พิชญา สิทธิโชควงกมล
เขียนโดย
พิชญา สิทธิโชควงกมล

ท้องผูก! ไม่ใช่เรื่องปกติ ระวังเสี่ยงมะเร็งลำไส้

แนะนำ 3 เคล็ดลับ ขับถ่ายคล่อง แค่ปรับพฤติกรรม และเสริมด้วยพรีไบโอติกส์
เผยแพร่ครั้งแรก 10 ม.ค. 2022 อัปเดตล่าสุด 10 ม.ค. 2022 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ท้องผูก! ไม่ใช่เรื่องปกติ ระวังเสี่ยงมะเร็งลำไส้

รู้ไหม? กว่า 24% ของคนไทย หรือกว่า 16.8 ล้านคน กำลังประสบปัญหาท้องผูก! แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง จึงปล่อยไว้จนเรื้อรัง โดยไม่รู้ว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า ดังนั้นใครที่กำลังมีอาการท้องผูก อย่าละเลย แต่ต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อบรรเทาอาการ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ วันนี้ HD.co.th จึงมี 3 เคล็ดลับ ช่วยให้ขับถ่ายคล่องมาแนะนำ

ท้องผูก ขับถ่ายยาก เพราะอะไร?

ก่อนจะทราบวิธีแก้ ต้องรู้ว่าต้นเหตุที่ทำให้ท้องผูกมาจากอะไรเสียก่อน จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด

จากสถิติกว่า 50% ของผู้ที่มีปัญหาท้องผูก มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย กลั้นอุจจาระบ่อยๆ ที่สำคัญคือ การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อย

ใยอาหาร แม้จะไม่ใช่สารอาหารที่ให้พลังงานหรือคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย แต่สำคัญต่อลำไส้และระบบขับถ่ายอย่างมาก โดยจะเข้าไปรวมตัวกับของเสียชนิดอื่นๆ และช่วยให้ของเสียเหล่านั้นเคลื่อนตัวไปตามลำไส้ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยอุ้มน้ำ ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ส่งผลให้ขับถ่ายคล่องขึ้นด้วย

นอกจากนี้อีกสาเหตุที่ทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา เป็นเพราะจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล โดยปกติในลำไส้ของคนจะมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่นานาชนิด มีทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโทษ โดยจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์นั้น มีชื่อว่า โปรไบโอติกส์ (Probiotics) ทำหน้าที่ผลิตสารต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี และช่วยสร้างเอนไซม์เพื่อกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร

ดังนั้นถ้าลำไส้มีโปรไบโอติกส์น้อย ขณะที่จุลินทรีย์ชนิดไม่ดีมีมาก ก็จะทำให้ระบบขับถ่ายแปรปรวนได้ โดยอาหารหลักของจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์คือ ใยอาหารชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ถ้าร่างกายได้รับพรีไบโอติกส์เพียงพอ โปรไบโอติกส์ ก็เจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง กลับกัน ถ้าร่างกายได้รับพรีไบโอติกส์น้อย โปรไบโอติกส์ก็จะอ่อนแอ กระทบต่อการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่ายนั่นเอง

ท้องผูกเรื้อรัง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

การที่ระบบขับถ่ายมีปัญหา ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงแค่โรคมะเร็งลำไส้เท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ อีกมากมาย เช่น

  • ริดสีดวงทวาร: เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวมพอง หากร้ายแรงอาจต้องผ่าตัด
  • แผลที่ทวารหนัก: เกิดจากอุจจาระที่แข็งมาก จนบาดเนื้อเยื้อและเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก
  • ความดันในทรวงอกสูง: เกิดจากการออกแรงเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • ลำไส้อุดตัน: พบในผู้ที่ท้องผูกเรื้อรัง จะรู้สึกปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไม่ผายลม และไม่ถ่ายอุจจาระ ร้ายแรงอาจต้องตัดลำไส้ส่วนที่อุดตันออก

ฉะนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงป่วยเรื้อรัง ร้ายแรง ทางแก้ที่ง่ายที่สุดคือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หันมารับประทานให้เหมาะสมจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

3 เคล็ดลับ ช่วยแก้ปัญหาท้องผูก ขับถ่ายคล่อง

วิธีการง่ายๆ ที่ช่วยหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก หรือบรรเทาอาการให้น้อยลง มีดังนี้

1. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

เริ่มจากการดื่มน้ำให้เพียงพอที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ลิตร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาโดยช่วงเวลาขับถ่ายที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงเช้า เวลา 05.00 - 07.00 น. แต่ถ้าไม่สะดวก ก็สามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้ แต่ควรอยู่ในช่วงเวลาเดิมทุกๆ วัน

2. เพิ่มประมาณการรับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น

โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีปัญหาท้องผูกมักมีสาเหตุมาจากรับประทานใยอาหารไม่เพียงพอ โดยปกติร่างกายควรได้รับใยอาหารประมาณ 25 กรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับการรับประทานผักและผลไม้ประมาณ 400 กรัม โดยผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูง เช่น ถั่ว ธัญพืช แครอท บล็อกโคลี ผักโขม ฝรั่ง กล้วย มะละกอ เป็นต้น

เติมใยอาหาร เสริมความแข็งแรงของลำไส้ด้วย พรีไบโอติกส์

พรีไบโอติกส์ เป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ โดยพรีไบโอติกส์ยังแบ่งชนิดย่อยๆ อีกมากมาย เช่น อินูลิน (Inulin) และโพลีเด็กซ์โตรส (Polydextrose) ซึ่งพรีไบโอติกส์ 2 ชนิดนี้ นอกจากจะเป็นอาหารหลักของจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์ และช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่

  • ดูดซับน้ำได้ดี ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น
  • ช่วยเพิ่มปริมาณกากอาหาร กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุแคลเซียมในลำไส้
  • รักษาสมดุลระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในเลือด
  • ยับยั้งการเพิ่มประมาณของระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

ทั้งนี้พรีไบโอติกส์จะพบมากใน กระเทียม หัวหอม อ้อย กล้วย ข้าวโอ๊ต หน่อไม้ฝรั่ง แอปเปิล ฯลฯ ซึ่งพบได้ในมื้ออาหารทั่วไป แต่คนส่วนใหญ่มักรับประทานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้

ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพรีไบโอติกส์หลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบเม็ด หรือรูปแบบผงที่ไม่มีรสชาติ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น นำไปผสมกับเครื่องดื่มร้อนเย็น หรืออาหารได้โดยไม่สงผลกระทบต่อรสชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดในการรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้

ถ้ามีอาการท้องผูกอย่ามองข้าม เพราะอาจส่งผลกระทบร้ายแรงตามมามากมาย โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลของระบบขับถ่ายที่ดีในระยะยาว แต่หากมีข้อจำกัดด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยได้คือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพรีไบโอติกส์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา แต่ก่อนจะเลือกผลิตภัณฑ์ใดๆ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ผลิตภัณฑ์นั้นต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน มีงานวิจัยรองรับ และมีความน่าเชื่อถือ เพื่อระบบขับถ่ายที่แข็งแรงของเรา


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Thai meiji-wellness, รู้หรือไม่ว่า “พรีไบโอติกส์” มีบทบาทความสำคัญต่อระบบขับถ่ายของเรา (https://www.thaimeiji-wellness.com/all-articles/พรีไบโอติกส์) 2 ธันวาคม 2564
เมจิ Meji, เมไฟเบอร์ MeiFiber (https://www.meifiber.com/dietary-supplement/prebiotic-meifiber/) 29 มกราคม 2564.
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, ปัญหาท้องผูก ต้องแก้ให้ถูกวิธี(https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/constipation-treatment ) 9 พฤษภาคม 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)