10 พืชผักสมุนไพร กินไว้...ช่วยป้องกันมะเร็ง

แนะนำ 10 พืชผักสมุนไพรป้องกันมะเร็ง และปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดต่างๆ รู้ไว้ก่อนป้องกันได้ถูก
เผยแพร่ครั้งแรก 17 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 24 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
10 พืชผักสมุนไพร กินไว้...ช่วยป้องกันมะเร็ง

ปัจจุบัน โรคมะเร็งเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลก หลายคนหาวิธีป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็ง โดยการเลือกรับประทานอาหารก็เป็นส่วนหนึ่ง Honestdocs มีแนวทางการดูแลสุขภาพให้ไกลจากมะเร็งด้วยการเลือกกินพืชผักสมุนไพร ดังนี้

10 สมุนไพรที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง

  1. กระเทียม สรรพคุณหลักของกระเทียมคือ บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยการนำสารสำคัญจากกระเทียม ได้แก่ อัลลิซาติน (Allisatin) และอัลลิซิน (Allicin) มาทำการทดลอง พบว่าสารทั้งสองชนิดไม่ได้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยตรง แต่ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายสร้างเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระแทน จึงมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ วิธีรับประทานกระเทียมให้ได้ประโยชน์ที่สุด แนะนำให้รับประทานเป็นกระเทียมสด โดยรับประทานวันละ 5-7 กลีบ รับประทานระหว่างมื้ออาหาร แต่ควรระวังอย่ารับประทานมากจนเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนในอกได้
  2. ขมิ้นชัน มีสรรพคุณหลักเช่นเดียวกับกระเทียม คือบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ ขมิ้นชันถูกมาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเซลล์มะเร็งหลายชนิด พบว่าสารสำคัญจากขมิ้นชันคือเซอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid) สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้เล็กได้ นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ยับยั้งหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเซลล์มะเร็งอีกด้วย วิธีรับประทาน แนะนำให้รับประทานเป็นอาหาร เนื่องจากขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงหลายชนิด เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา คั่วกลิ้ง เป็นต้น
  3. ฟ้าทะลายโจร มีสารสำคัญคือแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) มีสรรพคุณคือลดอาการเจ็บคอจากไข้หวัด และแก้ท้องเสียได้ และยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ สารนี้จะมีปริมาณสูงในส่วนดอก ดังนั้นจึงควรเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจรในช่วงที่ออกดอก (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) เพื่อให้ได้สารสำคัญสูง ฟ้าทะลายโจรสามารถรับประทานโดยเคี้ยวต้นสดได้เลย แต่ด้วยรสชาติที่ขมจัด อาจรับประทานในรูปแบบสมุนไพรอบแห้งแทนก็ได้ โดยบดเป็นผงแล้วผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นเม็ดยาลูกกลอน เพื่อให้รับประทานง่ายขึ้นก็ได้เช่นกัน
  4. ผลทับทิม เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ และอุดมด้วยวิตามินต่างๆ มีสารสำคัญคือกรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) ซึ่งเป็นกรดผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะดูดซึมสารนี้ผ่านทางลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือด จึงสามารถต้านอนุมูลอิสระและขับสารอนุมูลอิสระเหล่านั้นผ่านทางปัสสาวะได้ นอกจากประโยชน์ในด้านต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังช่วยลดระดับไขมันในเลือด จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย
  5. ผลองุ่น เป็นผลไม้ที่หารับประทานง่ายและมีคุณค่าทางอาหารสูง มีสารสำคัญคือเรสเวอราทรอล (Resveratrol) และสารเดลฟินิดีน (Delphinidin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีกากใยสูง จึงช่วยในการขับถ่ายอีกด้วย
  6. ตรีผลา เป็นตำรับที่พบในตำราแพทย์แผนไทย ประกอบไปด้วยสมุนไพร 3 ชนิด คือ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม สรรพคุณทางยาคือเป็นยาระบายอ่อนๆ และขับเสมหะ ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยโดยนำสมุนไพรตำรับนี้มาทดลองกับเซลล์มะเร็ง พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ได้ และมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น กรดกาลลิก (Gallic acid) กรดเชบูอิก (Chebulic acid) กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) Sennoside A) และกรดแทนนิก (Tannic acid) เป็นต้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ของตรีผลามากมาย สามารถหาซื้อได้ทั่วไปทั้งในรูปแบบยาชง น้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม หรือบรรจุในเม็ดแคปซูล
  7. หญ้างวงช้าง แพทย์อายุรเวทอินเดียใช้ใบในการรักษาไข้ ลมพิษ แผล การอักเสบเฉพาะที่ กลาก มีสารสำคัญคืออินดิซีน-เอ็น-ออกไซด์ (Indicine-N-oxide) ที่มีฤทธิยับยั้งเนื้องอก และยังมีการวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว พบว่ามีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น หญ้างวงช้างไม่นิยมรับประทานเป็นอาหาร มักรับประทานในรูปแบบยาต้มดื่มสำหรับผู้ที่มีอาการหวัด หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำก็ได้
  8. ลูกใต้ใบ หรือ หญ้าใต้ใบ มีการใช้แพร่หลายทั่วโลก ด้วยสรรพคุณหลักคือรักษาโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเกี่ยวกับน้ำดีและตับ นอกจากนี้ยังช่วยลดความร้อนในร่างกาย  และจัดเป็นสมุนไพรอีกตัวที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับหญ้างวงช้าง ปัจจุบันมีการผลิตขายในรูปแบบแคปซูลในร้านขายยาทั่วไป
  9. รางจืด หรือที่เรารู้จักกันในนามของสมุนไพรขับสารพิษ วิธีที่รับประทานทำได้ง่าย เพียงนำใบรางจืดสด 5-6 ใบมาต้มในน้ำเดือด ดื่มวันละ 3-5 แก้ว ก็สามารถช่วยขับของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในมลภาวะและมีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญคืออะพิเจนิน (Apigenin) ที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
  10. หญ้าดอกขาว เป็นสมุนไพรที่ช่วยลดความอยากบุหรี่ แม้หญ้าดอกขาวนั้นจะไม่ได้มีสรรพคุณช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งโดยตรง แต่การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่ แต่ยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ หญ้าดอกขาวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้ วิธีใช้คือ นำหญ้าดอกขาวทั้งต้นมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วต้มกับน้ำ ดื่มในรูปแบบยาชง เมื่อมีความอยากสูบบุหรี่ ให้ดื่มชาหญ้าดอกขาวแทน

อย่างไรก็ตาม การรับประทานพืชผักสมุนไพรป้องกันมะเร็งเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่วิธีที่จะป้องกันมะเร็งได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมะเร็งมีหลายชนิดซึ่งเกิดจากสาเหตุแตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งแต่ชนิดดังนี้ด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งในช่องปาก ลำคอ และหลอดอาหาร คือ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ร้อนจัด การรับประทานอาหารใส่สารกันบูด
  • ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร คือ อาหารเค็มจัด อาหารไขมันสูง อาหารประเภทรมควัน อาหารปิ้งย่าง อาหารที่ทอดจากน้ำมันเก่า อาหารที่มีกากใยน้อย การดื่มแอลกอฮอล์
  • ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งตับและตับอ่อน คือ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานตัวยาบางชนิดมากเกินไป การได้รับสารพิษต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในผักผลไม้ เป็นต้น การรับประทานอาหารดิบ หรือไม่สุก ซึ่งอาจมีพยาธิใบไม้ในตับได้
  • ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ การได้รับมลภาวะที่เป็นพิษ
  • ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ คือ อาหารที่ให้พลังงานสูง ไขมันสูง และการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ถึงแม้โรคมะเร็งบางชนิดจะสัมพันธ์กับโรคทางพันธุกรรม แต่เราก็สามารถดูแลปัจจัยด้านอื่นๆเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การดูแลสิ่งแวดล้อม การออกกำลังกาย และการมีสุขภาพจิตที่ดี


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์, วงศ์สถิต ฉั่วกุล และจุฑาธิป เขียววงษ์จันทร์. สมุนไพรและตำรับยาไทย การเลือกใช้ตามหลักวิชาการ, 2555.
รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ, สมุนไพรและเครื่องยาไทย ในยาสามัญประจำบ้าน, 2557.
รศ.ดร.อ้อมบุญ วัลลิสุต, การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง, 2556.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
สัญญาณเตือนแรกเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่คุณควรรู้
สัญญาณเตือนแรกเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่คุณควรรู้

คู่มือทำความเข้าใจโรคมะเร็งหลายชนิดและอาการของโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่ม