5 เรื่องของคนตาบอด ที่หลายคนมักเข้าใจผิด

คนตาบอดมองไม่เห็นอะไรเลยจริงหรือ? แล้วคนตาบอดจะฝันได้ไหมถ้าไม่เคยเห็นภาพ? หาคำตอบเกี่ยวกับคนตาบอดในเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดได้ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
5 เรื่องของคนตาบอด ที่หลายคนมักเข้าใจผิด

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีผู้พิการทางสายตามากถึง 192,604 คน (กันยายน 2562) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของจำนวนผู้พิการทั้งหมด ทำให้สังคมตื่นตัวและพยายามทำความเข้าใจคนตาบอดมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดข้อมูลหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนตาบอด ประเด็นหลักๆ ที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนตาบอดมีดังต่อไปนี้

1. คนตาบอดมองไม่เห็นอะไรเลย

หลายคนเข้าใจว่า คนตาบอดหมายถึงคนที่ไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลยนอกจากสีดำ เหมือนกับเวลาคนปกติหลับตา ซึ่งไม่จริงเสมอไป เนื่องจากคนตาบอดสามารถแบ่งประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  1. ตาบอดสนิท คนตาบอดประเภทนี้จะไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้ เห็นเป็นสีดำเหมือนหลับตาอย่างที่หลายคนเข้าใจ อาจเรียกได้ว่าไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสายตาได้
  2. ตาบอดไม่สนิท คนตาบอดประเภทนี้สามารถมองเห็นแสง จำแนกสี หรือเห็นภาพเลือนลางได้บ้าง แต่ไม่ชัดเจนเหมือนกับคนปกติทั่วไป

2. บ้านคนตาบอดไม่จำเป็นต้องเปิดไฟ

คนที่ตาบอดสนิทอาจรับรู้ได้ยากว่าสถานที่ที่ตนเองอยู่นั้นปิดหรือเปิดไฟอยู่ แต่ในคนตาบอดแบบไม่สนิทนั้นสามารถรับรู้ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้พวกเขาอยู่ในสถานที่มืดตลอดเวลา หรือไม่มีแสงสว่างเพียงพอในเวลากลางวัน เพราะถึงพวกเขาจะมองไม่ค่อยเห็น เหมือนจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแสงไฟ แต่ที่จริงหากปิดไฟมืดตลอดเวลา คนตาบอดอาจประสบปัญหานอนไม่หลับได้

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากร่างกายมนุษย์มีฮอร์โมนที่ชื่อเมลาโทนิน (Melatonin) จะหลั่งออกมาขณะที่อยู่ในที่มืดหรือแสงสว่างน้อย (ปกติก็คือช่วงที่พระอาทิตย์ตกไปแล้ว หรือเวลากลางคืน) ช่วยให้รู้สึกง่วงนอนและหลับได้ง่าย หากปล่อยคนตาบอดเอาไว้ในสถานที่มืดตลอดเวลา การหลั่งฮอร์โมนนี้ก็จะผิดปกติ อาจทำให้เกิดภาวะรอบการตื่น-หลับผิดปกติ (Non-24-hour sleep-wake disorder) คือหลับไม่เป็นเวลา หลับยาก

3. ตาบอดสี คือไม่เห็นสีเลย

คนจำนวนมากเข้าใจว่า ตาบอดสีจะเห็นภาพทุกอย่างเป็นขาว ดำ เทา ไปทั้งหมด ซึ่งไม่จริงเสมอไป ที่ถูกต้องคือ ในคนปกติจะมีเซลล์รับสีหลักๆ 3 สี คือ แดง เขียว น้ำเงิน จากนั้นแปลผลส่งไปยังสมองจนเห็นเป็นสีต่างๆ ส่วนคนที่ตาบอดสีหมายถึงผู้มีอาการผิดปกติที่เซลล์รับแสงสี (Cone photo-receptor) ซึ่งอาจมีอาการผิดปกติที่เซลล์รับแสงสีบางสีเท่านั้น คนตาบอดสีจึงสามารถมองเห็นสีอื่นๆ ได้ใกล้เคียงกับปกติ เพียงแต่จะแยกระหว่างสีที่มีเซลล์รับแสงสีผิดปกติได้ยาก

อาการตาบอดสีเกิดขึ้นได้น้อย ในรายที่ตาบอดสีมาแต่กำเนิดมักมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ ส่วนบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อที่ดวงตา จนทำให้เห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม 

4. คนตาบอดจะหูดีกว่าคนทั่วไป

เรามักเห็นตามสื่อภาพยนตร์และละครว่า คนตาบอดจะมีประสาทสัมผัสด้านหูดีกว่าคนปกติ ซึ่งอาจไม่จริงทั้งหมด

ความจริงแล้วเนื่องจากคนตาบอดไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ จึงต้องใช้หูในการฟังเสียงมากเป็นพิเศษเพื่อรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ในขณะที่คนทั่วไปจะใช้สมองด้านหลังศีรษะประมวลภาพจากการมองเห็น แต่คนตาบอดไม่สามารถเห็นภาพได้ จึงใช้สมองส่วนนี้ในการจดจำเสียงต่างๆ แทนการประมวลภาพ เมื่อทำเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้คนตาบอดมีการจดจำเสียงได้ดีกว่าคนทั่วไป เช่น คนตาบอดสามารถจำเสียงบนแป้นโทรศัพท์ได้ว่าเลข 1,4,7 เป็นเสียงเดียวกัน แต่ไม่ได้มีหูดีกว่าคนทั่วไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ คนตาบอดบางคนยังสามารถใช้วิธีเดาะลิ้นเพื่อส่งเสียงกระทบกับวัตถุเพื่อกะระยะได้อีกด้วย (Echolocation) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ค้างคาวใช้ล่าเหยื่อในเวลากลางคืน

5. คนตาบอดไม่มีภาพฝัน

คนปกติเมื่อเกิดความฝันขณะนอนหลับ จะเห็นเป็นภาพใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยพบเจอมา เช่น สถานที่ ใบหน้าของคน รูปทรงต่างๆ หรือแม้แต่ฉากในภาพยนตร์ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า คนตาบอดไม่สามารถฝันได้ เนื่องจากไม่เคยเห็นภาพ จึงไม่มีข้อมูลให้เก็บไปฝัน

ความจริงแล้ว คนตาบอดสามารถฝันได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความฝันอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สูญเสียการมองเห็น แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ตาบอดสนิทมาตั้งแต่กำเนิด คนตาบอดกลุ่มนี้จะสามารถฝันเห็นเป็นเหตุการณ์สั้นๆ ได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่ไม่ได้เห็นเป็นภาพ จะมีเพียงเสียง สัมผัส กลิ่น และรสเท่านั้น ที่สามารถนำไปฝันได้
  2. ตาบอดภายหลังจากเคยเห็นภาพต่างๆ มาแล้ว คนตาบอดประเภทนี้จะสามารถฝันเป็นภาพได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เคยมีสายตาปกติ ว่ามีประสบการณ์กับภาพต่างๆ มากแค่ไหน เช่น ตาบอดช่วงอายุ 5-7 ปี อาจฝันเป็นภาพได้ แต่เลือนราง ไม่ชัดเจน

    หากตาบอดหลังจากอายุ 7 ปีเป็นต้นไป สามารถฝันเป็นภาพได้เหมือนคนตาปกติ

ตาบอดรักษาได้ไหม?

แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะก้าวหน้ามากขึ้น แต่หากสูญเสียการมองเห็นไปแล้ว ก็ยังคงไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ เช่น ถ้าตาบอดเพราะลูกตาฝ่อตั้งแต่กำเนิด อุบัติเหตุร้ายแรง จะไม่สามารถรักษาให้หาย

กรณีที่สูญเสียการมองเห็นเพียงบางส่วน การรักษาคือหยุดให้สูญเสียเพียงเท่านั้น ไม่ลุกลามเพิ่ม เช่น เป็นจอประสาทตาเสื่อม ลอก มีความผิดปกติของระยะสายตา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, โลกของคนตาบอด, (http://cfbt.or.th/kr/index.php/article/12-blind-world), 30 มิถุนายน 2560.
โรงพยาบาลรามาธิบดี, ตาบอดสี ความผิดปกติในการมองเห็น ที่ส่งผลโดยตรงกับชีวิตประจำวัน, (https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/ตาบอดสี-ความผิดปกติในกา/), 14 ธันวาคม 2560.
หมอชาวบ้าน, ตาบอด! รักษาให้หายได้หรือไม่, (https://doctor.or.th/clinic/detail/8449), 1 มกราคม 2549.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
10 อันตรายที่มักเกิดกับดวงตาและการปฐมพยาบาล
10 อันตรายที่มักเกิดกับดวงตาและการปฐมพยาบาล

ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญและมีความเปราะบาง รู้จักอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตาที่พบบ่อยเพื่อการป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้น

อ่านเพิ่ม
การห้ามเลือดและดูแลบาดแผล
การห้ามเลือดและดูแลบาดแผล

วิธีการปฐมพยาบาลบาดแผลและการห้ามเลือด

อ่านเพิ่ม