ทีมเภสัชกร HD
เขียนโดย
ทีมเภสัชกร HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ด

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ด
เผยแพร่ครั้งแรก 4 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 18 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ด

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pills) เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้รับประทานภายหลังมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน หรือคุมกำเนิดล้มเหลว เช่น ถุงยางอนามัยแตกหรือมีรอยรั่ว
  • ยาคุมฉุกเฉินจะตัวยาสำคัญคือ ลีโวนอร์เตสเตรล (Levonorgestrel) เพียงตัวเดียว โดยจะมีทั้งแบบ 2 เม็ด และแบบ 1 เม็ด
  • เพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงสุด ควรรับประทานยาภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
  • จากการศึกษา 10 ประเทศทั่วโลก พบว่า ไม่ว่าจะเป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด หรือแบบ 1 เม็ด ต่างก็มีประสิทธิภาพเหมือนกัน แนะนำให้รับประทานยาคุมกำเนิดแบบ 2 เม็ด พร้อมๆ กันเลย เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา
  • ยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงต่อร่างกายหลายอย่าง และอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดควบคู่กับถุงยางอนามัย จะช่วยป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pills) เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้รับประทานภายหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือลืมกิน ไม่เคยกิน หรือฉีดยาคุมมาก่อน หรือการคุมกำเนิดล้มเหลว เช่น ถุงยางอนามัยแตกหรือมีรอยรั่ว 

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงเอาไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานชนิดรายเดือน (Oral Contraceptive Pills) เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนสูงกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานชนิดรายเดือน จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก และอาจเกิดอันตรายร้ายแรงแก่ผู้ใช้ 

นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรายเดือน 

วิธีกินยาคุมฉุกเฉินที่ถูกต้องคือ กินในระยะเวลาที่กำหนด และใช้เพื่อจุดประสงค์ป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น ไม่สามารถยับยั้งการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือให้ชัดเจนขึ้นคือ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง

ปัจจุบันยาคุมที่มีจำหน่ายในบ้านเราเป็นชนิดที่มีตัวยาสำคัญคือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เพียงตัวเดียว ซึ่งมี 2 แบบ คือ 

  1. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบกล่องละ 2 เม็ด แต่ละเม็ดมีปริมาณลีโวนอร์เจสเตรล 0.75 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด
  2. ยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดเดียว มีปริมาณ levonorgestrel เม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด 

โดยจะเห็นได้ว่า ยาคุมฉุกเฉินทั้งสองแบบมีปริมาณตัวยาสำคัญรวมต่อกล่องเท่ากัน แต่ปริมาณยาที่รับประทานต่อครั้งแตกต่างกัน

วิธีกินยาคุมฉุกเฉินและประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ด

ข้อมูลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำไว้ว่า วิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบกล่องละ 2 เม็ด (มีปริมาณลีโวนอร์เจสเตรลเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม) ให้กินยา 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง โดยควรกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเม็ดแรกภายใน 120 ชั่วโมง (5 วัน) ภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ จึงจะมีประสิทธิภาพ 

เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยายังคงมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ ก่อนไข่ที่ผสมกับอสุจิเรียบร้อยแล้วจะเกิดการฝังตัวที่ผนังมดลูกได้สำเร็จ หากยิ่งกินยาเร็ว ก็จะยิ่งให้ผลป้องกันการตั้งครรภ์มากขึ้น ยิ่งกินภายใน 24 ชั่วโมงได้จะยิ่งมีประสิทธิภาพสูงสุด 

สำหรับยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดเดียว (มีปริมาณลีโวนอร์เจสเตรล เม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม) ก็ให้รับประทานยาภายใน 120 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน 

โดยพบว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงถึง 90% แต่ก็ยังมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ 1.2-2.1% โดยยี่ห้อของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มาจากผู้ผลิตต่างกัน อาจทำให้ค่านี้แตกต่างกันได้

ข้อที่ควรคำนึงถึงสำหรับวิธีกินยาคุมฉุกเฉิน คือ การกินยาคุมแบบเม็ดเดียว จะให้ปริมาณยาในเลือดสูงกว่าการกินยาคุมแบบ 2 เม็ด จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก โดยทำการศึกษาจาก 10 ประเทศทั่วโลกพบว่า ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของยาคุมทั้งแบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ด ไม่แตกต่างกัน 

ดังนั้นการเลือกวิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดเดียวจึงสะดวกกว่า เพราะถ้าเป็นยาคุมกำเนิด 2 เม็ด ผู้ใช้มักมีปัญหาลืมกินยาเม็ดที่ 2 ภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังการกินยาเม็ดแรก ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบเลือกชนิดเม็ดเดียวนั้น ปริมาณยาต่อเม็ดจะสูงกว่า จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกที่ช่องคลอดผิดปกติ ประจำเดือนมาผิดปกติ

ดังนั้น ผู้ใช้จึงต้องสังเกตดูว่ารับประทานยาแล้วเกิดอาการอย่างไร มากน้อยเพียงใด หากไม่เกิด หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์น้อย ก็อาจพิจารณาใช้วิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบกินชนิดเม็ดเดียว 

หรือใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดกล่องละ 2 เม็ด แต่ใช้วิธีกินยาคุมฉุกเฉินนั้นสองเม็ดพร้อมกันในครั้งเดียวเลย ซึ่งมีความสะดวกมากกว่า และช่วยลดความเสี่ยงจากการลืมกินยาได้อีกด้วย

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในท้องตลาด

ปัจจุบันยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในประเทศไทยมีหลายยี่ห้อ ส่วนใหญ่เป็นชนิด 2 เม็ด มีเพียงยี่ห้อเดียวที่เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด 1 เม็ด เนื่องจากออกจำหน่ายภายหลังมีการศึกษาเพื่อยืนยันเรื่องประสิทธิภาพของการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดเม็ดเดียวว่า วิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบนี้ก็ใช้ได้ผลเหมือนกัน

ข้อควรระวังในของวิธีกินยาคุมฉุกเฉิน

  • หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง หลังกินยาคุมฉุกเฉิน ต้องรับประทานยาใหม่ซ้ำอีกครั้ง
  • ภายใน 1 เดือน ห้ามรับประทานยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 กล่อง เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย เลือดออกผิดปกติ หรือท้องนอกมดลูกได้
  • ห้ามใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนการใช้ยาคุมชนิดรายเดือน เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่า นอกจากนี้ยาคุมฉุกเฉินยังมีปริมาณยาที่รับประทานต่อครั้งสูงกว่ามาก หากรับประทานยาซ้ำหลายครั้งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่ร้ายแรงตามมา
  • ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง ไม่อาจยับยั้งการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้วได้
  • ไม่ควรกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่ากับกินยาคุมหลังการมีเพศสัมพันธ์ทันที โดยพบว่าวิธีกินยาคุมฉุกเฉินแบบนี้จะมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ถึง 5%

ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินจริงๆ ไม่ควรใช้แทนยาคุมกำเนิด เพราะผลข้างเคียงจากการใช้ยาค่อนข้างรุนแรง และอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นยาคุมฉุกเฉิน หรือยาคุมกำเนิดก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยควบคู่กับยาคุมกำเนิด เพื่อความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ 

ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป