กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

Sinusitis (ไซนัสอักเสบหรือโพรงจมูกอักเสบ)

เผยแพร่ครั้งแรก 18 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที

ไซนัสอักเสบคืออะไร 

ไซนัสอักเสบ หรือภาวะโพรงจมูกอักเสบ (Sinusitis) เป็นการอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก หรือเรียกอีกชื่อว่า "ไซนัส" (Paranasal Sinuses) 

สาเหตุของไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสดังต่อไปนี้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • เชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนซ่า (Heamophilus influenza) 
  • เชื้อแบคทีเรียเสต็ปโทโคคัส นิสโมเนีย (Streptococcus Pneumonia)
  • เชื้อแบคทีเรียมอราเซลลา (Morasella catarrhaalis)
  • เชื้อแบคทีเรียแอนแอโรบ (Anaerobes)
  • เชื้อไวโนไวรัส (Rhinovinus)
  • เชื้ออะดีโนไวรัส (Adenovirus)

เชื้อที่กล่าวมาข้างต้น มักจะเกิดตามหลังโรคไข้หวัดซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดการอักเสบเฉียบพลันและเกิดเป็นเชื้อรา 3 ชนิด ได้แก่ 

  • เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส ไนเจอร์ (Aspergillus niger) 
  • เชื้อรามิวคอร์ (Mucor) 
  • เชื้อราแคนดิดา (Candida) 

เชื้อราทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้น มักพบในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ โดยเชื้อจะเข้าสู่เยื่อบุจมูกผ่านช่องทางต่อไปนี้ 

  • ผ่านรูเปิดเข้าสู่เยื่อบุจมูก
  • ผ่านทางรากฟันที่ยาวเข้าสู่เยื่อบุจมูกที่โหนกแก้ม (Maxillary sinuses) ซึ่งพบในผู้ป่วยรายที่รากฟันอักเสบเป็นหนอง 
  • จากการถอนฟันกรามบน 
  • การใส่ท่อช่วยหายใจ 
  • การใส่สายอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร 
  • เป็นต่อมทอนชิลและต่อมอดรีนอย (Adenoid) โต 
  • ผนังจมูกเบี้ยว 
  • มีเนื้องอกในจมูก 
  • เพดานโหว่ 
  • เป็นผู้ที่ว่ายน้ำบ่อยๆ 
  • โรคหลอดลมโป่งพอง 
  • โรคหอบหืด

พยาธิสภาพของไซนัสอักเสบ

พยาธิสภาพ หรือความผิดปกติของร่างกายเมื่อเกิดไซนัสอักเสบ จะเกิดจากมีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสเข้าสู่เยื่อบุจมูก และทำให้รูเปิดระหว่างเยื่อบุจมูกและจมูกเกิดการอุดตันขึ้น หรือมีปริมาณน้ำเมือกเพิ่มมากขึ้นและเหนียวขึ้น โดยกระบวนการพยาธิสภาพจะเริ่มตั้งแต่ 

  • มีการติดเชื้อจากจมูกเข้าสู่เยื่อบุจมูก ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อโรคจะผ่านเข้าทางรูเปิด หรือเกิดจากสิ่งสกปรกเข้าจมูก เช่น 
    • จากการว่ายน้ำหรือดำน้ำที่สกปรก 
    • เชื้อโรคเข้าทางเยื่อบุจมูกที่โหนกแก้ม โดยผ่านทางรากฟันที่มีการอับเสบเป็นหนอง 
    • การถอนฟัน 
    • ผู้ป่วยที่ใส่สายยางให้อาหารผ่านทางจมูก 
    • เกิดความไม่สมดุลภายในโพรงอากาศซึ่งทำให้แบคทีเรียที่มีอยู่เจริญเติบโตและแข็งแรงขึ้น 
  • การอักเสบและติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นในเยื่อบุจมูก จะส่งผลให้เยื่อบุจมูกเกิดอาการบวม รูเปิดเกิดการอุดตัน และจะสร้างน้ำเมือกออกมามากขึ้น แต่จะค้างอยู่ข้างใน ไม่สามารถระบายออกได้ 
  • เมื่อน้ำเมือกเกิดการสะสมมากๆ จะทำให้ออกซิเจนในโพรงเยื่อบุจมูกถูกดูดซึม และเกิดความดันลบขึ้น 
  • เมื่อของเหลวค้างอยู่ด้านในโพรงจมูกเป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด และอยู่ในสภาวะที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย 
  • เมื่อจำนวนแบคทีเรียมีเพิ่มมากขึ้น ก็จะไปยับยั้งการทำงานของส่วนเซลล์ซีเลีย (Cilia) ซึ่งทำหน้าที่คอยโบกสะบัดให้สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเคลื่อนที่ได้ รวมทั้งช่วยกำจัดฝุ่นละอองและเมือก นอกจากนี้ แบคทีเรียยังจะไปยับยั้งการทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคของเม็ดเลือดขาวด้วย 
  • จากผลกระทบของแบคทีเรียที่ไปโจมตีระบบร่างกายของผู้ป่วย น้ำมูกของผู้ป่วยจะกลายเป็นหนอง และทำให้เกิดการหายใจที่ติดขัดขึ้น รวมถึงทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมา

อาการของผู้ป่วยไซนัสอักเสบ

  • ปวดศีรษะและปวดบริเวณเยื่อบุจมูกมาก 
  • มีอาการคัดจมูก 
  • มีไข้สูง 
  • รู้สึกกดเจ็บที่หน้าบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก หรือบริเวณเยื่อบุจมูกที่อักเสบ 
  • หน้าบวมบริเวณเยื่อบุจมูกที่อักเสบ และบวมรอบตา เยื่อจมูกบวมแดง 
  • มีน้ำมูก หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว รวมทั้งมีน้ำมูกไหลลงไปในคอ 
  • การรับรู้กลิ่นน้อยลงหรือไม่ได้กลิ่นเลย 
  • หายใจทางจมูกได้ลำบาก 
  • หากอาการไซนัสอักเสบเกิดจากเชื้อรา จะพบก้อนเชื้อราสีดำ เขียว หรือเป็นเนื้อตาย 
  • หายใจมีกลิ่นเหม็น 
  • อ่อนเพลีย 
  • ปวดฟัน 
  • หูอื้อ

การวินิจฉัยโรค 

แพทย์จะวินิจฉัยอาการไซนัสอักเสบด้วยอาการต่อไปนี้

  • เป็นหวัดมามากกว่า 7-10 วัน และมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคหวัดธรรมดา
  • มีอาการปวดบริเวณเยื่อบุจมูกที่มีการอักเสบ 
  • น้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนองสีเขียวข้น 
  • ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก 
  • การรับรู้กลิ่นต่างๆ ลดลง 
  • ปวดฟัน 
  • มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย 
  • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น 
  • น้ำมูกไหลลงคอแทนการออกทางจมูก โดยเฉพาะเวลาล้มตัวลงนอน 
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดตาร่วมด้วย และมักจะปวดมากในเวลากลางวัน 
  • ตรวจพบเยื่อจมูกบวม และแดง 
  • ตรวจหลังโพรงจมูกแล้วพบหนอง 
  • เมื่อกดหรือเคาะบริเวณเยื่อบุจมูกที่มีการอักเสบจะรู้สึกเจ็บมาก 
  • เจาะเลือดตรวจแล้วพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูง 
  • ตรวจเพาะเชื้อจากน้ำ หรือหนองที่เจาะจากเยื่อบุจมูก แล้วพบเชื้อแบคทีเรียประมาณ 80% 
  • ถ่ายภาพรังสีเยื่อบุจมูกแล้วพบว่ามีสีทึบ หรือเห็นระดับน้ำในเยื่อบุจมูกที่มีการอักเสบ

การรักษา 

การรักษาไซนัสอักเสบ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำหรือหนองออกจากเยื่อบุจมูก รวมทั้งควบคุมการอักเสบ และลดอาการปวด โดยแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยประมาณ 3 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้ป่วยไซนัสชนิดเรื้อรัง ก็อาจมีการจ่ายยาเพิ่มมากกว่า 3 สัปดาห์เพื่อฆ่าเชื้อโรคให้หมด เช่น 

  • อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
  • อะม็อกซีซิลลิน คลาวูลาเนท (Amoxicillin clavulanate)
  • เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • ยาหดหลอดเลือด (Decongestant)
  • ยาสเตียรอยด์ (Steroid)
  • ยาต้านฮิสทามีน (Antihistamine) 

นอกจากนี้ ยังมีรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น 

  • เจาะล้างเยื่อบุจมูก (Antral irrigation) ซึ่งเป็นการล้างเอาหนองออกเพื่อบรรเทาอาการปวด หรือเพื่อเอาหนองมาตรวจวินิจฉัย 
  • ทำรูเปิดอย่างถาวร (Antrostomy) เพื่อให้หนองไหลออกจากเยื่อบุจมูกที่โหนกแก้ม 
  • ผ่าตัดเปิดรูผ่านเหงือกใต้ริมฝีปากบนเข้าสู่เยื่อบุจมูกที่โหนกแก้มข้างที่มีการอักเสบให้กว้างพอ (Caldwell-Luc operation) เป็นการผ่าตัดเพื่อตรวจดูสภาพของเยื่อบุจมูก 
  • ผ่าตัดโดยใส่กล้องผ่านทางช่องจมูกเข้าสู่เยื่อบุจมูก (Functional Endoscopic Sinus Surgery: FESS) เพื่อเอาสิ่งคัดหลั่งและเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกมา 
  • ผ่าตัดเหนือกระดูกเอทมอยด์ (Ethmoidectomy) สำหรับผู้ป่วยรายที่มีอาการปวดศีรษะมาก เนื่องจากมีการอักเสบของโพรงจมูกเอทมอยด์ที่ข้างตา (Ethmoid sinuses) 

การพยาบาลผู้ป่วยไซนัสอักเสบ

จุดประสงค์หลักในการดูแลผู้ป่วยไซนัสอักเสบก็คือ การป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีการหายใจที่คล่องขึ้น สามารถระบายหนองที่อยู่ในเยื่อบุจมูกให้น้อยลงได้ และลดอาการปวดอักเสบต่างๆ ให้ทุเลาลง โดยมีวิธีการดูแลดังต่อไปนี้

  • ดูแลให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก และลดอาการปวดโดยจัดให้นอนศีรษะสูง
  • ให้ยาลดบวม และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ 
  • หากผู้ป่วยมีวัสดุห้ามเลือดในโพรงจมูก (Nasal packing) ในกรณีเพิ่งรักษาผ่านการผ่าตัดมา ให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทน 
  • ให้ผู้ป่วยบ้วนปาก และกลั้วคอบ่อยๆ 
  • ห้ามผู้ป่วยสั่งน้ำมูกแรงๆ ห้ามกลั้นหายใจหรือออกแรงเบ่ง
  • ให้ผู้ป่วยประคบจมูกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้หนองระบายออกได้ดีขึ้น แต่หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด ให้ประคบด้วยความเย็นบริเวณจมูกและหน้าผากแทน 
  • ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดอาการอักเสบ 
  • ดูแลให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงจากควันบุหรี่ ควันธูป ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม สารระเหยต่างๆ ที่ทำให้ระคายเคืองจมูก เช่น สีทินเนอร์ น้ำมันเบนซิน กาว 
  • แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากคนรอบข้าง โดยอย่าอยู่ในที่แออัด อย่าว่ายน้ำในสระน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งที่แพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสุนัข ขนแมว แมลงสาป เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้า เป็นต้น

วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 

การล้างจมูก เป็นการทำความสะอาดเยื่อบุโพรงจมูกเพื่อขับน้ำหนอง น้ำมูก และสิ่งสกปรกต่างๆ ในโพรงจมูกให้ออกไป และยังเป็นการเพิ่มความชื้นให้กับเยื่อบุจมูกอีกด้วย ซึ่งหลังจากล้างจมูกแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจโล่งขึ้น เนื่องจากการล้างจมูกจะช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ลดจำนวนเชื้อโรค สิ่งระคายเคืองต่างๆ และยังช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคที่อาจส่งไปถึงปอดได้ โดยขั้นตอนการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ สามารถทำได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนดังนี้ 

  1. เตรียมน้ำเกลือชนิดธรรมดา (Normal saline) ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ที่ 0.9% หรือผสมน้ำเกลือขึ้นเองโดยใช้น้ำสะอาดที่ต้มสุกในปริมาณ 500 มิลลิลิตร กับเกลือสะอาด 1 ช้อนชา
  2. เทน้ำเกลือลงในแก้วสะอาด
  3. ดูดน้ำเกลือโดยใช้หลอดฉีดยาขนาด 10 มิลลิลิตร หรือลูกยาง
  4. ให้ผู้ป่วยก้มหน้า กลั้นหายใจ แล้วค่อยๆ พ่นน้ำเกลือเข้าไปในจมูกอย่างช้าๆ ทำทีละข้าง จะมีน้ำมูกไหลออกมา และจะช่วยล้างเอาฝุ่นกับสิ่งสกปรกอื่นๆ ออกมาด้วย
  5. ทำซ้ำจนน้ำมูกหมด โดยทำวันละ 2-3 ครั้ง แล้วแต่ปริมาณของน้ำมูก หรือตามคำแนะนำของแพทย์

12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sinusitis: Symptoms, causes, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/149941)
Sinusitis (sinus infection). NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/sinusitis-sinus-infection/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
เยื่อจมูกอักเสบมีโอกาสเป็นไซนัสหรือเปล่าค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
อาการไซนัสเริ่มแรกเป็นแบบไหนค่ะวิธีรักษาให้หายขาดมีไหมค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
เป็นไซนัสบ่อยๆ อันตรายมั๊ยคะ มีวิธีป้องกันยังไงบ้าง
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ไอตลอดเวลาปวดหัวบ้างเป็นไรไหม
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
หายใจไม่โล่งควรทำอย่างไร
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)