5 ปัญหาดวงตา สาเหตุโรคร้ายที่คุณไม่คาดคิด

เผยแพร่ครั้งแรก 14 ก.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
5 ปัญหาดวงตา สาเหตุโรคร้ายที่คุณไม่คาดคิด

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ปัญหาโรคร้ายเกี่ยวกับดวงตาสามารถเริ่มได้จากาอาการเพียงเล็กๆ แต่ความจริงแล้วภายในร่างกายอาจเกิดความผิดปกติต่างๆ มากมาย เช่น หนังตาตก หนังตาหย่อน อาจเกิดจากหลอดเลือดในสมองโป่งพอง หรือโรคมะเร็งยอดปอด
  • อาการตาแดง อาจไม่ใช่แค่อาการภูมิแพ้ทั่วไป แต่อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงฉีกขาดจากอุบัติเหตุ หรือหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดงในเยื่อหุ้มสมองทำงานผิดปกติ
  • การมองเห็นภาพที่ขอบตาแคบลง หรือเรียกว่า ลานสายตาแคบ อาจเกิดจากกลีบสมองถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยเดินชนขอบประตู ขอบโต๊ะได้ง่าย
  • ความผิดปกติของก้านสมอง คือ สาเหตุหลักที่ทำให้คุณเห็นภาพซ้อนเกิดขึ้น
  • อย่ามองข้ามสุขภาพดวงตาของคุณ เพราะมันอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้คุณเสียการมองเห็นได้ คุณควรไปตรวจสุขภาพตาบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อเช็กประสิทธิภาพการทำงานของดวงตา (ดูแพ็กเกจตรวจตาได้ที่นี่)

ปัญหาทางดวงตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว ตาเข ตาเอียง ตาแดงตากุ้งยิงต้อเนื้อ ต้อลมต้อกระจกอาจเป็นปัญหาที่หลายคนคุ้นเคย พบบ่อย และไม่ก่อให้เกิดอันตราย 

แต่เนื่องจากดวงตาเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้ชิดกับสมอง มีเส้นประสาท และหลอดเลือดเชื่อมต่อกับสมองโดยตรง ความผิดปกติทางตาจึงอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคทางสมองและระบบประสาท

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

บางโรคก็มีความร้ายแรงจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ต่อไปนี้เป็น 5 อาการทางดวงตาที่อยากให้คอยสังเกตตนเอง และบุคคลใกล้ชิด เพื่อเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้รู้เท่าทันโรคทางสมองดังนี้

1. อาการหนังตาตก (Ptosis)

อาการนี้สังเกตได้ไม่ยาก หากหนังตาตกจนปิดตาดำทั้งหมด แต่ถ้าอาการยังอยู่ในระยะไม่ร้ายแรง หรืออยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็อาจพบแค่หนังตาบนหย่อนเวลาลืมตา แล้วช่องว่างระหว่างเปลือกตาบนกับล่างแคบลง เมื่อเทียบกับตาข้างที่ปกติ

ยิ่งในคนผู้สูงอายุ หรือคนมีปัญหาหนังตาหย่อนอยู่เดิม จะดูออกยากว่า มีอาการหนังตาตก บางครั้งคนใกล้ตัวกลับเป็นผู้สังเกตเห็นก่อนเจ้าตัวด้วยซ้ำ ซึ่งหากต้องสังเกตอาการนี้จริง การกลอกตามองเพดานค้างไว้สักครู่ จะช่วยให้เห็นหนังตาตกชัดเจนขึ้น 

ไม่เพียงแค่นั้น หนังตาล่างหย่อนก็พบได้ในรูปแบบที่หนังตาล่างจะยกสูงขึ้นจนมาปิดขอบล่างของตาดำ ซึ่งตามปกติหนังตาล่างจะอยู่แตะกับขอบล่างของตาดำเท่านั้น 

และหากคุณมีอาการหนังตาตกร่วมกับไม่สามารถกลอกตาไปในทิศทางต่างๆได้ หรือเกิดการมองเห็นภาพซ้อน หรือเหงื่อออกที่ใบหน้า และลำตัวไม่เท่ากัน อาการเหล่านี้ก็จะยิ่งสนับสนุนว่า น่าจะมีรอยโรคในสมอง และระบบประสาทเกิดขึ้นแน่นอน โรคที่เป็นสาเหตุสำคัญ ได้แก่

1.1 โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง (Aneurysm)

โรคนี้มักพบในผู้ใหญ่ และผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว โดยสาเหตุที่โรคนี้เกี่ยวข้องกับความปิดปกติของตาก็เพราะเมื่อหลอดเลือดโป่งพองขึ้น ก็จะส่งผลทำให้มีการกดเส้นประสาทตาคู่ที่สาม จึงทำให้หนังตาตกร่วมกับกลอกตาผิดปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพองเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด้วน เพราะหากหลอดเลือดโป่งพองแตก จะทำให้เกิดเลือดออกในเยื้อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ซึ่งอันตรายมากอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

1.2 โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke)

ส่วนมากผู้ป่วยจะมาด้วยแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด กรณีการอุดตันเกิดขึ้นที่หลอดเลือดบริเวณก้านสมอง ก็จะทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมการกลอกตาขาดเลือด ส่งผลให้หนังตาตกได้ความสำคัญ คือ ก้านสมองเป็นจุดศูนย์รวมเส้นประสาท

หากก้านสมองขาดเลือดเลือดขยายเป็นวงกว้าง อาการจะรุนแรงขึ้นขั้นอ่อนแรงทั่วร่างกาย หมดสติไม่รู้สึกตัวและโคม่าในที่สุด การตรวจรักษาที่รวดเร็วสามารถช่วยผู้ป่วยให้ดีขึ้น หรือหายเป็นปกติได้ 

1.3 โรคมะเร็งของยอดปอด (Pancoast tumor)

โรคมะเร็งหลายชนิดถูกพบในระยะแพร่กระจายมาที่สมองก่อนจะตรวจเจออวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของมะเร็งเสียอีก เนื่องจากก้อนมะเร็งในสมองนั้นมักทำให้เกิดอาการเช่นปวดศีรษะอ่อนแรง หรือชัก 

แต่มะเร็งปอดชนิดนี้มีอาการที่แตกต่างออกไป คือ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการหนังตาบนตก หนังตาล่างยกขึ้นร่วมกับใบหน้า และลำตัวครึ่งซีกแห้งกว่าปกติ

สาเหตุที่ผู้ป่วยมีอาการหนังตาตกนั้น ไม่ใช่เพราะมะเร็งลุกลามไปยังสมองแล้ว แต่เกิดจากบริเวณส่วนบนสุดของปอดอยู่ใกล้กับระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อรอบดวงตาและต่อมเหงื่อ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ดังนั้นเมื่อมะเร็งลุกลามในจุดดังกล่าว จึงทำให้หนังตาตกเหงื่อบริเวณใบหน้า และลำตัวออกน้อยลงนั่นเอง

2. อาการตาแดง

หลายคนคงนึกถึงโรคเกี่ยวกับเยื่อบุตาขาวอักเสบ แต่อาการนี้สามารถเป็นอาการนำของโรคหลอดเลือดที่เชื่อมต่อกันอย่างผิดปกติ ระหว่างหลอดเลือดตาและ หลอดเลือดในสมองได้อีกด้วย ซึ่งหากพบร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ จะช่วยทำให้คิดถึงโรคทางสมองมากขึ้น เช่น

2.1 ตาแดงเกิดตามหลังศีรษะได้รับบาดเจ็บ (Direct CCF)

เช่น ประสบอุบัติเหตุ ศีรษะกระทบกระเทือน กระดูกใบหน้าร้าว หลังจากนั้น 4-6 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการตาแดงร่วมกับตาโปน นอกจากนี้อาจมีเสียงฟู่บริเวณหน้าผากหรือรอบๆ ตา ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดาอาการเหล่านี้ ก็เพราะว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ที่อยู่บริเวณฐานกะโหลกศีรษะฉีกขาด หรือได้รับบาดเจ็บระหว่างอุบัติเหตุ จนเกิดรูเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำบริเวณใกล้เคียง 

จากนั้นเลือดจากหลอดเลือดแดงซึ่งมีแรงดันสูงมากจะไหลไปยังหลอดเลือดดำของลูกตา ทำให้เส้นเลือดฝอยบนเยื่อบุตาขาวขยายตัวภาวะนี้หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วจะทำให้ความดันลูกตาสูงจนเป็นต้อหิน และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

อีกทั้ง บางครั้งหลอดเลือดแดงที่ได้รับบาดเจ็บอาจฉีกขาดเกิดหลอดเลือดโป่งพอง และแตก จะเกิดเลือดกำเดาไหลไม่หยุดจนเสียชีวิตได้

2.2 ตาแดง ร่วมกับปวดศีรษะ ชัก ความจำแย่ลง (Dural AVF)

ภาวะนี้เกิดจากหลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดงบริเวณเยื่อหุ้มสมองเชื่อมต่อกันอย่างผิดปกติ พบบ่อยในผู้ใหญ่ที่เคยมีประวัติผ่าตัดสมอง หรือหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน

อาการตาแดงอาจเป็นข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ ถ้าคลำบริเวณหนังศีรษะอาจพบหลอดเลือดเต้นตามจังหวะชีพจร เมื่อหลอดเลือดแดงเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำ ทำให้ได้ยินเสียงฟู่จากเลือดที่ไหลเร็ว และท้นไปยังลูกตาทำให้ตาแดง

นอกจากนี้ ปริมาณเลือดไหลเวียนเข้าสู่สมองที่เพิ่มขึ้นผิดปกติจะไปรบกวนการระบายเลือดดำออกจากสมอง และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น เลือดออกในสมองหากเป็นนานๆ ทำให้มีอาการชัก ความจำเสื่อม สมองฝ่อได้

2.3 หลอดเลือดบนบริเวณใบหน้าหรือรอบดวงตาปูดผิดปกติอาจไม่มีตาแดงร่วมด้วยก็ได้

หากคุณเห็นเส้นเลือดเขียวๆ ชัดเจนขึ้นบนศีรษะ นั่นแสดงว่า คุณมีการระบายของหลอดเลือดดำที่ผิดปกติ 

อาการนี้สามารถพบในโรคที่หลอดเลือดดำในสมองไม่เจริญ หรือมีหลอดเลือดดำ-แดงเชื่อมต่อกัน ทำให้สมองต้องหาทางระบายเลือดกลับหัวใจ เช่น ผ่านทางหลอดเลือดส่วนนอก จึงเห็นเส้นเลือดปูดขึ้น มักพบในเด็ก ทำพัฒนาการช้า ชัก ศีรษะโต 

เด็กที่มีอาการเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงที่จะหัวใจวายตั้งแต่แรกเกิดได้ และจะต้องต้องรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียเนื้อสมองอย่างถาวร

3. ลานสายตาแคบ

ลานสายตา คือ ความกว้างของภาพที่สามารถมองเห็นได้สมองซีกซ้ายขวาจะควบคุมลานสายตาสลับด้านกัน

เมื่อมีความผิดปกติของสมองส่วนควบคุมลานสายตา ที่เกิดจากกลีบสมองถูกทำลาย จะทำให้บริเวณการมองเห็นแคบลงมองเห็นภาพครึ่งเดียว ดังนั้นผู้ที่การควบคุมลานสายตาผิดปกติ เมื่อเดินผ่านคน สิ่งของ เช่น ขอบประตู ขอบโต๊ะ จึงชนกับด้านที่ลานสายตาผิดปกติ 

หรือหากผู้ป่วยขับรถ หรือข้ามถนน ก็จะมองไม่เห็นรถที่มาด้านข้าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ เวลาเขียนหนังสือ หรือวาดรูป คนกลุ่มนี้ก็จะวาดเขียนเอียงมาในด้านหนึ่งของหน้ากระดาษที่มองเห็น แต่หากอาการเป็นไม่มาก ผู้ป่วยจะไม่รู้เลยว่าตนเองผิดปกติ 

สาเหตุสำคัญของโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคเนื้องอกในสมอง

4. การมองเห็นหายไปชั่วคราว

อาการนี้เกิดจากเส้นประสาทตาสูญเสียการทำงาน หรือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาผิดปกติมักเป็นตาข้างเดียว 

โรคที่อาจเป็นสาเหตุทำให้การมองเห็นหายไปชั่วคราว มีดังต่อไปนี้

4.1 หลอดเลือดแดงใหญ่คาโรติดอุดตัน (Carotid stenosis)

โรคนี้เกิดจากการการสะสมของไขมันภายในผนังหลอดเลือด เมื่อก้อนไขมันถูกกระแทกโดยเลือดซึ่งมีความดันสูง ไขมันก็จะแตกออกบางส่วน และกลายเป็นลิ่มเลือดขนาดเล็กปลิวไปตามหลอดเลือดส่วนปลาย 

จากนั้น ลิ่มเลือดดังกล่าวก็จะไปอุดตันภายในหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงลูกตา ทำให้จอประสาทตาขาดเลือด ตาจึงบอด

หลังจากลิ่มเลือดเหล่านี้สลายตัว การมองเห็นจึงกลับมาเป็นปกติ อันตรายของภาวะนี้ คือ ก้อนไขมันที่แตกจะเหนี่ยวนำให้ร่างกายสร้างลิ่มเลือดมาพอกจนหลอดเลือดแดงใหญ่อุดตัน เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยที่มีโรคนี้จะมีแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ต่อมาเกิดภาวะสมองบวมทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ 

การตรวจวินิจฉัยโรคนี้พบก่อนที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ สามารถรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ร่วมการผ่าตัดเอาก้อนไขมันออก หรือใช้ขดลวดใส่ที่ตำแหน่งตีบเพื่อถ่างขยายก็ช่วยป้องกันไม่ให้สมองขาดเลือดในอนาคต

4.2 ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Intracranial hypertension)

ภายในกะโหลกศีรษะประกอบด้วยเนื้อสมอง เยื้อหุ้มสมองและน้ำเลี้ยงสมอง เมื่อมีการเพิ่มปริมาตรภายในสมอง ไม่ว่าจะเป็นจากสมองบวม ก้อนเนื้องอกก้อนเลือด การคั่งของน้ำหล่อเลี้ยงสมองจากเยื้อหุ้มสมองอักเสบ หลอดเลือดดำภายในสมองอุดตัน ก็จะทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น

จากนั้นความดันที่สูงมากๆ นี้จะทำให้เส้นประสาทตาเสื่อม ส่วนอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะ คือ มองไม่เห็นหลังการไอจาม หรือเบ่ง (Visualobscuration) ทันทีทันใด และเป็นอยู่ชั่วคราวเท่านั้น

4.3 เส้นประสาทตาอักเสบ (Optic neuropathy)

ภาวะนี้สัมพันธ์กับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง มักเกิดในผู้หญิงมากกว่า ส่วนมากจะมีอาการตามองไม่เห็นข้างเดียว อาจมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อน จากนั้นจะเริ่มเห็นสีภาพต่างๆ ผิดปกติ ตามมาด้วยตามองไม่เห็นมากขึ้น

ภาวะเส้นประสาทตาอักเสบจะมีตั้งแต่อาการเป็นเล็กน้อยเท่านั้น แล้วค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ ไปจนถึงสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร 

ซึ่งในกรณีแรก เมื่ออาการหายดีได้เอง จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่ได้ไปตรวจรักษาตัวโรคซึ่งอาจกลับเป็นซ้ำได้ อีกทั้งภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติไม่เพียงจะทำลายเส้นประสาทตาเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าไปทำลายเนื้อสมอง และไขสันหลังได้ให้อาการรุนแรงกว่าเดิม

5. เห็นภาพซ้อน

อาการเห็นภาพซ้อนที่เกิดจากสมองจะเกิดขึ้นเวลามองด้วยตา 2 ข้างพร้อมๆ กัน เมื่อปิดตาด้านหนึ่ง แล้วมองด้วยตาข้างเดียวภาพซ้อนจะหายไป หากยังคงเห็นภาพซ้อนอยู่ แสดงว่า มีความผิดปกติของลูกตา

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการกลอกตาถูกควบคุมด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 4 และ 6 เมื่อเส้นประสาททำงานผิดปกติส่งผลให้ตาทั้ง 2 ข้างกลอกไม่พร้อมกัน

ภาพซ้อนแม้จะเกิดขึ้นในบางระนาบเช่น แนวนอน แนวตั้ง หรือเมื่อมองใกล้มองไกลก็มีถือว่า ผิดปกติแล้ว โดยตำแหน่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติจะแบ่งออกได้เป็น

5.1 ความผิดปกติของก้านสมอง (ฺBrain stem)

เส้นประสาทควบคุมการกลอกตาทั้งหมดตั้งอยู่ในก้านสมองส่วนที่เรียกว่า "สมองส่วนกลาง (midbrain)" และ "พอนส์ (pons)" อีกทั้งในตำแหน่งดังกล่าวยังประกอบด้วยเส้นประสาทที่ควบคุมกำลังแขนขา และเส้นประสาทควบคุมใบหน้าอีกด้วยความผิดปกติขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดฝอยตีบ

จุดเลือดออก หรือก้อนเนื้องอกขนาดเล็กอาจทำให้ผู้ป่วยมีเพียงภาพซ้อนเป็นอาการเริ่มต้นโดยไม่มีอาการอ่อนแรงได้

5.2 ความผิดปกติภายนอกก้านสมอง

ภาวะนี้เกิดจากการเดินทางของเส้นประสาทจากก้านสมองไปยังลูกตาต้องผ่านเยื่อหุ้มสมอง (Meningeal) แอ่งหลอดเลือดดำรอบเส้นเลือดแดงใหญ่ (Cavernous sinus) และรูเปิดของกะโหลกศีรษะ (Superior orbital fissure) ตามลำดับ

จากนั้น เส้นประสาทจะผ่านเข้าไปยังกล้ามเนื้อรอบลูกตา เมื่อมีการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง แอ่งหลอดเลือดดำอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองบริเวณรูเปิดของกะโหลกศีรษะหนาตัวผิดปกติ ก็จะทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบไปด้วย จนทำให้เห็นภาพซ้อน 

หากภาวะนี้เป็นมาก อาจทำให้กลอกตาไม่ได้เลย การรักษาขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุซึ่งส่วนมากเป็นโรคที่มีความเร่งด่วน

เพียงแค่อาการหนังตาหย่อนเพียงเล็กน้อย การมองเห็นพร่าเบลอชั่วคราว หรือเกิดภาพซ้อนขึ้น คุณจะเห็นได้ว่า มันอาจเกิดได้จากโรคร้ายต่างๆ มากมายเกี่ยวกับดวงตาที่คุณไม่เคยรู้ ซึ่งเกินครึ่งของโรคที่กล่าวมาข้างต้นหากไม่รีบรักษา ก็จะเสี่ยงทำให้สูญเสียการมองเห็น 

ดังนั้นหากคุณสังเกตเห็นความผิดปกติของดวงตา ให้รีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และจะได้รีบหาทางรักษาโดยเร็ว 

ดูแพ็กเกตรวจตา เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Eye and Vision Health: Eye Anatomy, 11 Eye Conditions, and More. Healthline. (https://www.healthline.com/health/eye-health)
Glossary of Eye and Vision Conditions. American Optometric Association. (https://www.aoa.org/patients-and-public/eye-and-vision-problems/glossary-of-eye-and-vision-conditions)
Common Eye Disorders | Basics | VHI. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/visionhealth/basics/ced/index.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)