หรือนอนไม่เป็นเวลา ร่างกายปรับตัวไม่ได้ รวมถึงอาจเกิดจากการขาดออกซิเจน เพราะต้องเดินทางบนที่สูงนานๆ ด้วย ซึ่งอาการดังกล่าวก็กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันพอสมควรเลย

4. ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน

เนื่องจากแอร์โฮสเตสมักได้ทานอาหารไม่เป็นเวลา แถมจะทานแต่ละทีก็ต้องเร่งรีบ ทำให้เกิดภาวะอาหารไม่ย่อย ผลก็คืออาจทำให้แอร์ป่วยเป็นโรคกระเพาะ หรือมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้บ่อยๆ

5. โรคในระบบทางเดินหายใจ

แอร์โฮสเตสมักเสี่ยงต้องพบเจอกับเชื้อโรคที่ติดต่อทางการหายใจ เช่น ไวรัสหวัด เนื่องจากต้องเดินทางในห้องโดยสารร่วมกับผู้คนมากหน้าหลายตา รวมทั้งผู้โดยสารที่ป่วยด้วย ดังนั้น หากไม่รักษาสุขภาพให้แข็งแรงก็มีโอกาสติดโรคได้สูงทีเดียว

6. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ในเครื่องบินโดยสารอาจมีจำนวนห้องน้ำที่จำกัด และบางครั้งแอร์โฮสเตสจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้โดยสารด้วย ในกรณีที่ห้องน้ำถูกใช้จนเต็มอยู่ตลอดเวลา แอร์โฮสเตสอาจจะต้องกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เป็นเวลานาน ผลที่ตามมาคือการป่วยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั่นเอง

7. โรคมะเร็งผิวหนัง

ผู้ที่ทำงานบนเครื่องบินอย่างแอร์โฮสเตส มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการอยู่บนเครื่องบินเป็นประจำขณะทำงาน ทำให้ได้รับรังสี UV มากกว่าการอยู่บนพื้นดิน ซึ่งรังสี UV ก็เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งผิวหนัง แม้จะยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันเรื่องนี้อย่างแน่ชัดนักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแอร์โฮสเตสจะเป็นอาชีพอันตรายที่เราต้องกลัวขนาดนั้น และทุกอาชีพก็ล้วนมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ กันไป ดังนั้น ใครที่กำลังทำ หรือสนใจอยากทำอาชีพแอร์โฮสเตส ก็ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจพร้อมรับกับงานหนัก และเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจต้องเจอด้วย


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
World Health Organization. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/ith/mode_of_travel/travellers/en/)
Aircrew Safety and Health - Reproductive Health. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/niosh/topics/aircrew/reproductivehealth.html)
Health Effects Associated with Exposure to Airliner Cabin Air. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK219002/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป